ภาพลักษณ์ที่เด่นชัดของการ์ตูนไต้หวัน
บอกเล่าเรื่องราวของไต้หวันไปสู่ทั่วโลก
เนื้อเรื่อง‧ซูลี่อิ่ง ภาพ‧หลินหมินเซวียน แปล‧ธีระ หยาง
มิถุนายน 2025
.jpg?w=1080&mode=crop&format=webp&quality=80)
ซูเหวยซีเป็นคนที่เมื่อพูดถึงเรื่องการ์ตูนแล้ว จะเปี่ยมด้วยความกระตือรือร้นและมีชีวิตชีวา เธอเป็น CEO ของงาน Fancy Frontier festival และเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาในการเตรียมการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การ์ตูนด้วย
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยแรงสนับสนุนจากนโยบาย “แนวทางการให้รางวัลสนับสนุนการสร้างสรรค์ และการตลาดการ์ตูนและสิ่งพิมพ์” (หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “กองทุนสนับสนุนการ์ตูน”) ของรัฐบาล ได้ส่งเสริมให้มีผลงานการ์ตูนไต้หวันมากกว่า 700 เรื่อง ออกสู่ตลาดจนถึงปัจจุบัน ขั้นตอนต่อไปที่หลายคนอยากรู้ก็คือ “อัตลักษณ์ของการ์ตูนไต้หวัน เป็นอย่างไรกันแน่?”
ในยุคที่อุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว “เว็บตูน” (Webtoon) ซึ่งเน้นการอ่านผ่านทางออนไลน์ กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการที่เนื้อหาของเรื่องราวมีความหลากหลาย และมีแพลตฟอร์มเกี่ยวกับการอ่านเกิดขึ้นมากมาย ส่งผลให้ตลาดมีแนวโน้มไปสู่การแบ่งกลุ่มผู้ชมออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ หรือแม้แต่กลุ่มตลาดเฉพาะทาง อย่างไรก็ตาม การ์ตูนไต้หวันที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลนั้น ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยข้อกำหนดที่เข้มงวดมากนัก ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้
.jpg?w=1080&mode=crop&format=webp&quality=80)
เปิดรับความหลากหลาย ค้นหาเอกลักษณ์ของตนเอง
หากพิจารณาจากผลงานที่ได้รับรางวัลการ์ตูนทองคำ (Golden Comic Awards - GCA) จะเห็นได้ว่า “ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ผลงานที่ได้รับรางวัลมักสร้างความประหลาดใจให้แก่วงการ” ตามที่ ซูเหวยซี (蘇微希) ประธานสมาคมส่งเสริม อนิเมะและมังงะไต้หวัน กล่าวไว้ ตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 2019 ผลงานเรื่องริบบิ้นสีชมพู (粉紅緞帶 - Pink Ribbon) ซึ่งเป็นการ์ตูนแนว Girls' Love (GL) หรือ ยูริ ที่เป็นแนวหญิง-หญิง ปี ค.ศ. 2020 ก็มีผลงานเรื่องวังวนแห่งเวลา (時渦 - Time Swirl) ที่โดดเด่นด้วยลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ ส่วนในปี ค.ศ. 2021 คือผลงานเรื่องร้านหนังสือที่ซ่อนสิงโตเอาไว้ (The Lion in the Manga Library) ซึ่งนำเสนอเนื้อหาแตกต่างจากการ์ตูนแนวตลาดแบบดั้งเดิม
