ชาวไต้หวันรุ่นใหม่ ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และแรงงาน ข้ามชาติจากเอเชียอาคเนย์
เนื้อเรื่อง‧หลิวอิงฟง ภาพ‧หลินหมินเซวียน แปล‧กาญจน์ญาณ์ กฤษณ์ชญาคมน์
มิถุนายน 2017

為了打破台灣大眾對於新住民的理解與想像,三月起由國立台灣歷史博物館和南洋姐妹會、燦爛時光,所策劃的「新台客:東南亞移民移工在台灣」特展,集結柬埔寨、印尼、泰國、越南、菲律賓等國移民移工的生命故事,要以「個人生命史與大歷史的對話」,讓大家看有血有肉的「新台客」。
เพื่อที่จะทลายกำแพงแห่งความเข้าใจและจินตนาการความเชื่อผิดๆ ของชาวไต้หวันที่มีต่อผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติไต้หวัน (National Museum of Taiwan History 國立台灣歷史博物館) ร่วมกับสมาคมพี่น้องชาวเอเชีย ไต้หวัน (TransAsia Sisters Association, Taiwan : TASAT 南洋姐妹會), ร้านหนังสือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชั่นลั่นสือกวง (燦爛時光) จัดนิทรรศการพิเศษในหัวข้อ “ชาวไต้หวันรุ่นใหม่ : ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และแรงงานข้ามชาติจากเอเชียอาคเนย์” โดยรวบรวมเรื่องราวชีวิตของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และแรงงานข้ามชาติจากกัมพูชา, อินโดนีเซีย, ไทย, เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ด้วย “บทสนทนาเรื่องชีวประวัติส่วนบุคคลและประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่” ให้ทุกคนได้เห็นชาวไต้หวันรุ่นใหม่ที่มีชีวิตและจิตใจเหล่านี้
การจัดแสดงแบ่งเป็นสามหัวข้อหลัก โดยนิทรรศการพิเศษในหัวข้อ ชาวไต้หวันรุ่นใหม่ : ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และแรงงานข้ามชาติจากเอเชียอาคเนย์ มุ่งเน้นไปที่ประวัติศาสตร์ของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และแรงงานข้ามชาติในช่วงเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา โดยใช้สิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน วีดิทัศน์ เสียง และผลงานสร้างสรรค์ นำพาผู้ชมจากมุมมองที่แตกต่างเพื่อให้เกิดความเข้าใจในวัฒนธรรมและคุณค่าของกลุ่มชนต่างๆ ที่มีอยู่ในไต้หวัน
เชื่อมโยงกับเอเชียอาคเนย์ ย้อนยุค 50 ปี
หนึ่งในโซนจัดแสดงนิทรรศการหัวข้อ สงครามเย็น, ต่อต้านคอมมิวนิสต์, กีดกันคนจีน : ผู้ตั้งถิ่นฐานเอเชียอาคเนย์ในช่วงครึ่งศตวรรษที่แล้ว จะทำให้ไต้หวันได้รับรู้ถึงลำดับเวลาของการอพยพย้ายถิ่นฐาน โดยย้อนไปช่วง 30-40 ปีก่อน ทำให้ประชาชนได้รู้ว่า ที่แท้ความเชื่อมโยงระหว่างไต้หวันกับเอเชีย เริ่มมาตั้งแต่ยุคปีค.ศ.1960, 1970 แล้ว
คุณโจวอี๋อิ่ง (周宜穎) ผู้ช่วยวิจัยกลุ่มงานจัดแสดงนิทรรศการพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติไต้หวัน ซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบวางแผนจัดโครงการนี้กล่าวว่า ก่อนการจัดงานนิทรรศการพิเศษครั้งนี้ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติไต้หวันเคยจัดนิทรรศการหัวข้อเกี่ยวกับผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่มาก่อน แต่ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่แต่งงานมาไต้หวันหรือแรงงานข้ามชาติที่มาทำงานในไต้หวันในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม หลังจากยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงช่วงปีค.