วัฒนธรรม ธรรมชาติและ ทัศนียภาพในวิถีเนิบช้า ที่ต้าหลิน เมืองเจียยี่
เนื้อเรื่อง‧เติ้งฮุ่ยฉุน ภาพ‧หลินเก๋อลี่ แปล‧อัญชัน ทรงพุทธิ์
ตุลาคม 2016

嘉南平原北端,大林盛產稻米、地處交通要地,曾是嘉義的首富之區。昔日的熱鬧因產業變遷使得工作機會減少,人口外移而變得沒落。但小鎮不沉寂,仍有各路人馬努力著。大林鎮長黃貞瑜見到地方社區致力維護在地文化、推行健康飲食……,努力讓小鎮接軌國際,找出屬於大林的「慢」步調。
ฝนฟ้าที่ตกโปรยปรายติดต่อกันมา
หลายวัน ทำให้อากาศชุ่มฉ่ำไปด้วยละอองน้ำ ป่าไผ่ยามราตรีมีเสียงอ๊บ อ๊บ อ๊บ ดังระงมติดต่อกันไม่
ขาดสาย แว่วมาเข้าหู มันคือเสียงร้องของกบต้นไม้จูหลัว (rhaco phorus arvalis : 諸羅樹蛙) ที่จะมีให้ได้ยินเฉพาะในไต้หวันเท่านั้น
กบต้นไม้จูหลัวที่แฝงตัวอยู่ตามต้นไผ่ ลำตัวยาวประมาณ 4-8 ซม. หลังของมันมีสีเหลืองอมเขียวอ่อน ช่วงท้องเป็นสีขาว ตัวเล็กๆ ตากลมโต เวลาส่งเสียงร้อง ลำตัวของมันจะพองขึ้นก่อน จากนั้นต่อมเสียงก็จะโป่งพองขึ้นตามมาเหมือนกับกำลังจะเป่าลูกโป่ง ท่าทางของมันทำให้ผู้คนหลงรักมันในทันทีที่ได้พบ
ที่นี่ ซึ่งก็คือตำบลต้าหลิน เมืองเจียยี่ เป็นแหล่งที่มีกบต้นไม้จูหลัวอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดในไต้หวัน ได้รับสมญานามว่า Darling (ออกเสียงคล้ายกับต้าหลิน) และมิลานน้อย
จากการที่มีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของที่ราบเจียหนานทำให้ต้าหลินมีทัศนียภาพที่สวยงามและกว้างไกล เป็นแหล่งผลิตข้าวและศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญ ในอดีตต้าหลินจึงเป็นตำบลที่มั่งคั่งที่สุดของเมืองเจียยี่ นอกจากนี้ยังเคยเป็นที่ตั้งของศูนย์ฝึกอบรมทหารที่เพิ่งเข้าประจำการใหม่ของกองทัพบก 2 แห่ง (ปัจจุบันเหลือเพียงแห่งเดียว) จึงมีผู้คนที่สัญจรไปมาไม่ขาดสาย นำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจ แต่เนื่องจากโครงสร้างการผลิตที่แปรเปลี่ยนไป ส่งผลให้โอกาสงานลดน้อยลง ประชากรโยกย้ายถิ่นฐานออกไป เมืองเล็กๆ ที่เคยเจริญรุ่งเรืองในอดีตตกสู่สภาพที่ซบเซาเสื่อมโทรม
อย่างไรก็ดี ต้าหลินไม่ได้เงียบเหงาซะเลยทีเดียว ยังมีผู้คนจำนวนหนึ่งซึ่งมาจากหลากหลายวงการกำลังพยายามที่จะนำเรื่องราวของต้าหลินเผยแพร่ออกไป บางกลุ่มอยากให้ผู้คนได้กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไม่เจือปนสารพิษ บางกลุ่มกำลังพยายามอนุรักษ์โลกด้วยการประหยัดพลังงานลดคาร์บอน อีกกลุ่มหนึ่งพยายามฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับไปเป็นเหมือนช่วงวัยเด็กที่มีเสียงกบร้องระงมคละเคล้าเสียงนกร้องเจื้อยแจ้ว
แนวทางการพัฒนาชุมชนของต้าหลินเน้นเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่น เผยแพร่อาหารสุขภาพและปกป้องสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ซึ่งสอดคล้องกับสปิริตของสโลว์ซิตี้* คุณหวงเจิน