นอกจากนี้ ในปี ค.ศ. 2022 ผลงานเรื่องสายสัมพันธ์ของคำสาปแห่งดวงดาว (星咒之絆) หรือในชื่อภาษาอังกฤษ The Witch and the Bull ซึ่งเป็น Webtoon ที่ตีพิมพ์บนแพลตฟอร์ม LINE Webtoon ได้รับรางวัลการ์ตูนยอดเยี่ยมประจำปี ถือเป็นการทำลายธรรมเนียมแบบเดิม ๆ ที่เน้นแต่การ์ตูนบนหน้ากระดาษ และในปีเดียวกัน การ์ตูนเรื่องตำนานบุปผาพิศวง (綺譚花物語 - Fantastic Tales of Splendid Blossoms) ซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายอิงประวัติศาสตร์แนวยูริ ก็คว้ารางวัลการ์ตูนแห่งปีด้วยเช่นกัน สำหรับในปี ค.ศ. 2023 หลิ่วก่วงเฉิง (柳廣成) นักวาดการ์ตูนจากฮ่องกง ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลจากผลงานเรื่องกระถางธูปที่เป๋ยกั่ง ใครก็ปักได้ (北港香爐人人插 - The Incense Burner of Lust) ซึ่งตีพิมพ์ในไต้หวัน ถือเป็นครั้งแรกที่ศิลปินต่างชาติ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนี้ ซูเหวยซี กล่าวอย่างมั่นใจว่า “ระดับของการเปิดกว้างและการยอมรับ มีการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงท่าทีที่เปิดกว้างของภาครัฐ ซึ่งไม่ได้กำหนดว่าการ์ตูนที่ดี ควรเป็นอย่างไร”

ผลงานเรื่อง The Witch and the Bull ซึ่งได้รับรางวัล Grand Prize จาก Gold Comic Awards ในปี ค.ศ. 2022 ได้ทำลายธรรมเนียมเดิม ที่รางวัลมักมอบให้กับการ์ตูนแบบจัดพิมพ์เพียงอย่างเดียว (ภาพจาก LINE WEBTOON)
ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งกล่อง
แล้ว “การ์ตูนที่ดี” ควรเป็นอย่างไร?
ซูเหวยซี มองว่าวิธีตัดสินที่ดีที่สุดคือ ปล่อยให้ตลาด รางวัลระดับนานาชาติ และการขายลิขสิทธิ์ไปยังต่างประเทศ เป็นตัวชี้วัด ซึ่งจากความพยายามในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าการ์ตูนไต้หวันไม่ได้เป็นที่รู้จักแค่ในไต้หวันเท่านั้น แต่ยังได้รับความสนใจจากต่างชาติอีกด้วย
หวงเจี้ยนเหอ (黃健和) บรรณาธิการบริหารของสำนักพิมพ์ต้าล่า (Dala Publishing) ได้เสนอเกณฑ์ที่ใช้วัดความสำเร็จของการ์ตูนไต้หวันไว้ดังนี้ :
ประการแรก คือรางวัลการ์ตูนนานาชาติ ซึ่งจัดโดยกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น สำหรับนักวาดการ์ตูนที่ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่น ก่อนปี ค.ศ. 2011 แม้ว่าจะมีนักวาดการ์ตูนชาวไต้หวันเข้าร่วมในฐานะนักวาดอิสระ แต่โอกาสได้รับรางวัลยังค่อนข้างน้อย และส่วนใหญ่ได้รับเพียงรางวัลชมเชยเท่านั้น
