เผชิญหน้ากาลเวลาแห่งวรรณกรรมและศิลปะ กับการถ่ายทอดเรื่องราวอันตราตรึง ใจของบุคคลในอดีตกาล
เนื้อเรื่อง‧เฉินฉวินฟัง ภาพ‧จวงคุนหรู แปล‧มณฑิรา ไชยวุฒิ
เมษายน 2017

林之助,一生致力膠彩畫發展,被譽為「台灣膠彩畫之父」;吳濁流,創辦《台灣文藝》雜誌與吳濁流文學獎,至今仍鼓勵後起之秀;蕭如松,台灣近代水彩畫家,培育無數學子走上藝術之路。走訪故居,感受名家生活、創作、教學點滴。
คุณหลินจือจู้ (林之助) ผู้อุทิศตนทั้งชีวิตให้แก่การวาดภาพสไตล์แบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า Nihonga จนได้รับฉายว่า ìบิดาแห่งภาพเขียน Nihonga ของไต้หวันî คุณอู๋จั๋วหลิว (吳濁流) ผู้ก่อตั้งนิตยสาร ìวรรณกรรมไต้หวันî และรางวัลวรรณกรรมอู๋จั๋วหลิว ที่ในทุกวันนี้ ถือเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญให้แก่ศิลปินรุ่นหลัง คุณเซียวหรูซง (蕭如松) จิตรกรผู้เป็นต้นแบบของภาพวาดสีน้ำยุคใหม่ของไต้หวัน บ่มเพาะลูกศิษย์นับไม่ถ้วนสู่ถนนสายศิลปะ การมาเยือนบ้านพักเก่าของเหล่าศิลปินอาวุโสเหล่านี้จะทำให้ได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตของบุคคลที่มีชื่อเสียงในด้านต่างๆ ทั้งการสร้างสรรค์ผลงาน และการเรียนการสอนในแบบต่างๆ
ไทจง อนุสรณ์สถานจิตรกรหลินจือจู้
สตูดิโอรั้วไม้ไผ่ ฐานรากแห่งสุนทรียศาสตร์
ท้องฟ้าอันสดใสกับใต้ร่มไม้สีเขียว สิ่งก่อสร้างคล้ายกับบ้านไม้สไตล์ญี่ปุ่น เมื่อเดินเข้าไปภายในบ้าน ความวุ่นวายภายนอกทั้งหมดจะถูกตัดขาดคล้ายกับเป็นโอเอซิสของเมือง อนุสรณ์สถานจิตรกรหลินจือจู้ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหลิ่วชวน นครไทจง (柳川溪畔) แต่เดิมเป็นหอพักของวิทยาลัยครูนครไทจง (ปัจจุบันคือ National Taichung University of Education) คุณหลินจือจู้ใช้เวลา 30 กว่าปีที่นี่เพื่อสอนศิลปะและสร้างสรรค์จิตรกรรมภาพเขียน
คุณหลินจือจู้เกิดในตระกูลที่มีฐานะของนครไทจง เมื่ออายุได้ 12 ปีก็เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อที่ Tokyo University of the Arts ขณะที่อายุได้ 24 ปี ผลงานชื่อ "เจาเหลียง" (朝涼 : Bathing in the Morning) ก็ได้รับเลือกให้ไปจัดแสดงในนิทรรศการ Japanís Imperial Art Exhibition ตลอดชีวิตของเขามีผลงานจิตรกรรมที่ได้รับรางวัลทั้งในญี่ปุ่นและไต้หวันมากมายนับไม่ถ้วน เขามีความเชี่ยวชาญในด้านการวาดภาพ Nihonga หรือหลายคนรู้จักในแบบภาพเขียนญี่ปุ่นสไตล์ tōyōga ที่ผ่านมาเคยถูกขนานนามว่าเป็นภาพเขียนแบบญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเหตุผลทางการเมืองทำให้ถูกฝ่ายจัดงานนิทรรศการศิลปะแห่งมณฑลไต้หวันตัดชื่อออก หลินจือจู้จึงต้องใช้เวลาไม่น้อย กว่าที่จะสามารถอาศัยภาพ Nihonga ในการกู้ชื่อเสียงของเขากลับคืนมา และเป็นการช่วยต่อชีวิตให้ภาพเขียน Nihonga สามารถคงอยู่ในโลกแห่งศิลปะของไต้หวันไว้ จนทำให้ท่านได้รับการขนานนามว่า ìบิดาแห่งภาพเขียน Nihonga ของไต้หวันî