อวี๋ (黃貞瑜) กำนันตำบลต้าหลินตระหนักถึงเรื่องนี้ดี เธอจึงพยายามทำให้เมืองเล็กๆ แห่งนี้เชื่อมต่อกับสากลด้วยการยื่นขอเข้าเป็นสมาชิกองค์กร Cittaslow International โดยในเดือนกรกฏาคมปี 2016 เธอเดินทางไปร่วมการประชุมประจำปีของ Cittaslow International ที่ประเทศโปรตุเกส เพื่อรับใบรับรองสโลว์ซิตี้ด้วยตนเอง ทำให้ต้าหลินกลายเป็นสโลว์ซิตี้แห่งที่สองของไต้หวัน
*สโลว์ซิตี้ (Slow City) หรือซิตต้าสโลว์ (Cittaslow) หมายถึงเมืองที่วิถีชีวิตของผู้คนช้าลงเพื่อให้คุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น
พบเห็นความศิวิไลซ์จากโรงภาพยนตร์เก่า
“หลังจากที่ผมดูภาพยนตร์เรื่อง Yes, Sir (報告班長) ในโรงภาพยนตร์ว่านกั๋ว (萬國戲院) ซึ่งตอนนั้นผมเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ผมก็ตัดสินใจเลยว่าจะเป็นทหารเพื่อทำหน้าที่ปกป้องประเทศชาติ” คุณเจียงหมิงเฮ่อ (江明赫) เปิดฉากการพูดสดในงาน TEDxChiayi 2015* ด้วยประโยคดังกล่าว แต่บุญสัมพันธ์ของเขากับโรงภาพยนตร์ว่านกั๋วไม่ได้มีเพียงเท่านี้
หกปีที่แล้ว เขาพาครอบครัวมาอยู่ภาคใต้ เพราะอยากให้ลูกเติบโตในดินแดนบ้านเกิดที่เขารัก สิ่งที่เขากังวลมากที่สุดในตอนนั้นคือ การดึงดูดให้คนหนุ่มสาวกลับสู่บ้านเกิดและยินดีที่จะกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดต่อไป เขาอาศัยช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์ของต้าหลิน แล้วจึงตัดสินใจเริ่มต้นจากโรงภาพยนตร์ว่านกั๋ว ซึ่งเป็นความทรงจำร่วมกันของผู้คนในต้าหลิน และเป็นสถานที่ที่ทำให้เขาหันไปยึดอาชีพทหาร เขาไปเจรจากับเจ้าของโรงภาพยนตร์แห่งนี้ก่อน เมื่อได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่ได้ จึงลงมือเขียนโครงการเพื่อยื่นของบประมาณสนับสนุน จากนั้นเริ่มซ่อมแซมอาคารภายนอกก่อน ต่อมาจึงซ่อมแซมและตกแต่งภายใน โรงภาพยนตร์เก่าๆ ที่ถูกปล่อยให้รกร้างมานานเกินกว่า 20 ปีแห่งนี้ ถูกปรับปรุงใหม่จนเฉิดไฉไลดังเดิมและเปิดตัวขึ้นอีกครั้งในปี 2012 (พ.ศ.2555) และกลายเป็นจุดสนใจจากผู้คนในสังคม
*TEDxChiayi2015 เป็นงานระดับท้องถิ่นของเมืองเจียยี่เพื่อรวมคนที่มีความคิดดีๆ มีประสบการณ์ตรงจากแวดวง TED ซึ่งได้แก่เทคโนโลยี (Technology) บันเทิง (Entertainment) และการออกแบบ (Design) นำมาเล่าสู่กันฟังด้วยการพูดสดซึ่งจะช่วยจุดประกายให้เกิดการสนทนาและการเชื่อมความสัมพันธ์ในกลุ่มเล็กๆขึ้น
พบเห็นวัฒนธรรมในทุกตรอกซอกซอย
