สร้างสรรค์รสชาติใหม่ ให้แก่ขนมโบราณที่ทำจากข้าว
ขนมซงเกาและขนมจอหงวน
เนื้อเรื่อง‧หลี่อวี่ซิน ภาพ‧จวงคุนหรู แปล‧อัญชัน ทรงพุทธิ์
กุมภาพันธ์ 2025

แผงลอยเล็ก ๆ ข้างทางที่มีไอน้ำฟุ้งตลบอบอวล กำลังนึ่งขนมที่ทำจากข้าว แต่ละชิ้นมีสีขาวบริสุทธิ์และรูปลักษณ์เรียบง่าย แผงลอยที่เป็นเสมือนเวทีเล็ก ๆ แห่งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความงดงามและคุณค่าของอาหารแปรรูปที่ทำจากข้าว อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้อย่างไร้ขีดจำกัดของวิวัฒนาการอาหารแปรรูปจากข้าวที่มีมาเป็นเวลายาวนาน
มีหลักฐานบ่งชี้ว่า “ข้าว” เป็นอาหารหลักของผู้คนที่อาศัยอยู่บนเกาะไต้หวัน มาตั้งแต่ 4,000 ปีก่อน และจากบันทึกเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองบนเกาะไต้หวันของแม่ทัพเฉินตี้ (陳第) แห่งราชวงศ์หมิงที่เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1603 จะสังเกตเห็นว่า ชนพื้นเมืองในขณะนั้น “ไม่มีนาข้าวที่มีน้ำหล่อเลี้ยง ใช้วิธีปลูกข้าวไร่ ชนพื้นเมืองจะลงมือเพาะปลูก เมื่อดอกไม้บนภูเขาเบ่งบาน และเก็บเกี่ยวเมื่อเมล็ดข้าวสุกงอม” แสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างข้าวกับเกาะแห่งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น
ในยุคต่อมา มีการค้นพบบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรมากขึ้น ซึ่งได้เผยให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของข้าวที่มีต่อชาวไต้หวันทั้งในชีวิตประจำวัน ในพิธีกรรมทางศาสนา ในพิธีเฉลิมฉลองเทศกาลต่าง ๆ และแม้แต่ในช่วงต่าง ๆ ของชีวิต ตั้งแต่การเกิด แก่ เจ็บ และตาย

ขนมจอหงวนรูปทรงหมวกปีกกว้าง เคยถูกลูกค้าชาวญี่ปุ่นบอกว่า คล้ายกับภูเขาไฟฟูจิ
ความสำคัญของข้าว ไม่มีสิ่งใดเทียบเคียงได้
หากพิจารณาจากความนิยมในการบริโภคอาหารของชาวไต้หวันในปัจจุบัน ข้าวสายพันธุ์จาปอนิกา (Japonica) ซึ่งมีรสชาติเหนียวนุ่มกำลังดี จะได้รับความนิยมมากที่สุด ข้าวสายพันธุ์นี้ในไต้หวันเรียกว่า เผิงไหลหมี่ (蓬萊米) นิยมนำมาหุงเป็นข้าวสวยและข้าวต้ม ในขณะที่ข้าวสายพันธุ์อินดิกา (Indica) ที่มีโมเลกุลของอะไมโลเพกทิน (amylopectin) ค่อนข้างต่ำ ทำให้โครงสร้างภายในเกาะตัวกันแบบหลวม ๆ จึงเหมาะแก่การนำมาใช้ทำเป็นอาหารว่างอย่าง วาก้วย (碗粿) เกี้ยมอี๋ (米苔目) และเส้นหมี่ เป็นต้น ส่วนข้าวเหนียวซึ่งมีลักษณะเด่นคือความเหนียวหนึบ จึงเป็นวัตถุดิบที่ดีที่สุดของอาหารที่ทำจากข้าว อาทิ บ๊ะจ่างและขนมเข่ง เป็นต้น
สิ่งที่น่าสนใจคือ ก่อนที่ข้าวสายพันธุ์จาปอนิกาจะทำการ “ปฏิวัติในชามข้าว” จนได้รับความนิยมอย่างมากเช่นในปัจจุบัน ข้าวสายพันธุ์อินดิกาคืออาหารหลักบนโต๊ะอาหารของชาวไต้หวันทั้ง 3 มื้อมาเป็นเวลายาวนาน และยังถูกนำมาทำเป็นขนมประเภทต่าง ๆ นอกจากการกินข้าวที่ไม่ผ่านกระบวนการแปรรูปแล้ว ยังมีการลองนำข้าวสารมาบดเป็นผงและปั้นเป็นก้อนแป้ง จากนั้นผสมวัตถุดิบชนิดอื่น เช่น น้ำตาล ตามลงไป จนกลายเป็นอาหารแปรรูปจากข้าวหลากหลายชนิด เพื่อใช้เป็นเสบียงพกติดตัวไว้กินยามหิว เมื่อต้องเดินทางไปทำงานต่างถิ่นอีกด้วย

