ชนพื้นเมืองไต้หวัน-ฟิลิปปินส์
จูงมือก้าวสู่โลกกว้างด้วยกัน
เนื้อเรื่อง‧เติ้งหุ้ยฉุน ภาพ‧หลินเก๋อลี่ แปล‧เจนนรี ตันตารา
กุมภาพันธ์ 2025

นาขั้นบันไดบนหุบเขาอิฟูเกาในฟิลิปปินส์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม จาก องค์กรยูเนสโก ทีมงานจากไต้หวันกับฟิลิปปินส์เดินทางมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ยังสถานที่แห่งนี้ เพื่อสื่อสารกับนานาชาติ (ภาพจาก หยางเสี่ยวลั่ว)
ไต้หวันกับฟิลิปปินส์มีสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง สามารถสืบย้อนกลับไปถึงยุคการอพยพของกลุ่มชน ที่พูดภาษาตระกูลออสโตรนีเซียน หลักฐานทางโบราณคดีในอดีต ได้เสนอแนวคิดเรื่องไต้หวัน เป็นแหล่งกำเนิดภาษาตระกูลออสโตรนีเซียน นักวิชาการค้นพบเส้นทางการอพยพของกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งเริ่มต้นจากไต้หวัน โดยออกเดินทางไปยังหมู่เกาะฟิลิปปินส์ก่อน แล้วมุ่งหน้าลงใต้ไปยังบริเวณเกาะบอร์เนียว จากนั้นจึงแยกเป็นสองเส้นทาง ทางทิศตะวันออกมุ่งสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนทางทิศตะวันตกมุ่งไปยังมหาสมุทรอินเดีย
จากเส้นทางการอพยพ จะพบว่าชนพื้นเมืองไต้หวันกับฟิลิปปินส์ มีความเกี่ยวพันกันมาตั้งแต่ยุคโบราณ และยังมีความคล้ายคลึงกันทางวัฒนธรรม พวกเขาซึ่งต่างถือเป็นเจ้าของดินแดนเดิม แต่กลับต้องเผชิญกับความผันผวนทางประวัติศาสตร์ จากการถูกรุกรานกดขี่โดยกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเช่นเดียวกัน ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของชนพื้นเมืองทั้งสองดินแดน ล้วนเริ่มต้นขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 หลังเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ประเด็นการฟื้นฟูวัฒนธรรมยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มชนพื้นเมืองข้ามพรมแดน จึงมีความหมายมากยิ่งขึ้นในยุคปัจจุบัน

ฟิลิปปินส์กับไต้หวันเป็นประเทศเกาะเหมือนกัน แต่กลับมีการพัฒนารูปแบบและทักษะการทอผ้าที่มีเอกลักษณ์ต่างกัน โดยทั้งสองฝ่ายต่างก็มีความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมดั้งเดิม (ภาพจาก พิลิน ยาบู)
มนุษย์คือหัวใจสำคัญ
บนหน้าเพจเฟซบุ๊กของอาจารย์กวนต้าเหว่ย (官大偉) ผู้อำนวยการภาควิชาชาติพันธุ์วิทยา มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ (National Chengchi University: NCCU) เต็มไปด้วยข้อมูลเกี่ยวกับการเสวนา การบรรยายและสัมมนาต่าง ๆ ที่เน้นเรื่องชนพื้นเมืองดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คุณจะพบว่าการศึกษาวิจัยทางด้านชนพื้นเมือง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแวดวงวิชาการ มีความหลากหลายและสมบูรณ์อย่างน่าประหลาดใจ ทั้งงานวิจัยในระดับท้องถิ่น และงานวิจัยที่เชื่อมโยงไปถึงระดับสากล
มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อดำเนินการวิจัยในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน และเริ่มเห็นผลคืบหน้าบางอย่างในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยในปี ค.ศ. 2015 ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (University of California, Los Angeles-UCLA) เปิดสอนหลักสูตรการสำรวจภาคสนามที่จังหวัดอิฟูเกา (Ifugao) ประเทศฟิลิปปินส์ ในปี ค.ศ. 2016 ได้ก่อตั้งศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Center for Southeast Asian Studies) และในปี ค.