เพื่อให้ผู้คนได้รู้ว่าต้าหลินเคยเป็นดินแดนที่รุ่งเรืองและสวยงามมากในอดีต คุณเจียงหมิงเฮ่อได้อาศัยช่วงวันหยุดเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ และได้จัดกิจกรรม "เที่ยวเบาๆ ที่ต้าหลิน" ในวันหยุดสุดสัปดาห์ของทุกเดือน
บริเวณที่เป็นตลาดเก่า ในยุคที่ต้าหลินยังรุ่งเรืองมีร้านขายยาจีนและยาแผนปัจจุบันมากมาย คนท้องถิ่นตั้งสมญานามให้ร้านขายยาจีนไท่เฉิง (泰成藥行) ที่แฝงตัวอยู่ในซอยเล็กๆ ว่า ตึกตังกุย เพราะเถ้าแก่รุ่นที่ 2 ร่ำรวยขึ้นมาจากการค้าขายตังกุยแล้วนำเงินมาสร้างตึกแห่งนี้ เถ้าแก่รุ่นที่ 3 คือคุณสวี่คายซิง (許開興) นำแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมสร้างสรรค์ มาใช้กับการดำเนินกิจการ ริเริ่มให้นักท่องเที่ยวได้ลองจัดยา DIY ด้วยการเลือกหยิบยาจีนมาผสมกันแล้วห่อทำเป็นถุงชาตามตำรับใบสั่งยาจีนของทางร้าน ที่ประตูหน้าร้านยังจัดแสดงเครื่องมือบดยาจีนชนิดต่างๆ ไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองใช้กันด้วย
ร้านแว่นและนาฬิกาสือซิ่น (十信鐘錶眼鏡行) เป็นร้านจำหน่ายแว่นตาและนาฬิกาแห่งแรกของต้าหลิน เถ้าแก่รุ่นที่ 2 คือ คุณจวงฮั่นหลิน (莊翰林) และคุณไช่อวี้เหวิน
(蔡毓雯) ผู้เป็นภรรยา หลังสืบทอดกิจการได้รื้อเครื่องตกแต่งเก่าภายในร้านทิ้งทั้งหมด เหลือไว้เพียงเพดานกับผนังปูน จากนั้นออกแบบใหม่โดยลดสิ่งกีดขวางที่ไม่จำเป็นทิ้ง เพื่อให้ได้พื้นที่ว่างเพิ่มขึ้น ให้ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลายและเป็นกันเอง นอกจากนี้ภายในร้านยังมีโต๊ะไม้จากนากาจิม่า (Nakajima) ตัวหนึ่งกับกาแฟอีกหนึ่งแก้วไว้รับรองลูกค้า เจ้าของร้านหวังว่าจะสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า เช่นเดียวกันกับแว่นตาที่สามารถช่วยเหลือผู้คนให้มองเห็นโลกที่สวยงามได้ชัดเจน
ร้านกาแฟสือต้า (大十咖啡店) ซ่อนตัวอยู่ในซอยเล็กๆ บาริสต้าคือคุณเจิงเยี่ยนจู๋ (曾嬿竹) หลังปลดประจำการทหารแล้ว เธอกลับมาเปิดร้านกาแฟที่บ้านเกิดซึ่งเป็นร้านกาแฟร้านแรกของต้าหลิน ภายในร้านตกแต่งแบบง่ายๆ มีที่นั่งเพียง 10 ที่ ช่วงวันหยุดลูกค้ามักจะเต็มร้าน หลังจากที่ย้ายกลับมาอยู่บ้านเกิดแล้ว สิ่งทำให้คุณเจิงเยี่ยนจู๋มีความสุขมากที่สุดคือได้กลับไปทานอาหารฝีมือคุณแม่ที่บ้านทุกวัน และยังได้ชงกาแฟแบ่งปันให้ผู้คนในต้าหลินได้ลิ้มลอง สมดังปณิธานที่เธอเคยตั้งเอาไว้ด้วย
ร้านเล็กๆ ทุกร้านต่างมีเรื่องราวความเป็นมาของตนเอง กิจกรรมเที่ยวเบาๆ ที่ต้าหลิน จนถึงปัจจุบันจัดมาเป็นเวลาห้าปีแล้ว ไม่มีการโฆษณา มีเพียงแค่การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารผ่านทางเฟซบุ๊ก จนถึงขณะนี้มีผู้คนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 10,000 คน และได้รับเสียงชื่นชมไม่น้อย
