ขุมทรัพย์สีเขียว บนแหลมเหิงชุน
เนื้อเรื่อง‧ซูลี่อิ่ง ภาพ‧หลินเก๋อลี่ แปล‧อัญชัน ทรงพุทธิ์
ธันวาคม 2017

一路南向,來到國境之南的恆春半島,這裡是中央山脈餘脈的終點。狹長的平原與丘陵、台地相間錯落,裙帶般的珊瑚礁海岸為太平洋、巴士海峽、台灣海峽所環抱,每年9月至翌年3月,強勁的東北季風(當地俗稱「落山風」)吹拂,多樣性生物與堅苦卓絕的人們在此共謀生存,誕生出別具一格的文化景觀。
แหลมเหิงชุน ดินแดนตอนใต้สุดของไต้หวันและเป็นจุดสิ้นสุดของแนวเทือกเขากลางเกาะไต้หวัน หรือเทือกเขาจงยาง (中央山脈) ที่ทอดตัวจากเหนือจรดใต้ คือเป้าหมายการเดินทางล่องใต้ในครั้งนี้ จากลักษณะภูมิประเทศของแหลมเหิงชุนซึ่งเป็นที่ราบลุ่มแคบยาวสลับกับเนินเขาและยังมีที่ราบสูงเชื่อมต่อลดหลั่นกันไป
แหลมแห่งนี้โอบล้อมด้วยชายฝั่งโขดหินปะการังของมหาสมุทรแปซิฟิก ช่องแคบบาชิ (巴士海峽) และช่องแคบไต้หวัน (台灣海峽) ทำให้ช่วงระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนมีนาคมของปีถัดไปจะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดผ่าน(ชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกว่า ลมตกเขา (落山風) นอกจากนี้ การที่แหลมเหิงชุนเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยร่วมกันของมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย จึงนำไปสู่การก่อกำเนิดของภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น
นักท่องเที่ยวจำนวนมากไม่รู้หรอกว่า หากมาเที่ยวที่แหลมเหิงชุน เพียงแค่เดินฝ่าเสียงจอแจของผู้คนในตลาดเขิ่นติง (墾丁) ออกไปสู่บริเวณรอบนอกของตำบลเหิงชุน จะพบว่ายังมีชุมชนที่มีชื่อเสียงในด้านการอนุรักษ์ระบบนิเวศและความเรียบง่ายแบบชนบทน้อยใหญ่มากมายหลายแห่ง อาทิ ตู้ติ่ง (社頂) หลงสุ่ย (龍水) หลี่เต๋อ (里德) กั่งโข่ว (港口) หย่งจิ้ง (永靖) และโห้ววัน (後灣) เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น ทะเลสาบหลงหลวน (龍鑾潭) ในชุมชนหลงสุ่ยที่สร้างความชุ่มชื้นแก่ผืนแผ่นดิน ดึงดูดนกน้ำให้บินมาพำนักอาศัย อีกทั้งยังกลายเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ส่งให้แก่ผืนนาที่เพาะปลูกข้าวพันธุ์หลังเจี้ยว (琅嶠米) ที่มีชื่อเสียงของที่นี่ หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือชุมชนกั่งโข่ว ซึ่งตั้งอยู่ติดกับตำบลหม่านโจว เนื่องจากด้านตะวันออกติดมหาสมุทรแปซิฟิก จึงมีพื้นที่บางส่วนเป็นเขตน้ำขึ้นน้ำลงทำให้เกิดระบบนิเวศที่เหมาะแก่การอยู่อาศัยของปูบก (Land crab) นอกจากนี้ ยังพบต้นชาป่าเป็นพุ่มๆ กระจายอยู่ทั่วไปตามพื้นที่ราบลุ่ม ทำให้ชุมชนแห่งนี้มีทิวทัศน์ของภาคการเกษตรและการประมงคละเคล้ากัน นับว่าเป็นทัศนียภาพที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ส่วนพื้นที่กว้างใหญ่ทางด้านใต้ของแม่น้ำกั่งโข่ว เป็นที่ตั้งของชุมชนหลี่เต๋อ ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี เหยี่ยวหน้าเทา (grey-faced buzzard) นับหมื่นตัวที่บินอพยพหนีหนาวจากคาบสมุทรไซบีเรีย ผ่านภาคเหนือของจีนแผ่นดินใหญ่และญี่ปุ่น จะแวะพักค้างคืนเป็นจุดสุดท้ายที่ชุมชนหลี่เต๋อ ก่อนจะบินไปสู่จุดหมายปลายทางที่ฟิลิปปินส์
ในช่วงหลายปีมานี้ ทรัพยากรที่เป็นเอกลักษณ์ในชุมชนต่างๆ ได้นำมาใช้เป็นรากฐานการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) และยังกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ รวมทั้งเป็นขุมทรัพย์สีเขียวสำหรับสิ่งแวดล้อมศึกษา (Environmental Education) อีกด้วย
ชุมชนคือคลังข้อมูลที่สมบูรณ์แบบ