จนกระทั่งในงานประกาศผลรางวัลครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นในปี ค.ศ. 2011 เคอลี่ (顆粒) หรือ เคอยิ่วซี (柯宥希) ได้รับรางวัลเหรียญเงิน (Silver Prize) จากผลงานเรื่อง Make a Wish! Da Xi นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นักวาดการ์ตูนชาวไต้หวันก็เริ่มคว้ารางวัลจากเวทีนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี ค.ศ. 2020 ซึ่งเป็นปีที่นักวาดการ์ตูนจากไต้หวัน สามารถสร้างผลงานได้อย่างโดดเด่นบนเวทีระดับนานาชาติ ทั้งเรื่อง Funeral Director ของ Rimui หรือเหวยหลีรั่วหมิง (韋蘺若明) ที่คว้ารางวัลเหรียญทอง (Grand Prize) เรื่อง The Illusionist on the Skywalk ของหร่วนกวงหมิน (阮光民) ที่ได้รางวัลเหรียญเงิน (Silver Prize) และเรื่อง Blossom ของ D.S. ที่ได้รางวัลชมเชย
ประการที่สอง ไต้หวันได้เข้าร่วมงานมหกรรมหนังสือและงานแสดงการ์ตูนนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ในนาม “ไต้หวันพาวิลเลียน” (Taiwan Pavilion) ซึ่งเป็นตัวแทนระดับประเทศ โดยเฉพาะที่งานเทศกาลการ์ตูนอองกูแลม (Angoulême International Comics Festival) ในฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหนึ่งในงานมหกรรมการ์ตูนที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก
โดยรวมแล้ว อุตสาหกรรมการ์ตูนไต้หวันได้รับการสนับสนุนจากรางวัลสำคัญ เช่น รางวัล Gold Comic Award และรางวัลการ์ตูนนานาชาติของญี่ปุ่น รวมถึงการเปิดตัวในงานแสดงหนังสือระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีฐานผู้อ่านในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ด้วยกระแสความสนใจจากนานาชาติที่มีต่อไต้หวันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประกอบกับความอยากรู้อยากเห็นที่มีต่อการ์ตูนไต้หวัน ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์การขยายตัวของตลาดในต่างประเทศ ซึ่งหวงเจี้ยนเหอคาดการณ์ว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีลิขสิทธิ์การ์ตูนไต้หวันถูกขายไปยังต่างประเทศมากกว่า 100 เรื่อง โดยเฉพาะฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศที่มีการยอมรับวัฒนธรรมที่หลากหลาย และเป็นตลาดการ์ตูนขนาดใหญ่ มีลิขสิทธิ์ไต้หวันถูกขายไปมากกว่า 60 เรื่อง ส่วนอิตาลี ก็มีลิขสิทธิ์ถูกขายไปแล้วประมาณ 30 เรื่อง
ในจำนวนนี้ Day Off คือการ์ตูนไต้หวันที่ได้รับความสนใจจากนานาชาติมากที่สุด สามารถขายลิขสิทธิ์ไปแล้วมากถึง 9 ประเทศ รองลงมาได้แก่ Funeral Director และเรื่อง Son of Formosa ที่สามารถขายลิขสิทธิ์ไปยัง 7 ประเทศ ในขณะที่เรื่อง Yan ก็ขายลิขสิทธิ์ได้ใน 6 ประเทศเช่นกัน
ลองจินตนาการถึงผู้อ่านในประเทศไทยและเวียดนาม ที่หลงใหลในเรื่องราวแนว BL (Boys’ Love) กำลังอ่าน Day Off ซึ่งเล่าเรื่องราวความรักของหนุ่มออฟฟิศในเมืองใหญ่ ด้วยความสนใจและความเพลิดเพลิน หรือ Son of Formosa ซึ่งดัดแปลงมาจากเรื่องราวชีวิตจริงของ ไช่คุนหลิน (蔡焜霖) ผู้จัดพิมพ์ที่มีชื่อเสียง ผ่านมุมมองของเด็กและการเล่าเรื่องในรูปแบบการ์ตูน ทำให้เรื่องราวของยุค White Terror ในไต้หวัน สามารถเข้าถึงและได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นจากผู้อ่านในสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ผู้อ่านในฝรั่งเศส อิตาลี สเปนและรัสเซีย ที่ตื่นเต้นไปกับซูเปอร์ฮีโร่ในอุปรากรจีนอย่าง เหยียนเถี่ยฮัว (閻鐵花) พร้อมทั้งรู้สึกทึ่งไปกับพลังแห่งวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของไต้หวัน