พบเห็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากวิถีชีวิตของผู้คน
ชุมชนหมิงหัว (明華社區) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของต้าหลิน ได้ชื่อว่าเป็นชุมชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีชื่อเสียง คุณเจียงจื้อหง (江志弘) นายกสมาคมส่งเสริมการพัฒนาชุมชนพาเราไปชมบ้านโบราณของตระกูลหวง บ้านหลังนี้ไม่ธรรมดา หลังคาห้องครัวมีช่องกระจกโปร่งแสงสามช่อง ช่วงเวลากลางวันแสงสว่างจะสาดส่องลงมาที่โต๊ะอาหาร เตาไฟ และอ่างล้างจาน สามจุดพอดิบพอดี นี่เป็นตัวอย่างของการประหยัดพลังงานลดคาร์บอนของคนในยุคก่อน นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของคุณจันชิงฉวน (詹清傳) เจ้าของสมญานาม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องฟางข้าว เพราะสามารถนำฟางข้าวที่ทิ้งแล้วมาถักทอเป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากไอเดียของตนเองและเป็นการนำเอาอุดมการณ์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาใช้ในชีวิตจริง
คุณเจียงจื้อหงใช้รถกอล์ฟพลังงานแสงอาทิตย์เป็นยานพาหนะในการพาเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ในชุมชน บ้านเรือนส่วนใหญ่ติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ไว้บนหลังคา ซึ่งไม่เพียงสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เอง ยังขายให้แก่การไฟฟ้าไต้หวันสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในชุมชนนี้ด้วย
สวนสาธารณะพื้นที่ชุ่มน้ำหมิงหัว (明華溼地公園)
เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเทียมที่ถูกสร้างขึ้น และเป็นแหล่งรองรับน้ำเสียจากครัวเรือนในชุมชนประมาณ 50% อาศัยกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชน้ำและพรรณไม้น้ำที่ปลูกอยู่ภายในมาช่วยดูดซึมอินทรียสาร และแอมโมเนียในน้ำเสียให้ลดน้อยลง และย่อยสลายให้หมดไปในที่สุด จากนั้นจึงปล่อยให้น้ำเสียที่ถูกบำบัดแล้วไหลลงสู่แม่น้ำลำคลองเพื่อนำไปใช้ในการเกษตรต่อไป
ความพยายามในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ต้าหลินได้รับคะแนนประเมินจากองค์กร Cittaslow International ในระดับสูง
ต่อสู้เพื่อปกป้องชุมชนให้ปลอดมลพิษ
อ่างเก็บน้ำซ่างหลินในชุมชนซ่างหลิน (上林社區) มีพื้นที่ 6.7 เฮกตาร์ (41.87 ไร่) เป็นอ่างเก็บน้ำที่ทำหน้าที่ปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งของไต้หวัน และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าสงวนหลายชนิด อาทิ ปลากัด นกโป่งวิด (Greater Painted-snipe) กบต้นไม้จูหลัว และนกอินทรี เป็นต้น ในอดีตยังเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของชาวบ้านในชุมชนนี้ด้วย