ในอดีตผมคือนักล่าเหยี่ยว ปัจจุบันผมเป็นผู้พิทักษ์เหยี่ยวเบื้องหลังคำบอกเล่าดังกล่าวของคุณซ่งเหรินจง (宋仁宗) นายกสมาคมพัฒนาชุมชนหลี่เต๋อ แฝงไว้ด้วยประสบการณ์ชีวิตที่ผกผัน ซึ่งมีทั้งช่วงที่ใช้ชีวิตอย่างบุ่มบ่ามและละล้าละลัง ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่เพิ่งจะมีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขิ่นติง (墾丁國家公園) ในปีค.ศ.1982 เนื่องจากแหลมเหิงชุนจัดอยู่ในเขตอุทยานแห่งนี้ด้วย ส่งผลให้วิถีการดำรงชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน ชาวบ้านไม่สามารถล่าสัตว์หรือเก็บของป่าได้เหมือนในอดีต จากความไม่สะดวกต่างๆ นี้เองทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งในปีค.ศ.2006 สำนักงานบริหารอุทยานแห่งชาติเขิ่นติง ได้เชิญศาสตราจารย์เฉินเหม่ยฮุ่ย (陳美惠) จากภาควิชาวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผิงตง (National Pingtung University of Science and Technology: NPUST) ให้เข้ามาช่วยพัฒนาชุมชนต่างๆ ในแหลมเหิงชุน โดยเริ่มจากชุมชนตู้ติ่ง ด้วยการนำเอาแนวคิดการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สามารถธำรงไว้ซึ่งวิถีการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมของคนท้องถิ่นและยังสามารถอนุรักษ์ระบบนิเวศในชุมชนเอาไว้ได้ หลังเวลาผ่านไปกว่า 10 ปี ด้วยความพยายามร่วมกันของทุกฝ่ายทำให้กระแสความนิยมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและชื่อเสียงของชุมชนต่างๆในแหลมเหิงชุนเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น
คุณซ่งจงเหรินและผู้คนในท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยต้องหักมุมความคิด ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนหลี่เต๋อที่ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขากันดาร ประชาชนยากจน ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของทุกปีจะมีนกป่าบินอพยพหนีหนาวแวะมาพักค้างคืน นกป่าเหล่านี้ไม่เพียงกลายเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีของคนท้องถิ่น แต่ยังสามารถนำไปขายให้แก่คนทำนกสตาฟ สร้างรายได้ที่งามทีเดียว แต่การที่ชาวบ้านในชุมชนหลี่เต๋อล่านกป่าปีละนับหมื่นตัว ทำให้ชุมชนแห่งนี้ได้รับสมญานามว่า ป่าช้าเหยี่ยว ปัจจุบันคุณซ่งจงเหรินผันตัวจากนักล่าสัตว์มาทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ เขานำเอาความรู้ที่ได้จากประสบการณ์การล่าสัตว์บวกกับความเป็นคนช่างสังเกต ทำให้เขาสามารถอธิบายเรื่องราวต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวฟังได้อย่างสนุกสนานและมีชีวิตชีวา
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว คุณหลินจื้อหย่วน (林志遠) ติดตามศาสตราจารย์เฉินเหม่ยฮุ่ยเข้ามาช่วยพัฒนาชุมชน ในขณะนั้น เขายังศึกษาในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผิงตง ต่อมาเขาได้ริเริ่มก่อตั้งบริษัทนิเวศหลีซาน (Li shan Eco Company) เขาเล่าว่า เราพยายามเปลี่ยนแนวความคิดของชาวบ้านด้วยการบอกพวกเขาว่า วิธีการหารายได้จากทรัพยากรในระบบนิเวศสามารถใช้การอนุรักษ์แทนการล่าสัตว์ เราสามารถสร้างรายได้จากการให้บริการนำเที่ยว ที่พักและขายอาหารแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งวิธีนี้เป็นการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ในขณะที่คุณไช่หว่านหรง (蔡宛蓉) ซึ่งทำงานในบริษัทนิเวศหลีซานเช่นกันกลับเล่าว่า ชุมชนคือคลังข้อมูลที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลาย ข้อมูลเหล่านี้ก็คือวิถีการดำรงชีวิตของชาวบ้านนั่นเอง เพียงแต่ว่าจะมีการนำออกมาแปรรูปและบรรจุหีบห่อให้มีความประณีตสวยงามขึ้นหรือไม่เท่านั้น