ศ. 2018 ภายใต้การสนับสนุนจากคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไต้หวัน (National Semiconductor Technology Center-NSTC) ได้ดำเนินโครงการจัดตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาองค์ความรู้ชนพื้นเมือง ความรู้ท้องถิ่นและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างไต้หวัน-ฟิลิปปินส์” หรือศูนย์ CTPILS (Science and Technology Innovation Center for Taiwan–Philippines Indigenous Knowledge, Local Knowledge and Sustainable Studies) เพื่อเชื่อมโยงทรัพยากรระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์ ซึ่งไต้หวันกับจังหวัดอิฟูเกาในฟิลิปปินส์ ทยอยสร้างความสัมพันธ์ที่ไว้วางใจต่อกันมากขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายได้จัดตั้งฐานการวิจัยภาคสนามในเขตพื้นที่ของตน ฟิลิปปินส์อยู่ที่จังหวัดอิฟูเกา ส่วนไต้หวันอยู่ที่หมู่บ้านหวนซาน ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชนเผ่าไท่หย่า
ในปี ค.ศ. 2019 มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อได้จัดตั้ง “สำนักงานของศูนย์ CTPILS” ในมหาวิทยาลัยอิฟูเกา วิทยาเขต Lamut ของฟิลิปปินส์ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งสองฝ่ายยังคงพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผ่านการประชุมทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จัดการสัมมนาออนไลน์ เพื่อทำการวิจัยเชิงเปรียบเทียบระหว่างประเทศ เกี่ยวกับองค์ความรู้ของชนพื้นเมืองข้ามพรมแดนและความรู้ท้องถิ่น
อาจารย์กวนต้าเหว่ย ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโครงการ ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาโครงการนี้ว่า มีรากฐานมาจาก “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” โดยเขาเล่าว่า “นโยบายมุ่งใต้ใหม่เชื่อว่า การสร้างความสัมพันธ์กับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องสร้างขึ้นบนพื้นฐานของความเชื่อมโยงทางสังคมวัฒนธรรมที่ลึกซึ้ง และการสร้างมิตรภาพอย่างแท้จริง จึงจะช่วยทำให้ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจและการค้ามั่นคงยิ่งขึ้น”

มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อของไต้หวันได้จัดตั้งสำนักงาน “ศูนย์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อศึกษาองค์ความรู้ชนพื้นเมือง ความรู้ท้องถิ่นและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างไต้หวัน-ฟิลิปปินส์” ที่วิทยาเขต Lamut ในมหาวิทยาลัยอิฟูเกาของฟิลิปปินส์ (ภาพจาก กวนต้าเหว่ย)
ปัญหาที่เผชิญร่วมกัน
อาจารย์กวนต้าเหว่ยอธิบายว่า “ชนพื้นเมืองในพื้นที่ภูเขาของไต้หวันและฟิลิปปินส์ มีจุดร่วมที่เหมือนกันในกระบวนการทางประวัติศาสตร์ พวกเขาล้วนเป็นพื้นที่สุดท้ายที่ถูกรุกรานจากประเทศล่าอาณานิคม” โดยพื้นที่ภูเขาของไต้หวันถูกรัฐบาลญี่ปุ่นใช้กำลังทหารบุกเข้ารุกราน และยึดพื้นที่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ทางด้านฟิลิปปินส์ถึงแม้ว่าจะกลายเป็นอาณานิคมของสเปนตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 1565 แต่อำนาจของประเทศเจ้าอาณานิคม ยังไม่ได้แผ่ขยายครอบคลุมทั่วทั้งดินแดน ตัวอย่างเช่น พื้นที่ภูเขาคอร์ดิลเยราในจังหวัดอิฟูเกาที่อยู่ทางตอนเหนือของเกาะลูซอน ยังคงเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้รับความสนใจจากการปกครองจากส่วนกลางมากนัก จนกระทั่งปี ค.ศ. 1898 หลังจากที่สเปนส่งมอบฟิลิปปินส์ให้แก่สหรัฐอเมริกา สหรัฐฯ ได้จัดระบบการศึกษาทั่วประเทศฟิลิปปินส์ ทำให้อำนาจการปกครองของเจ้าอาณานิคมจากตะวันตก เริ่มเข้าไปมีบทบาทในพื้นที่ภูเขาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และส่งอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของชนเผ่าพื้นเมืองท้องถิ่น