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณหลินจือจู้เดินทางกลับมายังไต้หวัน รับตำแหน่งเป็นอาจารย์สอนอยู่ในวิทยาลัยครูนครไทจง และย้ายมาอาศัยอยู่ในหอพักซึ่งตั้งอยูู่่ในเขตขอวิทยาลัย ท่านจึงเริ่มต้นการใช้ชีวิตอยู่ริมแม่น้ำหลิ่วชวน คุณหวงเว่ยเจิ้ง (黃位政) ผู้อำนวยการอนุสรณ์สถานจิตรกรหลินจือจู้กล่าวว่า การฟื้นฟูบ้านพักเก่าหลังนี้ได้มีการศึกษาถึงรายละเอียดของสถาปัตยกรรมและความหมายทางวัฒนธรรมอย่างรอบคอบ เพื่อรักษารูปแบบเดิมๆ ให้คงอยู่เท่าที่จะสามารถทำได้ และยังมีการนำเอาสัญลักษณ์การออกแบบต่างๆ มาผสมผสานรวมกัน ตัวอย่างเช่น ภาพวาดตรงประตูของอนุสรณ์สถานจิตรกรหลินจือจู้ ก็ได้ต้นแบบมาจากภาพเดิมบนเพดานที่เคยออกแบบไว้
ห้องวาดภาพของหลินจือจู้ถือเป็นไฮไลท์หลักของอนุสรณ์สถานแห่งนี้ กำแพงด้านหนึ่งมีขวดสีต่างๆ วางอยู่เต็มไปหมด คล้ายกับขวดยาของพ่อมดแม่มดในนิทาน บนโต๊ะทำงานยังคงมีรูปภาพ ปากกา และหม้อต้มสีกาววางอยู่ ภาพวาดที่แขวนอยู่ด้านข้างซึ่งเป็นภาพที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ คือภาพสุดท้ายที่ท่านวาดก่อนจะเสียชีวิต
ในอนุสรณ์สถานมักจะมีการจัดอภิปรายสัมมนาในเรื่องที่เกี่ยวกับศิลปะแขนงต่างๆ อยู่เรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น การถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของหลินจือจู้ผ่านบทเพลงและดนตรีสไตล์พาสโทรอล (pastoral music) หรือการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับวรรณกรรมในนครไทจง เป็นต้น ซึ่งก็หวังว่าพื้นที่อันเต็มไปด้วยความงดงามทางศิลปะของคุณหลินจือจู้จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้ประชาชนได้เข้าถึงและพูดคุยเกี่ยวกับงานศิลปวัฒนธรรมได้
ซินจู๋ บ้านพักเก่าของอู๋จั๋วหลิว นักวรรณกรรมชื่อดัง
ร่วมแรงร่วมใจเพื่อส่งเสริมให้วงการวรรณกรรมเจริญก้าวหน้า