ก่อนหน้านี้มีผู้ประกอบการรายหนึ่งต้องการเช่าที่ดินแถบนี้เพื่อสร้างฟาร์มเลี้ยงห่านขนาดใหญ่ ชาวบ้านกังวลว่าจะก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม จึงรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสมาคมช่วยเหลือตนเอง ชูป้ายผ้าสีขาวยื่นหนังสือประท้วงต่อเทศบาลตำบล
คุณซูหรงซ่าง (蘇榮上) เลขาธิการชุมชนซ่างหลิน ตัดผมสั้นเกรียน เวลายิ้มเหมือนเด็กขี้อาย ระหว่างการสัมภาษณ์ เขามักจะมองไปทางอ่างเก็บน้ำซึ่งอยู่ไกลออกไปด้วยท่าทีครุ่นคิด สักพักนึงก็ยิ้มออกมาแล้วเล่าเรื่องบ้าๆ บอๆ ในวัยเด็กที่เขากับเพื่อนสนิทกลุ่มหนึ่งไปไล่ตีนกพิราบกันแถวนั้น แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ในใจของเขามาโดยตลอดก็คือ กังวลว่าอ่างเก็บน้ำซึ่งเป็นสถานที่แห่งความทรงจำอันงดงามในวัยเด็กของเขาจะถูกทำลาย
เขาพูดด้วยอารมณ์เศร้านิดๆ ว่าอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ให้ความชุ่มชื้นแก่ชีวิตพวกเรา แต่ตอนนี้มันกำลังเผชิญกับภัยพิบัติ ถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะต้องลุกขึ้นมาปกป้องมัน
ยังดีที่เทศบาลตำบลออกมาช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เรื่องฟาร์มเลี้ยงห่านจึงจบลงอย่างสันติ ผู้ประกอบการรับปากจะยกเลิกโครงการ และร่วมมือกับชุมชนพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวแทน
จากเรื่องนี้ถือเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จของการพัฒนาชุมชนในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยเริ่มจากหน่วยลาดตระเวนแม่น้ำพบก่อนว่า มีผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงห่านยื่นขอเช่าที่ดินจึงแจ้งให้ชุมชนได้ทราบ การรวมตัวกันของชาวบ้านส่งผลให้เทศบาลตำบลให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ ซึ่งการที่หน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยทำหน้าที่เป็นคนกลางช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อหาทางจัดการปัญหา ทำให้เรื่องนี้ไม่เพียงกลายเป็นการปกป้องสปิริตของสโลว์ซิตี้เท่านั้น แต่ยังเป็นความสำเร็จอีกครั้งของการสื่อสารกันระหว่างภาครัฐกับประชาชน
พบเห็นทัศนียภาพที่สวยงามตามสถานที่เล็กๆ
การไปพักที่เหอเล่อจวี (禾樂居) โฮมสเตย์ที่ชุมชนซานเจี่ยว จะสามารถสัมผัสกับจังหวะชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นได้ดีที่สุด เจ้าของและผู้บริหารโฮมสเตย์แห่งนี้คือทนายหลิวโจ่งอี้
(劉炯意) กับคุณครูเซี่ยหยวนหลิง (謝媛玲) ผู้เป็นภรรยา ทั้งคู่ยังเป็นผู้นำการพัฒนาชุมชนของตำบลต้าหลินด้วย