ด้วยภูมิหลังที่คล้ายคลึงกัน ชนพื้นเมืองของทั้งสองพื้นที่ต่างต้องเผชิญกับประเด็นต่าง ๆ ตามบริบทประเทศของตน อาทิ การปรับตัวเพื่ออนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม ให้เข้ากับการพัฒนาสมัยใหม่ อิทธิพลของอำนาจทางการตลาด (Market Forces) หรือแม้แต่ประเด็นเรื่องรัฐชาติและชาติพันธุ์ เป็นต้น
เมื่อปี ค.ศ. 2023 อู๋อี๋จิ่น (吳宜瑾) เพิ่งเรียนจบปริญญาเอกสาขาวิชาพัฒนศึกษา จากมหาวิทยาลัยซัสเซกซ์ในประเทศอังกฤษ วิทยานิพนธ์ของเธอเป็นการศึกษาวิจัยประเด็นเรื่อง องค์ความรู้ดั้งเดิมของชนเผ่าพื้นเมืองกับอารยธรรมสมัยใหม่ มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างไร ด้วยเหตุนี้ เธอจึงเดินทางไปอาศัยอยู่ที่จังหวัดอิฟูเกาหนึ่งปี เพื่อทำการศึกษาว่า ชนพื้นเมืองนำความรู้ดั้งเดิมมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร? ความรู้ดั้งเดิมกับวัฒนธรรมสมัยใหม่มีการผสมกลมกลืน หรือเกิดการขัดแย้งกันอย่างไร? ยกตัวอย่างเช่น การนำความรู้ดั้งเดิม มาปรับใช้ในการทำเกษตร การทอผ้าและทางการแพทย์ เนื่องจากการเกษตรและการทอผ้า ถูกมองว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ จึงได้รับการอนุรักษ์ไว้ แต่ในทางกลับกัน ด้วยความที่ชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก การรักษาโรคผ่านพิธีกรรมโดยหมอผี ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเชื่อดั้งเดิม จึงถูกมองในแง่ลบและถูกห้าม อู๋อี๋จิ่นอธิบายว่า “เหตุผลที่มรดกทางวัฒนธรรมในอิฟูเกา ได้รับการพัฒนาหรือไม่ได้รับการพัฒนา ไม่ใช่แค่รูปแบบที่มองเห็นเพียงผิวเผินเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยที่ซับซ้อนหลายประการ”
นี่เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่การศึกษาทางด้านชาติพันธุ์วิทยาให้ความสนใจ หากเปรียบเทียบกับการศึกษาด้านภาษาศาสตร์และโบราณคดีที่มุ่งค้นหาหลักฐานจากอดีตแล้ว การศึกษาทางด้านชาติพันธุ์วิทยา จะให้ความสำคัญกับการสืบค้นปัญหาและอุปสรรคหรือความยากลำบาก ที่หมู่บ้านชนเผ่าต้องเผชิญในสังคมในยุคนั้น “การศึกษาผ่านมุมมองดังกล่าว ทำให้เราไม่เพียงมองเห็นความคล้ายคลึงกันทางประวัติศาสตร์ในอดีตเท่านั้น แต่ยังพบว่าชนเผ่าพื้นเมืองของไต้หวันและฟิลิปปินส์ ต่างก้าวผ่านความท้าทายของการพัฒนาสังคมในยุคนั้น ในระหว่างการปลดปล่อยระบบอาณานิคมด้วย”

อาจารย์กวนต้าเหว่ยชี้ว่า ภายใต้กรอบนโยบายมุ่งใต้ใหม่ การแลกเปลี่ยนกับนานาชาติมุ่งเน้นไปที่การสร้างความเข้าใจต่อวัฒนธรรมและความเป็นท้องถิ่น การสร้างมิตรภาพและการเคารพซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง ความสัมพันธ์จึงจะมั่นคงและยั่งยืน
เชื่อมโยงจากไต้หวันสู่อิฟูเกา
จังหวัดอิฟูเกาตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะลูซอน ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ ดินแดนแห่งนี้สืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ท่ามกลางหุบเขาที่สูงชัน ชนพื้นเมืองที่นี่ได้ใช้ก้อนหินและดิน สร้างนาขั้นบันไดที่สามารถใช้เพาะปลูกพืชได้ สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลและกลมกลืน ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของโลกจากองค์การยูเนสโก
