การบรรจบพบกันของตะวันตกกับตะวันออก
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านจีนวิทยาระหว่างประเทศ
เนื้อเรื่อง‧หวงสูจือ ภาพ‧หลินหมินเซวียน แปล‧อัญชัน ทรงพุทธิ์
มิถุนายน 2019
台北市中山南路與信義路口,佇立著一棟黑色建築物,對面的中正紀念堂經常人聲鼎沸,這棟建物卻總是安靜優雅,其實,裡面典藏著國民政府建立以來所搜羅的傳世古籍,近年更擔負起漢學國際學術交流之重責,宛如帶著神秘氣息的黑色珍珠,蘊藏無價的思想與文化寶藏。
ณ มุมหนึ่งของสี่แยกถนนจงซานหนานตัดกับถนนซิ่นอี้ ใจกลางกรุงไทเป มีอาคารสีดำสง่างามหลังหนึ่งตั้งตระหง่านอยู่อย่างเงียบสงบ ต่างจากอนุสรณ์สถานเจียงไคเช็ค (Chiang Kai-shek Memorial Hall) ที่ตั้งอยู่ตรงกันข้ามซึ่งมีเสียงจอแจของผู้คนอยู่ตลอดเวลา ใครจะคิดว่าในอาคารสีดำทะมึนหลังนี้คือสถานที่เก็บรักษาหนังสือโบราณมากมายที่รัฐบาลสาธารณรัฐจีนรวบรวมมาจากสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งประเทศเป็นต้นมา และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถานที่แห่งนี้ยังมีภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งก็คือ เป็นศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านจีนวิทยาระหว่างประเทศ ทำให้อาคารหลังนี้ซึ่งเปรียบเสมือนไข่มุกสีดำล้ำค่าและดูลึกลับ กลายเป็นขุมทรัพย์แห่งแนวคิดทางปรัชญาและวัฒนธรรมที่ประเมินค่าไม่ได้
สั่งสมประสบการณ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับนานาประเทศนานกว่า 7 ทศวรรษ
ที่นี่คือหอสมุดแห่งชาติ (National Central Library : NCL) หน่วยงานต้นสังกัดของหอสมุดทั่วไต้หวัน ทำหน้าที่จัดพิมพ์เอกสารและสิ่งพิมพ์ต่างๆ ของสาธารณรัฐจีน รวมทั้งติดต่อแลกเปลี่ยนกับนานาชาติ ตั้งแต่ปีค.ศ.1944 นับได้ว่ามีประสบการณ์ด้านการติดต่อแลกเปลี่ยนกับนานาประเทศมานานกว่า 7 ทศวรรษ นอกจากนี้ยังเก็บรวบรวมและแลกเปลี่ยนสิ่งพิมพ์กับหอสมุดแห่งชาติ หอสมุดมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาควิชาการ องค์การระหว่างประเทศ และศูนย์จีนวิทยา 606 แห่ง จาก 87 ประเทศทั่วโลก
ในปีค.ศ.1989 หอสมุดแห่งชาติได้จัดตั้งทุนการศึกษาสำหรับนักวิชาการต่างชาติภายใต้ชื่อ Research Grant Program for Foreign Scholars in Chinese Studies ซึ่งมีศาสตราจารย์และนักศึกษาต่างชาติระดับปริญญาเอกกว่า 450 คนจาก 44 ประเทศ เดินทางมาศึกษาวิจัยในไต้หวัน และยังได้รับมอบหมายจากกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้จัดตั้งและบริหารจัดการ Taiwan Fellowship ตั้งแต่ปีค.ศ.2010 เป็นต้นมา ได้ให้ทุนสนับสนุนนักวิจัยต่างชาติแล้ว 807 คนจาก 74 ประเทศ
จากประสบการณ์ด้านการติดต่อแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศที่สมบูรณ์พรั่งพร้อม ทำให้ในปีค.ศ.2011 หอสมุดแห่งชาติได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้ง Resource Point ในต่างประเทศ โดยขณะนั้นรัฐบาลสาธารณรัฐจีนมีความประสงค์ที่จะจัดตั้ง Taiwan Academy ให้เป็น Resource Point ในต่างประเทศเพื่อทำหน้าที่เผยแพร่วัฒนธรรมจีนที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของไต้หวันให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้นในสากล
เชื้อไฟแห่งการถ่ายทอดวัฒนธรรม
ทำไมต้องจัดตั้ง Resource Point หรือ Taiwan Academy ในต่างประเทศ?
หลังการเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม ปีค.ศ.1919 (五四運動) กระแสตะวันตกโหมกระพือรุนแรงในประเทศจีน จนแทบจะเรียกได้ว่า อ้าแขนรับทุกอย่างจากโลกตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น ประชาธิปไตย วิทยาศาสตร์ วรรณกรรม หรือแม้กระทั่งศิลปะ แต่หารู้ไม่ว่า ความศิวิไลซ์ก็เหมือนกับสิ่งมีชีวิตล้วนต้องผสมผสานและหลอมรวมกันกับหลากหลายสิ่ง จึงจะก่อให้เกิดแรงบันดาลใจเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่หรือบ่มเพาะชีวิตใหม่ อันเป็นวัฏจักรของสรรพสิ่งที่ต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา
วัฒนธรรมก็เช่นเดียวกัน Kristofer Marinus Schipper นักจีนวิทยาชาวสวีเดน เคยกล่าวไว้ว่า “วัฒนธรรมนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยน การแลกเปลี่ยนทำให้ก่อเกิดวัฒนธรรม”
เมื่อ 200-300 ปีก่อน หรือราวปลายยุคราชวงศ์หมิงและต้นราชวงศ์ชิง เคยเกิดกระแสความนิยมจีนในยุโรป มิชชันนารีชาวตะวันตก อาทิ Matteo Ricci, Johann Adam Schall von Bell และ Flemish Ferdinand ซึ่งเคยเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาในประเทศจีน เนื่องจากพูดภาษาจีนได้คล่องแคล่วจึงเข้าไปมีบทบาทในราชสำนักซึ่งเป็นศูนย์รวมอำนาจของจีน มีการติดต่อแลกเปลี่ยนกับบรรดาเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ของจีนบ่อยครั้ง มิชชันนารีเหล่านี้ได้นำเทคโนโลยีตะวันตกเข้าสู่ประเทศจีน ขณะเดียวกันก็ได้นำคัมภีร์ปรัชญาของจีน อาทิ คัมภีร์หลุนอวี่ของขงจื๊อ (The Analects of Confucius) และคัมภีร์เต้าเต๋อจิงของเล่าจื๊อ ไปเผยแพร่ในวงสังคมชั้นสูงและหมู่ปัญญาชนในยุโรปด้วย
สำหรับคำว่า “จีนวิทยา” หรือในที่นี้หมายถึง “วัฒนธรรมจีนที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของไต้หวัน” แท้ที่จริงแล้ว ไม่ได้เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลของชาวจีนเท่านั้น ก็เหมือนกับวัฒนธรรมตะวันตกที่เป็นขุมทรัพย์แห่งวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติ การติดต่อแลกเปลี่ยนระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออกที่เป็นไปอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา กระตุ้นให้ผู้คนปฏิรูปแนวคิดเก่าๆ ที่แข็งกระด้างไร้ความยืดหยุ่น โดยหวังว่าจะสามารถนำมาใช้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว และดูเหมือนจะมีความสำคัญมากขึ้นในภาวการณ์ปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤต “การใช้ AI แทนแรงงานมนุษย์” การก้าวออกจากเกาะกลางทะเลเดินไปสู่เวทีโลก ภารกิจการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้าน “จีนวิทยา” สู่นานาชาติ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง
ความได้เปรียบทางวัฒนธรรมที่ประเมินค่าไม่ได้
ตลอดช่วงเวลานับครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นยุคสงครามเย็น เนื่องจากเหตุผลทางการเมือง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาได้เกิดกระแสความนิยมศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประเทศจีน ทำให้การศึกษาด้านจีนวิทยาจากเดิมที่เป็นการศึกษาวิจัยคัมภีร์หรือปรัชญาจีนโบราณ ขยายขอบเขตออกไปสู่การวิจัยเกี่ยวกับประเทศจีนและในระดับภูมิภาค ประกอบกับการผงาดขึ้นของเศรษฐกิจจีนในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้จีนวิทยาหรือจีนศึกษากลายเป็นการวิจัยข้ามศาสตร์ที่ร้อนแรงที่สุดก็ว่าได้
หลังจีนดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศในปีค.ศ.1980 นักวิจัยจำนวนมากเดินทางไปศึกษาวิจัยที่ประเทศจีน ส่งผลให้ไต้หวันที่เคยมีบทบาทสำคัญในด้านการศึกษาวัฒนธรรมจีนแบบดั้งเดิมถูกเบียดตกขอบไปโดยปริยาย
กระนั้นก็ตาม ในการติดต่อแลกเปลี่ยนกันระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกกับตะวันออก ไต้หวันยังคงมีความได้เปรียบและมีบทบาทสำคัญที่ยากจะถูกทดแทน ไต้หวันยังใช้ตัวอักษรจีนแบบดั้งเดิม เก็บรักษาคัมภีร์เก่าแก่และวัตถุโบราณเอาไว้มากมาย มีเสรีภาพด้านการแสดงความคิดเห็นและตีพิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบ รวมถึงกล้าท้าทายอำนาจเผด็จการ หากไม่นำสิ่งล้ำค่าเหล่านี้ขึ้นสู่เวทีโลก ก็จะเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ทั้งต่อไต้หวันเองและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออก ตลอดจนการพัฒนาของโลกด้วย
เปิดศูนย์ข้อมูลด้านจีนวิทยา 31 แห่งภายในเวลา 6 ปี
แม้หลังจากปีค.ศ.2011 ไม่มีการจัดตั้ง Taiwan Academy เพิ่มขึ้น แต่คุณเจิงสูเสียน (曾淑賢) ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติตระหนักถึงความสำคัญของการผลักดันองค์ความรู้ด้านจีนวิทยาของไต้หวันสู่เวทีโลก จึงได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลด้านจีนวิทยาไต้หวัน (Taiwan Resource Center for Chinese Studies, TRCCS) ในต่างประเทศ ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยอาศัยประสบการณ์ด้านการติดต่อแลกเปลี่ยนสิ่งพิมพ์ระหว่างประเทศมาเป็นพื้นฐาน อีกทั้งเป็นการต่อยอดแนวคิด “การเผยแพร่วัฒนธรรมจีนที่มีอัตลักษณ์ของไต้หวันสู่นานาชาติ” ที่เธอเป็นผู้เสนอขึ้นเมื่อครั้งเข้ารับหน้าที่บริหารหอสมุดแห่งชาติ
หลังทำพิธีเปิดป้าย TRCCS แห่งแรกที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส วิทยาลัยเขตออสติน (University of Texas at Austin) ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ.2012 คุณเจิงสูเสียนนำพาทีมงานจากหอสมุดแห่งชาติและทรัพยากรที่มีอยู่ หอบประสบการณ์ที่พรั่งพร้อมสมบูรณ์ในด้านการเก็บรักษาหนังสือโบราณและสิ่งพิมพ์ไต้หวัน ตระเวนปักหมุดจัดตั้ง TRCCS ในทวีปยุโรป เอเชีย อเมริกา และโอเชียเนีย
ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา นักรบวัฒนธรรมกลุ่มนี้กระตือรือร้นหาทางร่วมมือกับนักวิชาการต่างชาติ พร้อมประสานกับเจ้าหน้าที่การทูตไต้หวันในต่างประเทศ จนประสบความสำเร็จในการจัดตั้ง TRCCS ขึ้น 31 แห่งทั่วโลก
แปลงคัมภีร์จีนโบราณให้เป็นรูปแบบดิจิทัลและจัดแสดงระดับนานาชาติ
นอกจากก้าวออกจากเกาะไต้หวันไปจัดตั้ง TRCCS ในต่างประเทศแล้ว หอสมุดแห่งชาติยังขานรับกระแสการพัฒนาทรัพยากรสู่ระบบดิจิทัล ด้วยการจัดตั้งระบบการจัดแสดงหนังสือโบราณในรูปแบบดิจิทัลเพื่อแบ่งปันทรัพยากรทางบรรณานุกรมให้แก่หน่วยงานเก็บรักษาหนังสือโบราณทั่วโลก ซึ่งจะช่วยให้นักวิจัยทั่วทุกมุมโลกสามารถสืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวกับจีนวิทยาจากหนังสือโบราณเหล่านี้ได้