ศ.1960 การได้รับอิทธิพลจากสถานการณ์โลกทั้งการต่อต้านคอมมิวนิสต์และสงครามเย็น ทำให้ชาวจีนโพ้นทะเลในเอเชียอาคเนย์กลุ่มหนึ่งมาตั้งรกรากที่ไต้หวัน หรือมาเรียนหนังสือ ตัวอย่างเช่น เรื่องของคุณหวงยุ่นถู่ (黃運土) ชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน ซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาจัดแสดงในนิทรรศการ ขณะนั้นเขาได้ตามคุณพ่อและพี่สาวมาตั้งรกรากอาศัยในไต้หวัน โดยกลับมาปักหลักที่เมืองผิงตง และต่อมาก็มีชาวอินโดนีเซียที่มาใช้ชีวิตในไต้หวันที่ตำบลฉางจื้อ (長治鄉) เมืองผิงตง (屏東縣) จนกระทั่งเกิดเป็นการรวมกลุ่มของชาวจีนโพ้นทะเลที่กลับมาตั้งรกรากที่นี่
คุณโจวอี๋อิ่งอธิบายว่า สมัยก่อนคนที่อยู่อาศัยตามชายฝั่งมณฑลฝูเจี้ยนและมณฑลกวางตุ้งจำนวนไม่น้อยต้องเดินทางจากบ้านเกิดเพื่อความอยู่รอด ไปใช้ชีวิตที่อินโดนีเซีย เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ในเอเชียอาคเนย์ อย่างครอบครัวตระกูลหวงที่มีอาชีพทำมาค้าขายก็เช่นกัน หลังจากนั้น พ่อของคุณหวงยุ่นถู่ได้ใช้สถานะนักท่องเที่ยวเป็นข้ออ้างในการมาไต้หวันเพื่อหาลู่ทาง หลังจากกลับมาแวะพักที่เมืองผิงตงด้วยความบังเอิญ ก็รู้สึกว่าสภาพท้องถิ่นและอากาศมีความคล้ายคลึงกับบ้านเกิดที่อินโดนีเซียเป็นอย่างมาก ดังนั้นทั้งครอบครัวจึงพากันมาตั้งรกรากที่ไต้หวัน ในตอนนั้นมีโอกาสได้เข้าเยี่ยมคารวะอดีตประธานาธิบดีเจียงไคเช็คด้วย มีรูปถ่ายเก่าๆ ที่เป็นภาพขาวดำและภาพซีเปียอยู่ในกรอบรูปบางส่วน ลูกคิดที่ใช้ทำมาค้าขายขณะใช้ชีวิตในไต้หวัน เตียงเหล็กที่ขนย้ายมาจากบ้านเกิดแดนไกล สิ่งของเหล่านี้ทำให้เห็นถึงเส้นทางชีวิตของครอบครัวตระกูลหวงที่โคจรมาสู่การตั้งรกรากในไต้หวัน นอกจากครอบครัวของคุณหวงยุ่นถู่แล้ว ในโซนจัดแสดงนิทรรศการยังมีการแนะนำเรื่องราวของชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวเวียดนามเชื้อสายจีนคนอื่นๆ ที่เดินทางมาไต้หวันในช่วงนั้นด้วยเช่นกัน
ทลายจินตนาการความเชื่อ เรียงร้อยเรื่องราวชีวิตอีกครั้ง
นิทรรศการ ชาวไต้หวันรุ่นใหม่ : ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และแรงงานข้ามชาติจากเอเชียอาคเนย์ นี้ไม่เพียงแต่ขยายเวลาจัดงานให้ยาวนานและยิ่งใหญ่เท่านั้น ยังมีเป้าหมายในการทลายความรู้สึกนึกคิดของสังคมภายนอกที่มอง ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ และ แรงงานข้ามชาติ ผ่านผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และแรงงานข้ามชาติแต่ละชาติ เพื่อค้นพบวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และเรื่องราวชีวิตของพวกเขาแต่ละคน เรื่องไต้หวันของเขาและเธอ มีความเป็นมาอย่างไร โดยจัดแสดงเรื่องราวของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และแรงงานข้ามชาติ 14 คน จากไทย กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีทั้งแม่บ้าน นักจัดรายการวิทยุ นักสร้างชุมชน ชาวประมง หวังให้พวกเขาใช้คำว่า บ้าน เป็นแรงบันดาลใจ จินตนาการถึงลักษณะของบ้านในอุดมคติ
อย่างคุณเจียงหรงเจิน (江容珍) จากประเทศไทย ก่อนที่เธอจะรู้จักและพบรักกับสามี เธอเป็นผู้หญิงทำงานที่พึ่งพาตัวเอง ไม่เพียงแต่จบการศึกษาในระดับสูงมีวุฒิปริญญาตรีในสาขาเศรษฐศาสตร์ เธอยังสามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว ต่อมา เนื่องจากหน้าที่การงานของสามีต้องถูกโยกย้าย ทำให้เธอต้องจากบ้านเกิดเมืองนอน มาอยู่ในครอบครัวแบบดั้งเดิมที่เหม่ยหนง (美濃) นครเกาสง (高雄) เริ่มต้นการใช้ชีวิตใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม
ด้วยความที่สามีเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว ทำให้คุณเจียงหรงเจินไม่เพียงแต่ต้องทำหน้าที่ลูกสะใภ้แบกรับภาระดูแลทุกเรื่องในบ้านไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ จัดการกับงานบ้าน ยังต้องปรับตัวในการใช้ชีวิตในต่างแดนอีกด้วย การปรับตัวไม่ได้ของผู้มาอยู่ใหม่นี้ ทำให้เธอต้องเตรียมใจพบกับความยากลำบาก จนกระทั่งลูกสาวโตเข้าโรงเรียน เธอได้กลายเป็นคุณแม่อาสาสมัครของโรงเรียน ก่อนจะค่อยๆ เริ่มเปิดใจให้ทำตัวเข้ากับสังคมไต้หวันมากขึ้น ในคลิปวิดีโอ ห้องครัวเล็กๆ มุมนั้นได้กลายเป็นทางออกที่ช่วยให้เธอผ่อนคลายความคิดถึงบ้าน เธออยู่ในคลิปวิดีโอที่ถ่ายทอดชีวิตแบบดั้งเดิมในชนบทที่เหม่ยหนง ซึ่งเธอได้ใช้ชีวิตที่นั่นผ่านมาถึง 17 ปี และรูปภาพที่ระบายสีอย่างง่ายๆ ก็ยิ่งทำให้เธอจินตนาการถึงบ้านในอนาคต ภายใต้ท้องฟ้าสีคราม ฟากหนึ่งเป็นบ้านทาวน์เฮาส์ที่ไต้หวัน อีกฟากหนึ่งเป็นบ้านที่ไทย เธอหวังใจว่าจะสามารถเยี่ยมเยียนไต้หวันและไทย บ้านเกิดทั้งสองที่นี้ได้อย่างอิสระเสรี
อีกหนึ่งบุคคลตัวอย่างมาจากกัมพูชา เป็นเรื่องราวของคุณเคอหย่า (柯雅) ประธานกรรมการคนแรกของสมาคมพี่น้องชาวเอเชีย เธอเกิดและเติบโตในยุคเขมรแดง ขณะที่คุณเคอหย่าคิดอยากจะหลีกหนีจากความโหดเหี้ยมของเขมรแดง สามีของคุณเคอหย่าได้พบกับเธอซึ่งคิดว่าจะหาสามีผ่านนายหน้าจัดหาคู่อยู่พอดี ทั้งสองได้รู้จักกันผ่านเพื่อนแนะนำ ตอนที่ทั้งสองพบกันครั้งแรก คุณเคอหย่าพูดภาษาอังกฤษอย่างคล่องแคล่วจนทำให้สามีตะลึง และรู้สึกว่าคุณสมบัติของเธอตรงกับคู่ครองในอุดมคติของเขาจริงๆ ดังนั้นพวกเขาจึงตัดสินใจแต่งงานกัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคุณเคอหย่าจะมีวุฒิพยาบาล แต่เธอก็มักถูกตั้งข้อกังขาว่าไม่สามารถดูแลลูกได้ เธอรู้ดีว่าจะต้องรู้ภาษาจีนเท่านั้น จึงจะสามารถมีสิทธิมีเสียงได้ ในตอนนั้นเธอจึงเข้าร่วมอบรมภาษาจีนสำหรับคู่สมรสต่างชาติ รุ่นที่ 1 ที่เขตเหม่ยหนงจัดขึ้น และได้กลายเป็นประธานกรรมการสมาคมพี่น้องชาวเอเชีย สมัยที่ 1 ด้วย
ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่อีกท่านหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงจิตตานุภาพอันแรงกล้าในต่างบ้านต่างเมือง และกำลังศึกษาปริญญาโท สาขาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็น (National Sun Yat-sen University國立中山大學) คือ คุณหร่วนซื่อเจิน (阮氏珍) เธอจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่เวียดนาม หลังจากรู้จักกับผู้เป็นสามีและเดินทางมาไต้หวัน กลับมักถูกคนถามถึงวุฒิการศึกษา และเธอจะตอบกลับด้วยความเบื่อหน่ายว่า จะถามถึงวุฒิของฉันที่เวียดนาม? หรือว่าของไต้หวันล่ะ? ถ้าถามถึงวุฒิที่เวียดนามล่ะก็ คำตอบคือมหาวิทยาลัย ส่วนวุฒิการศึกษาไต้หวันของฉัน เพียงแค่ระดับประถมศึกษาเท่านั้น เธอผู้ไม่ยอมแพ้คนนี้ ปัจจุบันไม่เพียงแต่ได้กลายเป็นพิธีกรรายการวิทยุ แต่อีกสถานะหนึ่งยังเป็นอาสาสมัครงานสวัสดิการสังคม คอยช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่ออีกด้วย