.jpg?w=1080&mode=crop&format=webp&quality=80)
เมื่ออุตสาหกรรมการ์ตูนภายในประเทศเติบโตแข็งแกร่งเพียงพอ ก็ย่อมเกิดแรงขับเคลื่อนในการแสวงหาตลาดภายนอกโดยปริยาย ดังภาพที่แสดงให้เห็นถึงวงการการ์ตูนไต้หวันเดินทางไปร่วมงานเทศกาลการ์ตูนเมืองอองกูแลม ประเทศฝรั่งเศส เพื่อแลกเปลี่ยนกับนักอ่านและสำนักพิมพ์ต่างชาติ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น นิทรรศการต้นฉบับภาพร่าง การสัมมนาเกี่ยวกับบท และกิจกรรมแจกลายเซ็นของนักวาดการ์ตูน (ภาพจาก TAICCA)
ข่าวดีจากตลาดหนังสือนานาชาติ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วงการการ์ตูนไต้หวัน เริ่มได้รับข่าวดีจากตลาดต่างประเทศเป็นระยะ
ตัวอย่างเช่น เกาเหยียน (高妍) นักวาดการ์ตูนรุ่นใหม่ ที่เริ่มต้นผลงานของเธอ The Song about Green : Gather the Wind ด้วยการตีพิมพ์เองในรูปแบบการ์ตูนสั้น 32 หน้า แต่ด้วยลายเส้นที่ประณีตและเนื้อเรื่องที่ลึกซึ้ง ทำให้ผลงานของเธอเป็นที่เตะตาของฮาโนะ โฮะซุโนะ (細野晴臣) นักดนตรีชื่อดังของญี่ปุ่น และเธอได้รับเชิญให้ร่วมงานในสารคดีของเขาต่อมา ฮารูกิ มูราคามิ (村上春樹) นักเขียนระดับโลก ก็ให้การยอมรับในฝีมือของเธอ และเชิญเธอมาวาดปกหนังสือเล่มใหม่ของเขา Abandoning a Cat : Memories of My Father หลังจากได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม ทำให้เกาเหยียนพัฒนาผลงานของเธอจากเรื่องสั้น ให้กลายเป็นหนังสือการ์ตูนสองเล่มจบ และจัดพิมพ์พร้อมกันทั้งในไต้หวันและญี่ปุ่น ซึ่งหลังจากเปิดตัว ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และได้รับเลือกโดยผู้อ่านชาวญี่ปุ่นให้ติดอันดับที่ 9 ของการ์ตูนเรื่องนี้สุดยอด! ในหมวดการ์ตูนสำหรับผู้ชาย
สาเหตุที่การ์ตูนไต้หวันสามารถสร้างกระแสในตลาดนานาชาติได้นั้น สามารถอธิบายได้จากโครงสร้างของตลาดการ์ตูนโลก ซึ่งปัจจุบัน ตลาดการ์ตูนระดับนานาชาติ สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ มังงะญี่ปุ่น (Manga) ซึ่งครองตลาดหลักทั้งในไต้หวันและทั่วโลก คอมิกส์อเมริกัน (Comic) ที่มีแนวทางเฉพาะตัว บ็องแด เดสซิเน่ (Bande Dessinée หรือ BD) การ์ตูนฝรั่งเศส-เบลเยียมที่ได้รับความนิยมในยุโรป นอกจากนี้ ยังมีเว็บตูน (Webtoon) จากเกาหลีใต้ ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล และกราฟิกโนเวล (Graphic Novel) ซึ่งเน้นความลึกซึ้งของเนื้อหาและศิลปะ เหมาะสำหรับผู้ใหญ่มากกว่าวัยรุ่น