ในช่วงประวัติศาสตร์จีนยุคใกล้ คัมภีร์และต้นฉบับตำราเก่าแก่มากมายไหลทะลักออกสู่ต่างประเทศ ทั้งจากการปล้นสะดมหรือกวาดซื้อด้วยเงินจำนวนมหาศาล จากการสำรวจของวงการจีนวิทยาพบว่า คัมภีร์หรือหนังสือจีนโบราณในต่างประเทศมีมากกว่า 3 ล้านเล่ม การที่หนังสือโบราณกระจัดกระจายออกไปทั่วโลกเช่นนี้ นอกจากส่งผลกระทบต่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการแล้ว ยังเป็นผลเสียอย่างใหญ่หลวงต่อความเชื่อมั่นของชนชาติ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงทศวรรษ 1920-1930 Marc Aurel Stein นักผจญภัยชาวอังกฤษ เดินทางเข้าไปยังภูมิภาคเอเชียกลางเพื่อขนคัมภีร์โบราณจากถ้ำตุนหวงกลับไปจำนวนมาก ทำให้ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการศึกษาวิจัยถ้ำตุนหวงไม่ใช่นักวิชาการชาวจีนแต่เป็นนักจีนวิทยาชาวยุโรป จนทำให้เฉินหยินเค่อ (陳寅恪) นักวิชาการจีน เคยกล่าวประชดประชันว่า “ถ้ำตุนหวงอยู่ในเมืองจีน แต่การศึกษาวิจัยตุนหวงอยู่ในต่างประเทศ”
การที่หอสมุดแห่งชาติของไต้หวันถูกเลือกให้เป็นหุ้นส่วนสำคัญของโครงการ International Book-exchange คุณเจิงสูเสียนกล่าวว่า “สาเหตุสำคัญมาจากต้นฉบับตำราและคัมภีร์จีนโบราณที่ถูกเก็บรวบรวมไว้ในหอสมุดแห่งชาตินั่นเอง” เธอยังอธิบายอีกว่า ต้นฉบับตำราและคัมภีร์โบราณเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในทางประวัติศาสตร์ โดยถูกขนย้ายหนีไฟสงครามกลางเมืองมาพร้อมกับรัฐบาลสาธารณรัฐจีน จากฉงชิ่งไปยังเฉิงตู และท้ายที่สุดเข้ามาปักหลักอยู่ในไต้หวัน คุณถังเซินหรง (唐申蓉) เลขานุการผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติเล่าว่า “เคยได้ยินเจ้าหน้าที่อาวุโสของหอสมุดแห่งชาติเล่าถึงประสบการณ์ระทึกขวัญในการเข้าร่วมภารกิจขนย้ายหนังสือโบราณเหล่านี้ แทบต้องเอาชีวิตเข้าแลกเลยทีเดียว”
หอสมุดทั่วโลก 80 แห่ง มอบอำนาจ ให้ดำเนินการด้านดิจิทัล
หอสมุดแห่งชาติได้จัดตั้งคณะทำงานข้ามภาคส่วนเพื่อประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในองค์กรเพื่อร่วมกันพัฒนาการเก็บรักษาหนังสือ การบริหารด้านบรรณานุกรม การบริหารข้อมูลพิเศษ การพัฒนาระบบดิจิทัล ความร่วมมือระหว่างประเทศ และศูนย์จีนวิทยา เป็นต้น โดยขั้นตอนแรกคือการแปลงหนังสือโบราณให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล และต่อมาในปีค.ศ.2008 ได้เข้าร่วม โครงการหอสมุดดิจิทัลแห่งโลก (World Digital Library) ด้วยการอัพโหลดข้อมูลภาพของหนังสือโบราณ 160 เล่ม อีกทั้งยังได้เข้าร่วมโครงการ International Dunhuang Project ในปีค.ศ.2013 ด้วยการอัพโหลดข้อมูลภาพพระไตรปิฎกจากถ้ำตุนหวงและคำอธิบายรวม 141 เล่ม โดยไต้หวันเป็นประเทศเดียวที่เข้าร่วมโครงการห้องสมุดดิจิทัลระดับโลกที่สำคัญถึง 2 โครงการ
ระหว่างที่เข้าร่วมโครงการหอสมุดดิจิทัลระดับโลก หอสมุดแห่งชาติไต้หวันได้รับมอบหมายจากห้องสมุดทั่วโลก 80 แห่ง ให้เป็นผู้จัดทำหนังสือโบราณกว่า 7.3 แสนเล่มจากทั่วโลกให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล
ในอนาคตอีกไม่นานข้างหน้านี้ คำพยากรณ์ของคุณเฉียนมู่(錢穆) นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ลัทธิขงจื๊อและการศึกษา ที่เคยกล่าวไว้ในผลงานชื่อ Essays on History and Culture (歷史文化論叢) ว่า “วัฒนธรรมใหม่ของมวลมนุษยชาติในอนาคต เกิดจากการบรรจบพบกันของวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมตะวันออก” อาจจะกลายเป็นจริงขึ้นมาก็ได้ ใครจะรู้!