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 เป็นต้นมา อาจารย์กวนต้าเหว่ยได้เชิญเพื่อน ๆ ซึ่งมีภูมิหลังที่หลากหลายและแตกต่างกันจำนวนมาก เดินทางไปเยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่อิฟูเกา อาจารย์กวนต้าเหว่ยยกตัวอย่างว่า ถ้าผู้อาวุโสของชนเผ่าพื้นเมืองไปเยี่ยมชมการขุดค้นทางโบราณคดีที่อิฟูเกา แวดวงการวิชาการมักมองว่า การขุดค้นเพื่อหาหลักฐานทางโบราณคดี ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด แต่ในระหว่างการเยี่ยมชม ผู้อาวุโสเหล่านี้กลับขอให้อาจารย์กวนต้าเหว่ยช่วยแปลให้ฟังอยู่ตลอดเวลา ซักถามการกระทำดังกล่าว ได้รับความยินยอมจากชนเผ่าท้องถิ่นหรือไม่ ประสบการณ์ของผู้อาวุโส สะท้อนให้เห็นว่าแต่ละบทบาทในสังคม ล้วนมีจุดยืนและมุมมองเป็นของตัวเอง อาจารย์กวนต้าเหว่ยอธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เกิดความขัดแย้งกับความเชื่อดั้งเดิม ก็ยิ่งจำเป็นต้องมีการคิดวิเคราะห์และสื่อสารกันมากยิ่งขึ้น
ส่วนอู๋อี๋จิ่นได้แบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับความแตกต่างในการเคลื่อนไหวทางสังคม ระหว่างชนพื้นเมืองทั้งสองพื้นที่ ว่า “การพูดคุยประเด็นเรื่องชนพื้นเมืองในฟิลิปปินส์ จะมีมุมมองที่เปิดกว้างมากกว่า พวกเขาจะไม่พูดเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับชนพื้นเมืองเท่านั้น แต่จะนำเอาประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สิทธิแรงงาน สิทธิสตรี ฯลฯ มาร่วมพูดคุยด้วย ขณะที่สถานการณ์ในไต้หวัน มักจะจำกัดอยู่แค่ประเด็นทางชาติพันธุ์ ซึ่งค่อนข้างน่าเสียดาย”

พิธีเก็บเกี่ยวข้าวของชาวอิฟูเกา (Ifugao) จัดขึ้นโดยมีนักบวชของชนเผ่าสามคน (mumbaki) เป็นผู้ทำพิธี (ภาพจาก หยางเสี่ยวลั่ว)
งานวิชาการคือปฏิบัติการทางสังคม
อาจารย์กวนต้าเหว่ยชี้ให้เห็นว่า งานวิจัยเกี่ยวกับชนพื้นเมือง “จะต้องสามารถเชื่อมโยงให้เข้ากับสังคม งานวิจัยก็คือปฏิบัติการทางสังคมอย่างหนึ่งในการหาวิธีแก้ปัญหาของชุมชน” ดังนั้น ในช่วงการริเริ่มโครงการ จึงมีการออกแบบการแลกเปลี่ยนแบบทวิภาคีในสามด้าน ได้แก่ นิเวศวิทยาวัฒนธรรม (Cultural ecology) การพัฒนาสังคม (Social Development) และธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม (Environmental governance) ตัวอย่างด้านนิเวศวิทยาวัฒนธรรม ได้แก่การฟื้นฟูข้าว มุ่งเน้นไปที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ส่วนด้านการพัฒนาสังคม เน้นปัญหาว่าด้วยปัญหาที่เกิดจากการพัฒนา หลังวัฒนธรรมกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกตลาด ส่วนด้านธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ให้ความใส่ใจในประเด็นเกี่ยวกับการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาการจัดการน้ำหรือปัญหาทางนิเวศที่อาจตามมา หลังจากการฟื้นฟูนาขั้นบันได สิ่งเหล่านี้ต่างเป็นปัญหาที่ชนพื้นเมืองทั้งสองพื้นที่เผชิญร่วมกัน การแลกเปลี่ยนความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกัน จะช่วยก่อให้เกิดแรงบันดาลใจและแนวทางการปฏิบัติ

ฟิลิปปินส์ใช้การฟื้นฟูนาขั้นบันไดเพื่อแก้ปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ชาวอิฟูเกาจะจัดพิธีเฉลิมฉลอง “punnuk” ซึ่งเป็นการทำพิธีชักเย่อกลางแม่น้ำ (ภาพจาก หยางเสี่ยวลั่ว)
การพบกันของชาติพันธุ์ศึกษา