ท่ามกลางตลาดเหล่านี้ มังงะญี่ปุ่นยังคงเป็นผู้นำระดับโลก แต่ฝรั่งเศส ซึ่งให้ความสำคัญกับการ์ตูนในฐานะศิลปะแขนงที่เก้า (The Ninth Art) และมีตลาดที่กว้างขวาง กำลังให้ความสนใจกับการ์ตูนจากประเทศอื่นในเอเชียที่ไม่ใช่ญี่ปุ่นมากขึ้น เนื่องจากการ์ตูนไต้หวันมีคุณภาพที่ใกล้เคียงกับมังงะญี่ปุ่น จึงสามารถใช้โอกาสนี้ ขยายตัวสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในอดีต การ์ตูนไต้หวันเคยได้รับอิทธิพลจากมังงะญี่ปุ่นอย่างมาก จนดูคล้ายกันเกินไป นักวิจัยหลายคนต่างก็เห็นว่า การ์ตูนไต้หวันช่วงยุคทองรุ่นแรก ได้รับอิทธิพลจากมังงะอย่างชัดเจน
อาจารย์หลิวติ้งกัง (劉定綱) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาภาษาไต้หวัน มหาวิทยาลัยครูแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan Normal University) ซึ่งมีประสบการณ์วิจัยเกี่ยวกับอนิเมะไต้หวันมาอย่างยาวนาน ได้ชี้ให้เห็นว่า การ์ตูนไต้หวันได้รับอิทธิพลจากมังงะญี่ปุ่นในแง่ของการเล่าเรื่อง โดยเขาอธิบายว่า การ์ตูนไต้หวันให้ความสำคัญกับโครงสร้างในการปูเรื่อง-พัฒนา-หักมุม-สรุป (起承轉合) มักมีการซ่อนเงื่อนงำไว้ล่วงหน้า ทำให้จำเป็นต้องมีการเฉลยเงื่อนงำเหล่านี้ เพื่อคลี่คลายปมต่าง ๆ การดำเนินเรื่องต้องมีตรรกะเชื่อมโยงของเหตุและผล
อย่างไรก็ตาม ก็มิใช่ว่าการ์ตูนไต้หวันจะรับอิทธิพลจากญี่ปุ่นเพียงแห่งเดียว อาจารย์หลิวติ้งกังยังย้ำว่า การ์ตูนไต้หวันได้รับแรงบันดาลใจจากการ์ตูนยุโรป (BD) ในเรื่องของการสร้างบรรยากาศ และการใส่ใจรายละเอียดด้านศิลปะ ทำให้มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากมังงะญี่ปุ่น
หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้การ์ตูนไต้หวัน มีเอกลักษณ์แตกต่างจากมังงะญี่ปุ่นและการ์ตูนยุโรป อาจเกิดจากโครงสร้างตลาดภายในประเทศที่ยังไม่เติบโตอย่างเต็มที่ ส่งผลให้สไตล์ของนักวาดไม่มีกรอบที่เป็นเกณฑ์มาตรฐาน หรือไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว ซูเหวยซีสังเกตว่า ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยในไต้หวันได้เปิดสอนหลักสูตรด้านการออกแบบทัศนศิลป์และแอนิเมชันอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้มีบุคลากรสายทัศนศิลป์จำนวนมากเดินเข้าสู่วงการ
นอกจากนี้ นโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมของกองทุนส่งเสริมการ์ตูน ยังช่วยดึงดูดนักเรียนจากสายศิลปะให้เข้าสู่วงการการ์ตูนด้วย เช่น เฉินเพ่ยซิ่ว (陳沛珛) Aim-Tu (艾姆兔) รวมถึง จั่วเซวียน (左萱) 61Chi และเจิงเหย้าชิ่ง (曾耀慶) ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกัน นอกจากนี้ ยังมี อู๋ซื่อหง (吳識鴻) ผู้ได้รับรางวัลศิลปินหน้าใหม่จากงานเทศกาลการ์ตูนที่เบลเยียม ที่ต่างก็เป็นศิษย์เก่าจากคณะศิลปศาสตร์ของมหาวิทยาลัยครูไต้หวัน เหตุการณ์นี้ชวนให้นึกถึงยุคทองของการ์ตูนไต้หวันก่อนหน้านี้ ซึ่งมีนักวาดการ์ตูนหลายคนที่เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนศิลปะฟู่ซิง (復興美工)