ควันที่พวยพุ่งขึ้นมาจนตลบอบอวลระหว่างนึ่งขนมที่ทำจากข้าว ราวกับเป็นการเปิดฉากการแสดงมายากลเสกข้าว ให้เป็นขนมที่แสนอัศจรรย์
รสชาติความอร่อยที่คงอยู่เพียงชั่วครู่
คนส่วนใหญ่มองว่า ในการทำอาหารแปรรูปจากข้าว แค่ใช้วิธีหุงหรือนึ่งด้วยไฟแรง ๆ ก็พอแล้ว แต่ในความเป็นจริง การทำอาหารแปรรูปจากข้าว เป็นภารกิจที่ท้าทายอย่างยิ่งยวด ซึ่งเรื่องนี้บรรดาเชฟทำขนมจากข้าวต่างรู้ดี
หวังเหวินหมิ่น (王文敏) รองผู้จัดการทั่วไปของร้านอวี้เจินไจ (玉珍齋) ร้านขนมเก่าแก่ในตำบลลู่กั่ง เมืองจางฮั่ว เปิดเผยว่า “แป้งสาลีมีโปรตีน กลูเตน และส่วนประกอบอื่น ๆ ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงก็ทำเป็นอาหารแปรรูปได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ก็อาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ระดับความแรงของไฟและความชื้น ทำให้อาจต้องใช้เวลานานหลายวันจึงจะเสร็จสมบูรณ์” ดังนั้นในการทำอาหารแปรรูปที่ทำจากข้าว บรรดาเชฟทั้งหลายจะต้องคอยสังเกตสภาพของเมล็ดข้าวตลอดเวลา เพื่อให้สามารถควบคุมกระบวนการทุกขั้นตอนได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะในขั้นตอนสำคัญของ “การแปรรูปจากวัตถุดิบไปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป” หรือในขั้นตอนที่ “ข้าวสารถูกหุงเป็นข้าวสุก” นั่นเอง
เมื่อแป้งซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของเมล็ดข้าว ผ่านการนึ่ง ต้ม อบและผัด เพื่อเปลี่ยนสภาพให้เป็นแป้งเหนียว ๆ แล้ว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งปริมาตรและความเหนียว ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากข้าวอยู่ในสภาวะที่มีรูป รส กลิ่น และสีที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม หากพลาดช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดแล้ว แป้งจะค่อย ๆ เสื่อมสภาพ แห้งและแตกร้าว และแม้ว่าจะนำมาอุ่นใหม่ ก็ไม่ได้รสชาติความอร่อยเหมือนกับที่เพิ่งทำเสร็จใหม่ ๆ ด้วยเหตุนี้เอง คนไต้หวันจึงมักพูดว่า “รีบกินตอนที่ยังร้อน ๆ เย็นแล้วจะไม่อร่อย” ซึ่งประโยคนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่คำเตือนเท่านั้น แต่มีความหมายเป็นนัยว่า การจะลิ้มลองรสชาติความอร่อยของอาหารที่ทำจากข้าว ต้องมาถึงแหล่งผลิต เพราะความอร่อยแบบดั้งเดิมจะคงอยู่เพียงชั่วครู่ หลังจากที่ทำเสร็จใหม่ ๆ เท่านั้น