บ้านพักเก่าของคุณอู๋จั๋วหลิว หรือที่รู้จักกันในชื่อ ìจื้อเต๋อถังî ตั้งอยู่ในตำบลซินผู่ เมืองซินจู๋และเป็นบ้านเก่าแก่ของตระกูลอู๋มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เมื่อครั้งอพยพมาตั้งรกรากที่ไต้หวัน และสืบทอดกันมาจนถึงคุณอู๋จั๋วหลิวซึ่งเป็นรุ่นที่ 5 แล้ว บ้านโบราณหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ.1840 ในอดีตมีการเปลี่ยนแปลงและบูรณะซ่อมแซม เพราะความเสียหายจากสงครามหลายต่อหลายครั้ง ปัจจุบันผู้ดูแลคือทายาทตระกูลอู๋รุ่นที่ 7 คุณอู๋ไจ้เหยา (吳載堯) โดยคุณอู๋จั๋วหลิวมีศักดิ์เป็นปู่ของเขา ซึ่งกองวัฒนธรรมเมืองซินจู๋ ได้ให้ความช่วยเหลือในการบูรณะซ่อมแซม และเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าชมเมื่อปีค.ศ.2011
อู๋จั๋วหลิวอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ตั้งแต่เด็ก ในสมัยนั้นเขาอาศัยอยู่ในห้องเล็กๆ ตรงฝั่งซ้ายของบ้านกับคุณปู่ อู๋ฟังซิ่น (吳芳信) ซึ่งเป็นนักเขียนโครงกลอนแบบจีน คุณอู๋ไจ้เหยาย้อนนึกถึงสมัยที่เขาต้องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย มีครั้งหนึ่งระหว่างทางนั่งรถเมล์กลับบ้าน ขณะนั้นรถกำลังแล่นผ่านสะพานซินผู่ ความเงียบชั่วเวลาหนึ่งกับผู้คนที่เบียดเสียดอยู่เต็มรถ ทันใดนั้นเขาก็เหมือนได้ยินเสียงคนร่ายกลอนดังขึ้น ที่แท้คุณปู่อู๋จั๋วหลิวนั่งอยู่ในรถคันเดียวกับเขานั่นเอง และระหว่างทางก็ได้พร่ำพรรณนาบทกลอนชื่อ "ข้ามสะพานซินผู่" (過新埔橋) เพื่อบรรยายถึงความรู้สึกปิติยินดีที่ได้กลับบ้านเกิด
อู๋จั๋วหลิวเคยเป็นครูสอนหนังสือในหลายโรงเรียนของเมืองซินจู๋และเหมียวลี่ และในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เคยเดินทางไปเป็นนักข่าวที่นครนานกิงในจีนแผ่นดินใหญ่ หลังผ่านยุคที่ญี่ปุ่นยึดครองไต้หวัน กระทั่งไต้หวันได้รับการกอบกู้คืนจากญี่ปุ่น และเหตุการณ์โศกนาฏกรรมวันที่ 28 ก.พ. หรือที่เรียกย่อว่าเหตุการณ์ 228 ทำให้อู๋จั๋วหลิวสร้างสรรค์ผลงานการเขียนและนวนิยายมากมายที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงของสังคมในหลายๆ ด้าน อาทิ น้ำแห่งพระจันทร์ (水月), เด็กกำพร้าแห่งเอเชีย (亞細亞的孤兒), ลูกมะเดื่อ (無花果) และไต้หวันเหลี่ยงเคี้ยว (台灣連翹) เป็นต้น ซึ่งบ่งบอกถึงความรู้สึกที่ล่องลอยขาดรากฐานและไร้ที่พักพิงของคนไต้หวันที่เกิดในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี
นิตยสาร "วรรณกรรมไต้หวัน" จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อปีค.ศ.1964 และบ่มเพาะนักเขียนที่มีชื่อเสียงหลายคนอาทิ จงเจ้าเจิ้ง (鍾肇政), ชีเติ่งเซิง (七等生) และหวงชุนหมิง (黃春明) ในปีค.ศ.1969 เขาใช้เงินบำเหน็จบำนาญก่อตั้งรางวัล Wu Zhuo≠liu Prize สำหรับผลงานวรรณกรรม และยังคงให้การสนับสนุนนักเขียนรุ่นใหม่ของไต้หวันมาจนถึงทุกวันนี้ ในปีค.ศ.1976 เขามีความตั้งใจที่จะทำให้บ้านเก่าหลังนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมผลงานวรรณกรรม ซึ่งจนถึงวันนี้คุณอู๋ไจ้เหยายังจำภาพที่เต็มไปด้วยความสุขเมื่อครั้งคุณอู๋จั๋วหลิวพูดถึงแผนการที่วาดฝันไว้ได้เป็นอย่างดี แต่ในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน คุณอู๋จั๋วหลิวก็จากไปด้วยอาการเจ็บป่วยกะทันหัน เหลือทิ้งไว้เพียงบ้านเก่าๆ กับชั้นหนังสือที่ว่างเปล่า
อาจจะเป็นเพราะสายเลือดวรรณกรรมที่มีอยู่ในตัว ทำให้อู๋ไจ้เหยาในวัย 78 ปี หันมาจัดการดูแลบ้านเก่าหลังนี้ด้วยตัวของเขาเองโดยไม่รับค่าตอบแทน อู๋ไจ้เหยากล่าวว่า เขายินดีต้อนรับผู้คนจากทั่วสารทิศ จัดกิจกรรมที่นี่เพื่อให้ผู้คนรู้จักนักวรรณกรรมผู้ทุ่มเทตลอดชีวิตเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาวงการวรรณกรรมของไต้หวันให้เจริญรุ่งเรือง นามว่า อู๋จั๋วหลิว มากขึ้น
ซินจู๋ อุทยานศิลปะของจิตรกรเซียวหรูซง
ผู้ปลุกดวงอาทิตย์ให้ตื่นจากการหลับใหล
ตำบลจู๋ตง เมืองซินจู๋ เป็นที่ตั้งของอุทยานศิลปะเซียวหรูซง กินพื้นที่ 600 ผิง (1 ผิงเท่ากับ 3.3 ตารางเมตร) มีเรือนสไตล์ญี่ปุ่นจำนวน 5 หลัง ประกอบด้วยกู้ซงจวี (故松居), ซงฮว่าหลู (松畫廬), ซงเหอหลู (松和廬), ซงเซียงหลู (松香廬) และซง
เหยียนถัง (松言堂) โดยกู้ซงจวีเป็นเรือนพักอาศัยของคุณเซียวหรูซง (蕭如松) ต้นแบบงานจิตรกรรมสีน้ำยุคใหม่ที่มีความสำคัญต่อไต้หวัน
ท่านย้ายมาพำนักตั้งแต่ปีค.ศ.1946 จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อปีค.ศ.1992 เรียกได้ว่ากว่าครึ่งชีวิตของเซียวหรูซงอาศัยอยู่ที่นี่มาโดยตลอด ภายในกู้ซงจวียังคงรักษาสภาพเดิมในสมัยที่คุณเซียวหรูซงยังอาศัยอยู่เอาไว้ มีเฟอร์นิเจอร์ที่เรียบง่าย ส่วนโต๊ะทำงานมีสีเทียนแท่งสั้นๆ ที่สั้นจนไม่รู้จะสั้นยังไงได้อีก ซึ่งทำให้ผู้คนสัมผัสได้ว่า ท่านช่างใช้ชีวิตได้สมถะเรียบง่ายจริงๆ
คุณเซียวหรูซง เป็นครูสอนหนังสือในซินจู๋นานกว่า 40 ปี ท่านอุทิศทั้งชีวิตให้แก่วิชาศิลปศึกษาและการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ทุกวันท่านจะตื่นนอนเวลาตี 5 และเดินไปบนถนนสายเดิมๆ เพื่อสอนหนังสือที่โรงเรียนในเวลา 7 โมงตรง จนถูกเรียกว่า "ผู้ปลุกดวงอาทิตย์ให้ตื่นจากการหลับใหล" การเรียนการสอนทุกอย่าง ตั้งแต่การทำความสะอาดห้องเรียนไปจนถึงการจัดวางพู่กันกับกระดาษวาดภาพบนโต๊ะเรียน และการวางสีต่างๆ ล้วนต้องเป็นตามกฎที่เซียวหรูซงกำหนดไว้ คุณจางเจ๋อผิง (張澤平) ซึ่งปัจจุบันเป็นครูสอนศิลปะอยู่ที่โรงเรียนมัธยมปลายจู๋ตง และเป็นลูกศิษย์ของคุณเซียวหรูซงกล่าวว่า คุณครูเซียวไม่เพียงให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการวาดภาพ แต่ยังสอนถึงทัศนคติในการดำรงชีวิตอีกด้วย