โดยสรุปแล้ว ความสามารถในการเล่าเรื่องและการแสดงออกทางศิลปะที่โดดเด่น ถือเป็นสองจุดเด่นที่เห็นได้ชัดของการ์ตูนไต้หวัน ซูเหวยซีมองว่า นักวาดการ์ตูนไต้หวันจะเลือกแนวทางของตนเอง โดยอิงจากเนื้อเรื่องและรสนิยมส่วนตัว ส่งผลให้สามารถสร้างความสมดุล ระหว่างตลาดในเชิงพาณิชย์และการแสวงหาศิลปะ พร้อมกับแสดงถึงอัตลักษณ์ของไต้หวัน ซึ่งเป็นจุดแข็งสำคัญที่ช่วยให้การ์ตูนไต้หวัน มีที่ยืนบนเวทีระดับนานาชาติ
.jpg?w=1080&mode=crop&format=webp&quality=80)
นักวาดการ์ตูนร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบวาดภาพต่อกัน (ภาพจาก TAICCA)
มุมมองของการ์ตูนไต้หวัน
นักวาดการ์ตูนรุ่นใหม่ของไต้หวันมีรากฐานทางมนุษยศาสตร์ที่ลึกซึ้ง ทำให้ผลงานของพวกเขามีความแตกต่างจากรุ่นก่อนอย่างชัดเจน
อาจารย์หลิวติ้งกัง ซึ่งกล่าวว่า ภาพลักษณ์ของแบรนด์การ์ตูนไต้หวันได้รับการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ ได้แบ่งประเภทของผลงานการ์ตูนไต้หวันที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบันออกเป็นหลายกลุ่ม โดยหนึ่งในประเภทที่โดดเด่นที่สุดคือการ์ตูนแนวประวัติศาสตร์และวรรณกรรม ซึ่งต่อยอดมาจาก CCC (Creative Comic Collection) ที่เป็นแพลตฟอร์มการ์ตูนออนไลน์ เช่น เรื่อง The Summer Temple Fair ของจั่วเซวียน ซึ่งเป็นผลงานที่ถูกนำไปดัดแปลงเป็นซีรีส์โทรทัศน์ เรื่อง 1661 Koxinga Z ของหลี่หลงเจี๋ย ที่เล่าเรื่องราวของเจิ้งเฉิงกงจากมุมมองของชาวดัตช์ โดยพลิกบทบาทให้เขากลายเป็นตัวร้าย เรื่อง The Free China Junk ของหลางชี (狼七) ซึ่งร่วมมือกับสำนักบริหารเอกสารและจดหมายเหตุในสังกัดของสภาพัฒนาแห่งชาติ ถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ผ่านการเดินทางผจญภัยในท้องทะเลที่ผสมผสานกับการไล่ล่าตามความฝันของเหล่าเยาวชน ผลงานเหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยมของการ์ตูนไต้หวัน ในช่วงหลายปีหลังมานี้
นอกจากนี้ ไต้หวันซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นแบบด้านความเท่าเทียมทางเพศในเอเชีย ก็ได้สะท้อนแนวคิดนี้ผ่านการ์ตูนออกมาอย่างชัดเจนเช่นกัน ตัวอย่างเช่น Tender Is the Night ผลงานร่วมระหว่างนักเขียนบทชื่อดัง เจี่ยนลี่อิ่ง (簡莉穎) และนักวาดภาพประกอบเฟ้ยเฟ้ยจื่อ (廢廢子) เรื่อง Miss T’s Sexcapades in Japan ของกู่จื่อ (穀子) ที่กล่าวถึงการปลดปล่อยเรือนร่างของผู้หญิง เรื่อง Guardienne ของเสี่ยวเหนาเหนา (小峱峱) ซึ่งผสมผสานตำนานผีหญิงในยุคราชวงศ์ชิงเข้ากับประเด็นสิทธิและความเป็นอิสระของผู้หญิง และที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ Day Off การ์ตูนแนว BL (ชายรักชาย) ที่เล่าเรื่องราวชีวิตของหนุ่มออฟฟิศ ซึ่งปัจจุบันครองอันดับหนึ่งในชาร์ตการขายลิขสิทธิ์ไปสู่ระดับสากล