ที่พิเศษก็คือ ในโซนจัดแสดงนิทรรศการแรงงานข้ามชาติ นอกจากที่ประชาชนรับรู้ว่า เกินกว่าครึ่งเป็นงานใช้แรงงานแล้ว ในนั้นยังมีแรงงานอีกไม่น้อยที่ทำหน้าที่ล่าม ไปจนถึงงานถ่ายภาพ คุณโจวอี๋อิ่งอธิบายว่า ปัจจุบันในจำนวนผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และแรงงานข้ามชาติในไต้หวันกว่าหกแสนคน มีคนกว่าหกหมื่นคนมาทำงานเป็นแรงงานประเภทไวท์คอลลาร์ (White Collar) ในไต้หวัน แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่รู้ ตัวอย่างเช่น หนึ่งในบุคคลตัวอย่างในโซนจัดแสดงนิทรรศการ คุณหยางอวี้อิง (楊玉鶯) ทำงานเป็นล่ามและนายหน้าในไต้หวัน เธอผู้มีสถานะเป็นชาวเวียดนามเชื้อสายจีน ขณะนั้นเดินทางมาศึกษาสาขาภาษาจีน ที่มหาวิทยาลัยจี้หนาน (National Chi Nan University 國立暨南大學) จากนั้นทำงานเป็นล่าม เริ่มบทบาทการเป็นสะพานเชื่อมระหว่างแรงงานข้ามชาติกับบริษัทไต้หวัน
และคุณลินดา (Linda) ผู้ทำงานเป็นผู้อนุบาลในสถานพยาบาลในวันธรรมดา นอกเหนือจากการทำงานแล้ว เธอได้หัดเรียนรู้ทักษะการถ่ายภาพด้วยตนเอง นอกจากจะช่วยถ่ายรูปให้เพื่อนๆ คนบ้านเดียวกันจากอินโดนีเซียเก็บไว้เป็นที่ระลึกแล้ว เธอยังรวบรวมสมัครพรรคพวกก่อตั้งสตูดิโอถ่ายรูปชุดแต่งงานอีกด้วย เพื่อให้คู่แต่งงานชาวอินโดนีเซียที่มาทำงานและรู้จักกันที่ไต้หวันได้ถ่ายรูปชุดแต่งงาน และนอกเหนือจากเวลายุ่งๆ แล้ว เธอยังสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยเปิดซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียจัดตั้งในไต้หวันอีกด้วย ไม่ยอมละทิ้งโอกาสในการเพิ่มพูนศักยภาพของตนเลยแม้แต่น้อย
เพลงมาร์ชชาวไต้หวันรุ่นใหม่ ร่วมกันเขียนอนาคตใหม่
นิทรรศการเพลงมาร์ชประวัติศาสตร์ของชาวไต้หวันรุ่นใหม่ได้ตั้งบูธจัดแสดงขึ้นเป็นพิเศษที่สถานีรถไฟไทเป ซึ่งเป็นสถานที่รวมตัวของแรงงานข้ามชาติและผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ โดยนำเสนอเรื่องราวตั้งแต่ยุคปี 1990 เป็นต้นมา มีหน่วยงานภาคเอกชนที่ช่วยเหลือต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติและผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ อย่างสมาคมแรงงานนานาชาติไต้หวัน (Taiwan International Workers' Association: TIWA 台灣國際勞工協會) และสมาคมช่วยเหลือครอบครัวต่างชาติไต้หวัน (Taiwan International Family Association: TIFA 台灣國際家庭互助協會) เข้าร่วม และองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เช่น สมาคมพี่น้องชาวเอเชีย, หนังสือพิมพ์สี่ฝั่ง (四方報), One-Forty และภายในงานนี้ยังมีการแนะนำการเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือสาธารณประโยชน์ของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ริเริ่มโดยคณาจารย์และนักเรียนโรงเรียนประถมหนานกัว (南郭國小) เมืองจางฮั่ว และอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญในช่วงลำดับเวลาของประวัติศาสตร์ คือการนำพาผู้ชมให้ความสนใจในยุคปี 1990 ที่มีปริมาณผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และแรงงานข้ามชาติพุ่งสูงขึ้นมาก ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นด้านกฎหมาย สิทธิมนุษยชน และความยุติธรรมในสังคม และมีการบันทึกการเคลื่อนไหวของหนังสือพิมพ์สี่ฝั่ง และสมาคมพี่น้องชาวเอเชีย
จากประวัติศาสตร์สู่ชีวประวัติบุคคล หวังว่าเรื่องราวชีวิตที่แตกต่างกันไปนี้จะทำให้ประชาชนได้ทำความรู้จักกับชาวไต้หวันรุ่นใหม่เหล่านี้เสียใหม่ จากนั้นพินิจพิจารณา และสรรค์สร้างจินตนาการใหม่พร้อมกับสร้างสรรค์ไต้หวันด้วย
คุณโจวอี๋อิ่งกล่าว