นักท่องเที่ยวจะได้ทำอาหารเช้ารับประทานเอง (DIY) ทางโฮมสเตย์เลี้ยงไก่เอาไว้ นักท่องเที่ยวสามารถไปเก็บไข่ที่เพิ่งออกมาจากแม่ไก่ใหม่ๆ ในตอนเช้าเพื่อมาทำไข่ต้มได้ ในท้องนามีผักที่ปลูกเอาไว้ ต้องไปเด็ดเอง เถ้าแก่เนี้ยจะเป็นผู้เตรียมผลไม้ตามฤดูกาลไว้ให้ ได้รับประทานอาหารเช้าที่แสนจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ สดใหม่จากฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร ถือเป็นสปิริตที่แท้จริงของ Slow food
ภายในโฮมสเตย์ไม่มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เพราะหน้าร้อนช่วงกลางคืนจะมีลมเย็นๆ พัดมาช่วยให้คุณหลับได้อย่างเป็นสุข อีกทั้งเสียงจักจั่นที่ร้องประสานเสียงกันอยู่นอกหน้าต่าง ยังช่วยขับกล่อมให้คุณเข้าสู่ห้วง
นิทรารมณ์ ตื่นขึ้นมาในตอนเช้าจะมองเห็นเงาของป่าไผ่ด้านนอกหน้าต่างสะท้อนอยู่บนม่านหน้าต่าง สวยงามราวกับภาพวาด
ช่วงกลางคืนติดตามคุณหลิวอี้ชาง (劉易錩) จากสมาคมพัฒนา
วัฒนธรรมเป่ยซื่อไปตามหากบต้นไม้จูหลัว เดินไปตามทางเล็กๆ ในชนบท ได้พบเจอหิ่งห้อยที่ทอแสงระยิบระยับราวกับดวงดาวกำลังเต้นระบำด้วยความบังเอิญ
กบต้นไม้จูหลัว เป็นสัตว์ที่มีเฉพาะในไต้หวัน เนื่องจากพบครั้งแรกที่เมืองเจียยี่ จึงถูกตั้งชื่อตามชื่อเดิมของเมืองเจียยี่ว่า จูหลัว
(諸羅) แต่คนท้องถิ่นให้สมญานามมันว่า เจ้าเขียวน้อย กบต้นไม้จูหลัวเลือกสภาพแวดล้อมมาก แต่ที่ตำบลต้าหลินเกือบทุกชุมชนสามารถพบเห็นร่องรอยของพวกมันได้ไม่ยาก แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของต้าหลินได้เป็นอย่างดี
การค้นหากบต้นไม้จูหลัวต้องตามเสียงร้องของมันไป แล้วจะพบที่ซ่อนตัวของมัน ท่ามกลางความเงียบสงัด ทันใดนั้นก็มีเสียงร้องของกบดังขึ้น ส่องไฟตามทิศทางของเสียงไปก็จะเห็นลำตัวสีเหลืองอมเขียวอ่อนของกบต้นไม้จูหลัวเกาะอยู่บนต้นไผ่ น่ารักจริงๆ กล่องเสียงที่ลำคอโป่งพองขึ้นเหมือนกำลังเป่าลูกโป่ง น่ารักน่าชังซะนี่กระไร
เฮียหลิวอี้ชางบอกว่า อยากเห็นกบต้นไม้จูหลัวต้องไม่กลัวการลุยโคลน เดินลุยเข้าไปในป่าไผ่ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมันจึงจะมีโอกาสได้เห็นกบต้นไม้จูหลัวที่น่ารัก ต้องรอคอยอย่างเงียบๆ จึงจะสามารถเก็บภาพความน่ารักของกบต้นไม
้จูหลัวที่กำลังส่งเสียงร้องลำคอโป่งพองได้สมใจหมาย
ก็เหมือนกับที่ตำบลต้าหลิน เมืองเจียยี่ ซึ่งต้องการให้ผู้คนลดจังหวะชีวิตให้ช้าลง เที่ยวอย่างช้าๆ เที่ยวอย่างสบายๆ หรือหยุดพักและลองใช้ชีวิตอยู่ที่นี่สักระยะจึงจะมองเห็นความงามที่ไม่ธรรมดา เหมือนดั่งชีวิตของคนเรา ต้องช้าๆ จึงจะได้พร้าเล่มงาม