ข้าวเป็นของขวัญจากแผ่นดิน นอกจากเป็นอาหารหลักของมนุษย์แล้ว ยังถูกนำไปแปรรูปเป็นอาหารและขนมหลากหลายชนิด นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์บน โต๊ะอาหารของชาวไต้หวัน ตลอดช่วงเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมา
ขนมจอหงวน อยู่ที่นี่
คำพูด 2 ประโยคที่ว่า “ร้านที่ถนนหมินจู๋” และ “ไปซื้อขนมจอหงวนกันเถอะ” สำหรับชาวเมืองเจียอี้แล้ว หมายถึง ขนมจอหงวนหมินจู๋ (民族狀元糕) ซึ่งเป็นแผงลอยเล็ก ๆ ที่ถนนหมินจู๋ เมืองเจียอี้ ขายขนมจอหงวนกับน้ำบ๊วย มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1995
พานเอินผิง (潘恩平) ทายาทรุ่นที่ 3 ที่ปัจจุบันรับช่วงต่อธุรกิจของครอบครัว เนื่องจากไปช่วยแม่กับยายที่แผงลอยขายขนมตั้งแต่ยังเป็นเด็ก จึงคุ้นเคยกับกระบวนการทำขนมจอหงวนเป็นอย่างดี เขาเทผงแป้งข้าวเจ้าและไส้ขนม ลงในถ้วยพิมพ์อย่างรวดเร็วและคล่องแคล่ว จากนั้นนำไปเสียบบนรูของเตานึ่งที่มีไอน้ำพุ่งออกมา รอประมาณสิบกว่าวินาที ข้าวสารป่นที่มีสีขาวจะเริ่มโปร่งแสง หลังได้รับความร้อน ถึงตอนนี้ ขนมจอหงวนก็พร้อมเสิร์ฟแล้ว
ขั้นตอนการทำขนมจอหงวน ดูเหมือนจะง่าย ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว แฝงไว้ด้วยเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ มากมาย “ส่วนที่ยากที่สุดของการทำขนมจอหงวน คือการทำแม่พิมพ์ รองลงมาคือการเตรียมวัตถุดิบ โดยเฉพาะการควบคุมความชื้นของผงข้าว” พานเอินผิงกล่าวว่า แม่พิมพ์ได้จากการนำไม้สักมากลึงเป็นรูปทรงตามที่ต้องการ เนื่องจากตระหนักถึงลักษณะพิเศษของไม้สักที่เป็นไม้เนื้อแข็ง ทนน้ำ และทนต่อความเป็นกรดได้ดี ก่อนที่จะนำแม่พิมพ์มาใช้ และระหว่างที่เตรียมเปิดร้านในทุกวัน ยังต้องมีวิธีการจัดการกับแม่พิมพ์อย่างเหมาะสม เพื่อให้สามารถทนทานต่อการหุงและนึ่งเป็นเวลายาวนานอีกด้วย
นอกจากนี้ ข้าวเผิงไหลหมี่ที่ถูกบดเป็นผงแป้งข้าวเจ้า หลังผ่านกระบวนการแช่น้ำ โม่เป็นแป้ง ปั้นเป็นก้อน และบดเป็นผง รวม 4 ขั้นตอน โดยต้องทำในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิต่ำ เพื่อป้องกันไม่ให้บูดหรือขึ้นรา หากอยู่ในอุณหภูมิห้อง ก็ต้องระวังเรื่องการเปลี่ยนแปลงของความชื้น พานเอินผิงอธิบายว่า “เนื่องจากหากผงแป้งข้าวเจ้าเปียกเกินไป จะเหนียวจนติดแม่พิมพ์ แต่ถ้าแห้งเกินไปก็จะดูดซับน้ำไม่ได้”
เมื่อพูดถึงรายละเอียดปลีกย่อยของการทำขนมจอหงวน พานเอินผิงสามารถเล่าได้เป็นฉาก ๆ ไม่น่าเชื่อว่าในยามปกติ เขายังมีอาชีพเป็นแดนเซอร์และช่างไม้อีกด้วย คงเป็นเพราะทำงานหลายอาชีพนี่เอง ทำให้เขามีไอเดียสร้างสรรค์อย่างไร้ขีดจำกัด ในการทำขนมจอหงวนที่ถูกมองว่าเป็นขนมโบราณ ในช่วงเวลา 8 ปีที่พานเอินผิงรับช่วงต่อธุรกิจของครอบครัว ได้เปลี่ยนชื่อร้านจาก “หมินจู๋” (民族 หมายถึง ชนชาติ) มาเป็น “เกาไกว่” (糕拐 เป็นคำพ้องเสียงในภาษาหมิ่นหนานกับคำว่า 搞怪 ซึ่งแปลว่า ทำอะไรแปลก ๆ) โดยริเริ่มทำรถเข็นแผงลอยแบบพับได้ เพื่อให้สามารถเข็นรถไปเปิดขายยังจุดที่มีคนพลุกพล่าน ในอนาคตยังวางแผนดำเนินธุรกิจในรูปแบบที่มีร้านค้า และรถเข็นแผงลอยอยู่ร่วมกัน เพื่อนำพาขนมจอหงวนให้ก้าวข้ามกรอบจำกัดแห่งอดีต และทะยานขึ้นสู่เวทีแห่งอนาคตด้วยรูปโฉมใหม่