นอกจากจะเป็นคุณครูที่มีความเคร่งครัดแล้ว เซียวหรูซงยังเป็นเหมือนพ่อพระที่มีความรักให้แก่เด็กและนักเรียน เนื่องจากเด็กๆ หลายคนไม่กล้าไปเข้าห้องน้ำสาธารณะในเวลากลางคืน เซียวหรูซงจึงสร้างห้องน้ำเล็กๆ ไว้ข้างบ้านด้วยตัวของเขาเอง เพื่อให้เด็กๆ ได้ใช้ ภายในบ้านยังมีลูกอมหลายห่อที่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น แม้ชีวิตของท่านจะไม่ได้ร่ำรวย แต่ท่านก็ยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อขนมแพงๆ เหล่านี้ เพื่อนำมามอบเป็นรางวัลให้แก่นักเรียน
ด้านข้างของกู้ซงจวี คืออาคารซงฮวาหลู ซึ่งภายในมีนิทรรศการที่จัดแสดงผลงานการวาดภาพเลียนแบบของคุณเซียวหรูซง เซียวหรูซงผู้ไม่เคยไปศึกษาต่อในต่างประเทศ แต่ใช้ความพยายามฝึกฝนอย่างหนักด้วยตนเอง บวกกับการวาดภาพตามต้นแบบที่มาจากฝั่งตะวันตกอยู่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังประดิษฐ์คิดค้นการเขียนตัวอักษรพู่กันจีนและลายเส้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้การควบคุมน้ำหนักมือกับการลงลายเส้นมีความซับซ้อนละเอียดอ่อน ซึ่งหลอมรวมเอาวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตกเข้ามาไว้ด้วยกันได้อย่างมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ด้วยเทคนิคในการวาดภาพที่ดูแล้วเหมือนมองผ่านกระจก การใช้แสงและสีดังใจนึก รวมถึงการวาดรูปทรงเรขาคณิตเป็น มาใช้ในการวาดฉากที่เสมือนจริง ทำให้ผลงานของเซียวหรูซงแฝงไว้ด้วยความรู้สึกในแบบร่วมสมัย
นอกเหนือจากการจัดแสดงนิทรรศการชีวประวัติและผลงานของเซียวหรูซงแล้ว ภายในอาคารซงเหอหลูยังจัดแสดงผลงานที่มีชื่อเสียงของเหล่าศิลปินในไต้หวันหลายคน อาคารซงเหยียนถังก็มีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะแขนงต่างๆ เป็นครั้งคราว มีสตูดิโอวาดภาพสำหรับครอบครัว มีห้องเล่านิทาน มีห้องเรียนร้องเพลงภาษาฮากกา และการย้อมครามแบบ DIY เป็นต้น ซึ่งในอนาคตมีการวางแผนที่จะเชิญเขียนนักเขียนมาร่วมถ่ายทอดบทกวี จัดกิจกรรมวัฒนธรรมท้องถิ่น และสรรค์สร้างให้สวนศิลปะเซียวหรูซงแห่งนี้อุดมไปด้วยความงดงามของศิลปะ วรรณกรรม และดนตรี