หลิวติ้งกังสังเกตว่า แม้ไต้หวันอาจไม่ได้โดดเด่นในตลาดการ์ตูนเชิงพาณิชย์ จนกลายเป็นการ์ตูนกระแสหลัก แต่กลับสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมในแนวทางเฉพาะกลุ่ม เช่น การ์ตูนแนวประวัติศาสตร์-วรรณคดีและ LGBTQ+ ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในยุคที่ผู้อ่านมีความสนใจแบบแยกย่อย (niche audience) และบริโภคเนื้อหาแบบเฉพาะกลุ่ม (micro-targeting) ไต้หวันกลับสามารถใช้ข้อได้เปรียบของเนื้อหาเฉพาะทาง มาดึงดูดสายตาของกลุ่มผู้อ่านเหล่านี้ได้อย่างแม่นยำ
เมื่อมองย้อนกลับไปจะเห็นว่า การ์ตูนไต้หวันเต็มไปด้วยความหลากหลายทางเนื้อหา มีสไตล์ที่ยืดหยุ่น หยิบยกประเด็นที่เข้มข้น และสะท้อนความเข้าใจในสังคมได้อย่างลึกซึ้ง จึงอาจกล่าวได้ว่า การ์ตูนไต้หวันยุคใหม่ ไม่เพียงเป็นสื่อบันเทิง แต่ยังเป็นกระจกสะท้อนภาพของสังคมไต้หวันในปัจจุบันได้อย่างชัดเจน
.jpg?w=1080&mode=crop&format=webp&quality=80)
เจี่ยนเจียเฉิง นักวาดการ์ตูนไต้หวัน ได้ร่วมมือกับสำนักบริหารเอกสารและจดหมายเหตุ สภาพัฒนาแห่งชาติไต้หวัน สร้างสรรค์ผลงานเรื่อง Wind Chaser under the Blue Sky ซึ่งคว้ารางวัล Gold Award จากการประกวดรางวัลการ์ตูนนานาชาติญี่ปุ่น ครั้งที่ 17 นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จอันโดดเด่นของวงการการ์ตูนไต้หวันบนเวทีนานาชาติ! (© 2023 Jason Chien/National Archives Administration/Gaea Books)
.jpg?w=1080&mode=crop&format=webp&quality=80)
The Song about Green: Gather the Wind การ์ตูนไต้หวันที่โด่งดังจากญี่ปุ่นกลับมาไต้หวัน
.jpg?w=1080&mode=crop&format=webp&quality=80)
เฉินเพ่ยซิ่วเคยเข้าร่วมโครงการหมู่บ้านศิลปินที่เมืองบลัว (Blois) ของประเทศฝรั่งเศส เธอได้นำประสบการณ์การใช้ชีวิตในต่างแดน มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ ทำให้ผลงานเต็มไปด้วยกลิ่นอายของศิลปะ และความลึกซึ้งทางอารมณ์ (ภาพจากเฉินเพ่ยซิ่ว)
.jpg?w=1080&mode=crop&format=webp&quality=80)
Lost Gods ของ เยี่ยฉางชิง เป็นผลงานที่ผสมผสานรูปแบบการอ่านของภาพวาดเรื่องเล่าแบบเซี่ยงไฮ้ เข้ากับลายเส้นและสไตล์ของมังงะญี่ปุ่น โดยผลงานชิ้นนี้ได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลามในฝรั่งเศส
.jpg?w=1080&mode=crop&format=webp&quality=80)
หลิวติ้งกังเห็นว่า ยุคทองระลอกที่สามของการ์ตูนไต้หวัน ได้ผ่านการพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีรูปแบบและแนวทางของผลงานที่ชัดเจนและเติบโตอย่างมั่นคง