ผลจากการชี้แนะของนักแนะแนวการศึกษาและอาชีพ ไม่เพียงนักท่องเที่ยวได้รับประโยชน์ ชาวบ้านเองก็ได้รู้จักความงดงามของชุมชนในแง่มุมใหม่ ทำให้เกิดการยอมรับและมีความคิดคล้อยตาม ซึ่งตรงกับคำบอกเล่าของคุณหยางซิ่วหลาน (楊秀蘭) ผู้ใหญ่บ้านกั่งโข่วที่ว่า หลังจากสำนักงานบริหารอุทยานแห่งชาติเขิ่นติงและอาจารย์เฉินเหม่ยฮุ่ยเข้ามา พวกเราจึงได้รู้ว่าในชุมชนของเรามีสมบัติล้ำค่ามากมาย
จากสถิติที่เก็บรวบรวมโดย ดร.หลิวฮงชาง (劉烘昌) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปูบกพบว่า ปูบกที่พบในชุมชนกั่งโข่วมีมากกว่า 30 ชนิด อาทิ Sesarmops intermedium, Carclisoma carnifex , Neosarmatium rotundifrons และ Scandarma lintou เป็นต้น ไม่เพียงเท่านั้น ชุมชนกั่งโข่วยังเป็นแหล่งผลิตถั่วดำพันธุ์พื้นเมืองของตำบลหม่านโจว และชากั่งโข่วซึ่งมีการนำเข้ามาปลูกตั้งแต่สมัยจักรพรรดิ์กวงซวี่ ยุคราชวงค์ชิง โดยเป็นชาที่ปลูกบนพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลต่ำที่สุดของไต้หวัน ได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน 3 ของดีจากแหลมเหิงชุน ประกอบกับชุมชนแห่งนี้อยู่ติดทะเล ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของชุมชนยังมีปลาบินและปลาอีโต้มอญตากแห้ง นอกจากนี้ ยังมีสวนไทรย้อยที่มีชื่อว่าไป๋หรงหยวน (白榕園) ซึ่งโด่งดังขึ้นหลังจาก อังลี ผู้กำกับภาพยนตร์ฮอลลีวูดชาวไต้หวันใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนต์เรื่อง Life of Pi จากอัตลักษณ์ในท้องถิ่นที่มากมายเช่นนี้ ทำให้คุณหยางซิ่วหลานกล่าวด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มว่า ทำเลที่ตั้งของชุมชนกั่งโข่วทำให้ได้เปรียบชุมชนอื่นโดยสิ้นเชิง
ปัจจุบัน การให้บริการด้านการท่องเที่ยว อาทิ ชมปูบกยามราตรี เก็บใบชา และชิมอาหารเมนูที่ทำจากถั่วดำ เฉพาะในปีค.ศ.2016 สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนสูงถึง 2 ล้านเหรียญไต้หวัน อีกทั้งยังก่อให้เกิดความสามัคคีขึ้นในชุมชนอีกด้วย
ดึงทรัพยากรจากภายนอกเข้ามา กระตุ้นให้เกิดผลงานด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์
บริษัทนิเวศหลีซานที่ทำหน้าที่ดูแลและให้ความช่วยเหลือพัฒนาชุมชนมาตั้งแต่แรกเริ่ม ใช้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศมาเป็นจุดเริ่มต้นของการวางกรอบแผนงานทั้งหมด จากนั้น เริ่มทำการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ ตามมาด้วยการฝึกอบรมและให้ความรู้แก่คนท้องถิ่นเพื่อให้สามารถทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยวเชิงนิเวศ ตลอดจนสามารถจัดตั้งเป็นกลุ่มองค์กรได้อย่างเป็นรูปเป็นร่าง จากนั้นจึงปล่อยมือให้คนในชุมชนบริหารจัดการกันเอง ภายหลังจากที่ได้วางรากฐานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเอาไว้อย่างแข็งแกร่งมั่นคงแล้ว ในช่วงหลายปีมานี้ บริษัทระบบนิเวศหลีซานได้เริ่มทดลองวางแผนการพัฒนาหลากหลายด้าน เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาแบบองค์รวม พร้อมกันนี้ยังได้ดึงทรัพยากรและบุคลากรจากวงการอื่นเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างและเป็นการบูรณาการแบบองค์รวม ซึ่งจะทำให้การอนุรักษ์ระบบนิเวศของชุมชนมีการพัฒนาที่ยั่งยืน