อาหารว่างที่มีรสเค็ม เช่น บ๊ะจ่างและวาก้วย หรือของหวาน เช่น เฉาไจ๋เกา หงกุยเกา (หรืออั่งกู๊ก้วย) และข้าวหมาก เป็นต้น ล้วนเป็นอาหารว่างที่แปรรูปจากข้าวทั้งสิ้น

อาหารว่างที่มีรสเค็ม เช่น บ๊ะจ่างและวาก้วย หรือของหวาน เช่น เฉาไจ๋เกา หงกุยเกา (หรืออั่งกู๊ก้วย) และข้าวหมาก เป็นต้น ล้วนเป็นอาหารว่างที่แปรรูปจากข้าวทั้งสิ้น

อาหารว่างที่มีรสเค็ม เช่น บ๊ะจ่างและวาก้วย หรือของหวาน เช่น เฉาไจ๋เกา หงกุยเกา (หรืออั่งกู๊ก้วย) และข้าวหมาก เป็นต้น ล้วนเป็นอาหารว่างที่แปรรูปจากข้าวทั้งสิ้น

พานเอินผิงวิจัยและพัฒนารถเข็นแผงลอย จากนั้นเปลี่ยนชื่อร้านเป็น “ขนมจอหงวนเกาไกว่” (หมายถึงขนมจอหงวนที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร) ปรับโฉมใหม่ให้แก่ขนมแปรรูปจากข้าว ที่เคียงข้างเขามาตั้งแต่เล็กจนโต
ซงเกา ขนมโบราณที่สร้างสรรค์
ขนมแฮนด์เมดซงเกา (鬆糕) ขนมโบราณอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของตลาดหนานเหมินในกรุงไทเป ที่ได้รับสมญานามว่า “ครัวของคนต่างมณฑล” (ชาวจีนจากมณฑลอื่นของจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในไต้หวัน ในช่วงปี ค.ศ. 1945–1991)
เมื่อเสียง “ก๊อก ก๊อก ก๊อก” ซึ่งเป็นเสียงเคาะแม่พิมพ์ขนม ดังขึ้นอย่างมีจังหวะจะโคน ก็หมายถึงขนมซงเกาสีขาวออกจากเตาแล้ว พร้อมกับกลิ่นหอมกรุ่นของข้าว และไส้ขนม ลอยตามออกมาด้วย นี่คือเสียงแห่งความทรงจำร่วมกันของลูกค้าประจำตลาดหนานเหมิน ปัจจุบันเสียงที่แว่วออกมาจากร้าน Hoshing 1947 ได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ให้หยุดดูที่หน้าร้านด้วยความสนใจใคร่รู้
“นี่คืออะไร?” ลูกค้าหลายคนถามด้วยประโยคนี้ แสดงให้เห็นว่า คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักขนมซงเกา เริ่นเจียหลุน (任佳倫) ทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านขนม Hoshing กับเจิ้งข้วงโย่ว (鄭匡佑) สองสามีภรรยา ได้ร่วมกันก่อตั้งร้าน Hoshing 1947 ขึ้นในย่านการค้าตี๋ฮั่วเจีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้คนในยุคปัจจุบัน ได้ทำความรู้จักกับขนมซงเกากันใหม่