ในปี ค.ศ. 2022 พิลิน ยาบู (Pilin Yapu) มาดูงานสำรวจพื้นที่ที่อิฟูเกา ตามคำเชิญของอาจารย์กวนต้าเหว่ย เขาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนประถมศึกษาป๋ออูหม่า (P'uma Elementary School) ในนครไทจง ซึ่งเป็นโรงเรียนสาธิตชนพื้นเมืองแห่งแรกในไต้หวัน และเขายังเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มผลักดันการศึกษาเชิงทดลองทางด้านชนพื้นเมืองไต้หวันอีกด้วย
พิลิน ยาบูกล่าวว่า “ไต้หวันมีรัฐบาลทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินนโยบายทางด้านชนพื้นเมือง แต่ที่ฟิลิปปินส์ พลังผลักดันส่วนใหญ่จะมาจากท้องถิ่น และรวมตัวอยู่ในมหาวิทยาลัยเป็นหลัก” บางทีอาจจะเป็นเพราะกลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่นในฟิลิปปินส์มีความหลากหลาย จึงทำให้ไม่สามารถพัฒนาหลักสูตรเฉพาะของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ได้ ต้องพึ่งพามหาวิทยาลัยท้องถิ่น ในการพัฒนาหลักสูตรแบบโมดูล (Modules) หรือหลักสูตรชุดวิชาและแนวทางในการจัดการศึกษา โดยเชิญกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ มาเข้าร่วมฝึกอบรม วิธีการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดในการออกแบบ และพัฒนาหลักสูตรด้วยตนเองในระดับมหาวิทยาลัย การมีช่องทางในการฝึกอบรมครูที่หลากหลาย ถือเป็นจุดแข็งที่ พิลิน ยาบู สังเกตเห็น และรู้สึกว่าสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการฝึกอบรมครูในไต้หวันได้
ที่ไต้หวัน เนื่องจากมีการบัญญัติกฎหมายการศึกษาสำหรับชนพื้นเมือง แต่ละชนเผ่าจึงสามารถพัฒนาหลักสูตรเฉพาะของตนเองได้ ยกตัวอย่างชนเผ่าไท่หย่า (Atayal) พิลิน ยาบู ได้ขอคำปรึกษาจากผู้เฒ่าของชนเผ่าเกี่ยวกับปรัชญาทางการศึกษาของวัฒนธรรมชนเผ่าไท่หย่า และได้ข้อสรุปว่า “Atayal na balay Kinya lyutu na Atayan” (จงเป็นมนุษย์ที่แท้จริง เป็นบุคคลที่มีจิตวิญญาณไท่หย่า) ซึ่งยึดคติคำสอนของ GAGA บรรพบุรุษชนเผ่าไท่หย่าเป็นหัวใจสำคัญ โดยแบ่งออกเป็น 7 หมวดหลัก 26 หัวข้อ 338 หน่วยการเรียนรู้ รวมทั้งหมด 2,560 คาบ ประสบการณ์เช่นนี้ถูกนำไปแบ่งปันที่ฟิลิปปินส์ และสร้างความประหลาดใจให้ผู้คนในพื้นที่อย่างมากเช่นกัน
จากการสังเกตเนื้อหาของสื่อการสอน พิลิน ยาบูชี้ว่า สื่อการสอนของอิฟูเกา เน้นเรื่องของการสืบทอดวัฒนธรรมและงานฝีมือเป็นหลัก ในขณะที่หลักสูตรของไต้หวัน มีเนื้อหาที่รอบด้านมากกว่า ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องจิตวิญญาณของชนเผ่าไท่หย่า จักรวาลวิทยา ปรัชญา พิธีกรรมตามฤดูกาล หรือแม้กระทั่งประวัติศาสตร์ของชนเผ่า โครงสร้างทางสังคม เพลงพื้นบ้านและประวัติการอพยพย้ายถิ่นฐาน “หลักสูตรของเรามีเนื้อหาที่ครอบคลุมมากกว่า”

พิลิน ยาบู (Pilin Yapu) (ซ้าย) ได้รับเชิญให้เดินทางไปเยือนจังหวัดอิฟูเกา ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การศึกษาเชิงทดลองของชนพื้นเมืองในไต้หวัน (ภาพจาก พิลิน ยาบู)
ท้องถิ่นคือหนทางสู่สากล
ในยุคที่ทั่วโลกพูดถึงความสำคัญขององค์ความรู้ของชนพื้นเมืองดั้งเดิม ชนพื้นเมืองไต้หวันและฟิลิปปินส์ ต่างก็กำลังเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวของวัฒนธรรมดั้งเดิม ให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่ “ท้องถิ่นนิยมคือหนทางสู่ความเป็นสากล การแบ่งปันประสบการณ์ และให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่มชนพื้นเมือง จะช่วยให้ชนพื้นเมือง รับมือกับความท้าทายเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น” อาจารย์กวนต้าเหว่ยใช้ประโยคนี้ สรุปแก่นสำคัญของการแลกเปลี่ยน ระหว่างชนพื้นเมืองไต้หวันกับฟิลิปปินส์