ยกตัวอย่างเช่น ในอดีตการท่องเที่ยวเชิงนิเวศมักจะเน้นหนักไปที่สิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ ละเลยเรื่องของทัศนียภาพ ลักษณะทางภูมิศาสตร์และอารยธรรม แต่หลังจากที่สำนักงานบริหารอุทยานแห่งชาติเขิ่นติงและบริษัทระบบนิเวศหลีซานเข้ามาให้ความช่วยเหลือตั้งแต่ปีค.ศ.2015 เป็นต้นมา ชุมชนต่างๆ ได้เริ่มแสวงหาและคัดเลือกศิลปินที่มีความเหมาะสมให้เข้ามาพำนักอาศัยและใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อจะได้ใช้ช่วงเวลาดังกล่าวสร้างปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้าน ศึกษาและทำความเข้าใจวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบหรือข้อมูลในการสร้างสรรค์ผลงานออกมา ซึ่งจะเป็นการเพิ่มจุดขายให้แก่การท่องเที่ยวในชุมชน
ชุมชนหลี่เต๋อเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด เมื่อท่านเดินเข้าไปในสวนผักสาธารณะของชุมชน จะได้เห็นผลงานศิลปะที่เป็นฝีมือของคุณเฉินจิ่นฮุย (陳錦輝) ศิลปินประจำชุมชน ใช้ขยะที่ลอยอยู่ในทะเล อาทิ ทุ่นลอยน้ำและโฟม มาสร้างสรรค์ผลงานที่มีชื่อว่า Wind Translator (風譯) ในช่วงฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดโชยมา ทุกระลอกของกระแสลมที่พัดกระโชกมาจะทำให้เกิดลวดลายต่างๆ บนพื้นทรายซึ่งจะมีรอยลึกตื้นต่างกันไป ช่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
แต่สิ่งที่ทำให้ชาวบ้านในชุมชนคิดถึงคุณเฉินจิ่นฮุยมากที่สุด ไม่ใช่งานศิลปะสาธารณะชิ้นนี้ หากแต่เป็นวงดนตรีประจำชุมชนที่เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งขึ้น ซึ่งให้ชื่อว่า ฝูลั่งก่งเย่ถวน (浮浪拱樂團 ) คุณหลินจื้อหย่วนเล่าว่า ความสนุกและน่าสนใจของงาน สร้างชุมชน ก็คือ คุณไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อศิลปินที่ถูกคัดเลือก ได้เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชาวบ้านในชุมชน เนื่องจากเดิมทีชุมชนหลี่เต๋อเป็นหมู่บ้านของชนพื้นเมือง คุณเฉินจิ่นฮุยซึ่งเป็นผู้ที่มีความสามารถในด้านการร้องรำทำเพลงและยังเชี่ยวชาญการตีกลองแอฟริกา มีอยู่ครั้งหนึ่งเขามีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมทำความสะอาดชายหาด คุณเฉินจิ่นฮุยหยิบเศษไม้เศษขยะที่ลอยมาเกยอยู่บนชายหาดขึ้นมาเคาะเล่นเป็นจังหวะดนตรีให้ชาวบ้านได้ฟังกัน จากนั้นยังนำเศษขยะจากท้องทะเลเหล่านี้มาดัดแปลงทำเป็นเครื่องดนตรี และสอนวิธีตีกลองให้แก่ชาวบ้าน เขาได้ใช้ทำนองดนตรีแบบโบราณของชนเผ่าอามิสที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา ประพันธ์เป็นบทเพลง และนี่คือที่มาของวงดนตรี ฝูลั่งก่งเย่ถวน ที่สมาชิกของวงคือชาวบ้านในชุมชนนั่นเอง
หากได้เข้าไปนั่งที่ศาลาพักร้อนข้างสวนผักสาธารณะ ป้ายที่แขวนอยู่บนขื่อศาลามีการบันทึกประวัติความเป็นมาของชุมชนหลี่เต๋อออกมาเป็นเนื้อเพลงที่มีชื่อว่า บทเพลงแห่งหลี่เต๋อ(里德之歌) เนื้อเพลงนี้กล่าวไว้ว่า หลี่เต๋อมีชื่อเดิมว่า จูเหลาซู่ ต่อมา แบ่งออกเป็น 3 หมู่บ้าน หัวหน้าเผ่าอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านสือปาฟันเซ่อ ซึ่งก็คือชนพื้นเมืองบนภูเขาสูง... คุณซ่งเหรินจงกล่าวพลางหัวเราะว่า ผมเป็นคนแต่งเนื้อเพลงนี้เอง
ปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนชุมชนหลี่เต๋อจะมีโอกาสได้ยินชาวบ้านร้องเพลง บทเพลงแห่งหลี่เต๋อคลอไปกับทำนองดนตรีจากเครื่องดนตรีที่ทำจากเศษขยะ ท่วงทำนองที่เก่าแก่โบราณแต่เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา เปรียบเสมือนวิถีชีวิตของผู้คนที่ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อความคงอยู่และสืบสานเผ่าพันธุ์บนผืนแผ่นดิน ณ สุดขอบชายแดนประเทศแห่งนี้ให้ยืนยาวต่อไปนั่นเอง
เศรษฐกิจสีเขียว ศาสตร์แห่งการอยู่ร่วมกันของมนุษย์กับธรรมชาติ
ไม่เพียงเท่านี้ ชุมชนหลี่เต๋อนำทรัพยากรจากระบบนิเวศมาผนวกเข้ากับสิ่งแวดล้อมศึกษา จัดอบรมและบ่มเพาะบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา 6 คน รับผิดชอบภารกิจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมศึกษาในหน่วยงานราชการและโรงเรียน 4 แห่งในเขตตำบลหม่านโจว ทำให้สามารถคว้ารางวัลสิ่งแวดล้อมศึกษาแห่งชาติ (National Environmental Education Award) ประจำปีนี้มาครอง
อย่างไรก็ดี การนำเอาทรัพยากรจากระบบนิเวศมาผนวกเข้ากับการศึกษาไม่ได้มีเพียงที่ชุมชนหลี่เต๋อแห่งเดียวเท่านั้น ในปีนี้เช่นกัน บริษัทระบบนิเวศหลีซานได้รับมอบหมายจากเทศบาลเมืองผิงตงให้จัดการประกวดภาพยนตร์สั้นที่เกี่ยวกับการเฝ้าสังเกตระบบนิเวศของเด็กนักเรียนชั้นประถมและมัธยมศึกษาตอนต้น โดยมีคุณครูคอยชี้แนะให้เด็กนักเรียนเฝ้าสังเกตและทำความเข้าใจระบบนิเวศในท้องถิ่น จากนั้น บันทึกเรื่องราวทั้งหมดออกมาเป็นภาพยนตร์สารคดีสั้น นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังได้ร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อการศึกษาเฉินอู๋เสียน (Chen Wu Xian Educational Foundation) จัดกิจกรรมค่ายฤดูร้อนสำหรับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา เนื่องจากคุณอู๋เป่าชุน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อการศึกษาเฉินอู๋เสียน เป็นครูสอนทำขนมปังที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เกิดที่หมู่บ้านชนบทในเมืองผิงตง เขาได้จัดตั้งมูลนิธิเพื่อการศึกษาดังกล่าวขึ้นเพราะต้องการตอบแทนบ้านเกิด กิจกรรมค่ายฤดูร้อนปีนี้เป็นการเดินทางท่องเที่ยวที่ใช้ระยะเวลาสั้นๆ ธีมหลักในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ คือ การไหลเวียนของน้ำ โดยตั้งขึ้นตามลักษณะภูมิประเทศของชุมชนที่มีทั้งภูเขาและทะเล ซึ่งมีเป้าหมายให้เด็กๆ ได้รับความรู้จากการเดินทางท่องเที่ยว
ในทางปฏิบัติใช้วิธีเชื่อมโยงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ การศึกษา และการท่องเที่ยวเข้าด้วยกัน โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่น ชาวบ้านและนักเรียนนักศึกษาในเมืองผิงตง คุณหลินจื้อหย่วนกล่าวว่า เราหวังว่าจะสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ที่แตกต่างจากเดิมให้แก่ผู้คนในชุมชน เพื่อให้พวกเขารู้ว่ายังมีวิธีอื่นที่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาชุมชน
การยกระดับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวซึ่งมีขอบเขตกว้างใหญ่กว่าเดิม แต่ยังคงไม่ละทิ้งการปกป้องระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นจุดประสงค์ตั้งแต่แรกเริ่ม ในขุมทรัพย์สีเขียวที่มีขนาดใหญ่โตมโหฬารแห่งนี้ นอกจากจะมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์สามารถใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ยังมีทรัพยากรและแรงบันดาลใจมากมายหลากหลายเพียงพอที่จะสามารถนำมาใช้ได้อย่างไม่มีวันหมดสิ้น เพียงแค่มนุษย์เราต้องรู้จักใช้และรู้จักปกป้องดูแลเอาไว้ให้ดีเท่านั้นเอง