จากแนวคิดที่ต้องการสร้างสรรค์รูปลักษณ์ใหม่ให้แก่ขนมโบราณ ซึ่งสอดรับกับบรรยากาศแห่งการหลอมรวมความเก่ากับความใหม่ เข้าด้วยกันอย่างลงตัวของย่านการค้าตี๋ฮั่วเจีย ไม่ว่าจะเป็นประตูหน้าร้านแขวนม่านประตูสีส้ม ระหว่างชิมขนมซงเกา จะมีไม้จิ้มขนมที่ทำจากไม้ไผ่ให้ด้วย และยังมีด้ายแดงที่เย็บติดบนกล่องของขวัญ เป็นต้นและนี่คือการนำบริบทเก่า ๆ ของย่านต้าเต้าเฉิงมาใช้ในการปรับปรุงรูปโฉมใหม่ให้แก่ขนมซงเกา
สำหรับขนมซงเกาซึ่งเป็นตัวเอก ก็ถูกแต่งองค์ทรงเครื่องและปรับปรุงให้มีขนาดเล็กและประณีต เจิ้งข้วงโย่วเปิดเผยว่า เพื่อวิจัยและพัฒนาเครื่องแกะสลักแม่พิมพ์ขนมซงเกาขนาดจิ๋ว ทั้งคู่ตระเวนไปตามงานมหกรรมอาหารและเครื่องจักรกลต่าง ๆ แต่ก็ต้องผิดหวังกลับมานับครั้งไม่ถ้วน ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในการทำแม่พิมพ์ที่ใช้นึ่งขนมซงเกาขนาดเล็กออกมาได้
เคล็ดลับความอร่อยอีกอย่างหนึ่งของขนมซงเกา คือการโม่ข้าวสาร ข้าวเผิงไหลหมี่ที่ผ่านการคัดสรร ถูกนำมาล้างและแช่ไว้ในน้ำ จากนั้นนำไปโม่เป็นผงแล้วนำไปร่อน ก่อนจะเทใส่ในแม่พิมพ์ขนม เพื่อนึ่งออกมาเป็นขนมซงเกา ขนาดของขนมที่เล็กกะทัดรัด คือเคล็ดลับที่ทำให้ขนมซงเกา มีความอ่อนนุ่มละเมียดละไม แต่หลังจากปรับลดขนาดของขนมให้เล็กลงแล้ว กลับเกิดปัญหา คือเนื้อขนมจะแข็งกระด้างเมื่อเย็นตัวลง เจิ้งข้วงโย่วกล่าวว่า “ด้วยเหตุนี้เอง ในระหว่างการร่อน เราจึงต้องมีการปรับขนาดของเม็ดแป้งข้าว ซึ่งทำให้ประสบความสำเร็จในการรักษาความชื้นเอาไว้ได้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างสรรค์รสชาติใหม่ ที่มีความหนึบหนับมากขึ้นอีกด้วย”
ภายใต้การสนับสนุนของคุณพ่อเริ่นไถซิง (任台興) ในปี ค.ศ. 2016 สองสามีภรรยาได้บุกเบิกเส้นทางใหม่ให้แก่ขนมโบราณ “การวิจัยและพัฒนารสชาติใหม่ ๆ และการร่วมมือกับธุรกิจประเภทอื่น โดยหวังว่าจะสามารถนำขนมซงเกาไปเผยแพร่ในสถานที่ต่าง ๆ มากขึ้น และเพื่อให้แบรนด์ขนม Hoshing เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้นนั่นเอง” และนี่คือความหวังของเจิ้งข้วงโย่ว

นอกจากงา และถั่วลิสงแล้ว พานเอินผิงยังทดลองทำขนมจอหงวนหลากหลายรสชาติ อาทิ รสช็อกโกแลต ชาเขียวมัทฉะ หรือแม้แต่ข้าวหน้าเนื้อไก่ฉีก ซึ่งเป็นอาหารขึ้นชื่อของเมืองเจียอี้ด้วย

เริ่นเจียหลุนกับ เจิ้งข้วงโย่ว สองสามีภรรยานำเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการทำขนมซงเกา โดยหวังว่าจะช่วยลดภาระให้แก่เชฟทำขนมที่อายุมากแล้ว เหลือเพียงการเคาะแม่พิมพ์ขนมซงเกาบนโต๊ะ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญเท่านั้นที่ยังคงยืนหยัดใช้แรงงานคน

เริ่นเจียหลุนกับ เจิ้งข้วงโย่ว สองสามีภรรยา นำเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการทำขนมซงเกา โดยหวังว่าจะช่วยลดภาระให้แก่เชฟทำขนมที่อายุมากแล้ว เหลือเพียงการเคาะแม่พิมพ์ขนมซงเกาบนโต๊ะ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญเท่านั้น ที่ยังคงยืนหยัดใช้แรงงานคน
ขนมจากข้าวในแบบฉบับของไต้หวัน
หากจะย้อนรอยประวัติศาสตร์วิวัฒนาการอาหารแปรรูปจากข้าว การเชื่อมโยงระหว่างความเก่าแก่กับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ น่าจะเป็นแนวทางที่เชฟทำขนมทุกคนเพียรพยายามอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คำพังเพยเก่าแก่ของชาวตำบลลู่กั่ง เมืองจางฮั่ว ที่ว่า “คนที่ถือปากกาจะกินขนมตาหงส์ (鳳眼糕) คนถือจอบจะกินขนมลิ้นวัว (牛舌餅)” ถือเป็นประจักษ์พยานแห่งวิวัฒนาการอาหารแปรรูปจากข้าว ที่ปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา จากในอดีตที่มีวัตถุประสงค์เพียงแค่บรรเทาความหิว ต่อมาก้าวไปสู่ความประณีตงดงาม และกลายเป็นอาหารท้องถิ่น
หวังเหวินหมิ่น รองผู้จัดการทั่วไปของร้านอวี้เจินไจ ร้านขนมเก่าแก่ในตำบลลู่กั่ง เมืองจางฮั่ว เปิดเผยว่า นอกจากนึ่งด้วย ไฟแรงแล้ว เชฟทำขนมยังทดลองใช้วิธีการอื่นในการทำอาหารแปรรูปจากข้าว ยกตัวอย่างเช่น ขนมโก๋ (糕仔崙) ที่เป็นขนมไหว้เจ้าในวันสารทจีน ซึ่งตรงกับวันที่ 15 เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติจีน ใช้วิธีนึ่งด้วยเตานึ่งแบบมี “รูไอน้ำ” อย่างระมัดระวัง วันละ 1 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน เพื่อให้ได้ขนมโก๋ขนาดเล็ก ที่เนื้อขนมมีความอ่อนนุ่มแต่แฝงไว้ด้วยความเหนียวนิด ๆ นอกจากนี้ ยังมีขนมโก๋ไส้ฟัก (冬瓜糕) ที่ตัวขนมโก๋ทำจากแป้งข้าวเหนียว ก็จะใช้วิธีนึ่งด้วยเตานึ่งที่มีรูเล็ก ๆ ให้ไอน้ำพุ่งขึ้นมา เพื่อให้ขนมโก๋ที่สอดไส้ฟักเชื่อมหวานฉ่ำ มีรสชาติเหนียวหนึบที่หลายคนชื่นชอบ
จากการสังเกต ศึกษาและวิจัยอาหารแปรรูปจากข้าวของชาวจีนมาเป็นเวลายาวนาน หวังเหวินหมิ่นเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในพิธีศพของไต้หวัน จะมีการแจกข้าวเหนียวหวาน (甜米糕) ให้แก่ญาติมิตร แต่ที่เมืองจีนจะมีการมอบข้าวเหนียวหวานเป็นของขวัญกันโดยทั่วไป
แม้ “วิวัฒนาการ” ของอาหารแปรรูปจากข้าวของไต้หวัน จะได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ เทคโนโลยีที่ดีขึ้น การเพิ่มส่วนผสมที่เป็นวัตถุดิบในท้องถิ่น และความแตกต่างของประเพณี แต่ยังคงสามารถหลอมรวมเข้ากับประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างกลมกลืน และได้เพิ่มสีสันให้แก่เกาะที่สวยงามแห่งนี้ ขนมโบราณที่ทำจากข้าว ได้รับการสืบทอดโดยคนรุ่นใหม่ ที่กำลังเขียนเรื่องราวของอาหารแปรรูปจากข้าวบทใหม่ขึ้นมา เพื่อให้นักเดินทางจากทั่วโลกได้มา “ลองชิม” รสชาติที่เรียบง่าย แต่แสนอร่อยเหล่านี้กัน

ป้ายกระดาษที่เขียนด้วยมือบนชั้นวางสินค้าในร้านขนม Hoshing นอกจากระบุชื่อและราคาสินค้าแล้ว ยังแสดงส่วนผสมของขนม ซึ่งช่วยให้ลูกค้าที่เพิ่งเข้ามาซื้อครั้งแรกได้เข้าใจ อีกทั้งทำให้รู้สึกถึงบรรยากาศที่เป็นมิตรและอบอุ่น

ขนมที่ทำจากข้าวที่มีส่วนผสมของข้าวและน้ำตาลได้พัฒนาจากในอดีตที่กินเพื่อบรรเทาความหิว กลายมาเป็นขนมที่ประณีตและหรูหรา
(ภาพโดย หลินเก๋อลี่)


