ประสบการณ์ครั้งแรกของยุคโมเดิร์น
ห้างสรรพสินค้าไต้หวันสไตล์วินเทจยุค 1930
เนื้อเรื่อง‧ซูลี่อิ่ง ภาพ‧หลินหมินเซวียน แปล‧รุ่งรัตน์ แซ่หยาง
กุมภาพันธ์ 2025
.jpg?w=1080&mode=crop&format=webp&quality=80)
ไต้หวันก้าวเข้าสู่สังคมบริโภคนิยมสมัยใหม่ในช่วงทศวรรษที่ 1930 ในยุคนั้น ห้างสรรพสินค้าที่มีขนาดใหญ่ และมีการจำหน่ายสินค้าหลากหลายประเภท ได้เปิดให้บริการอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าห้างสรรพสินค้าเหล่านี้ จะไม่สามารถต้านทานกระแสแห่งกาลเวลา และต้องทยอยปิดตัวลง แต่เมื่อพื้นที่เก่าของห้างถูกปรับเปลี่ยน และกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ จะมีหน้าตาเป็นเช่นไรในความฝันและจินตนาการของผู้คน
การ์ตูนมังงะเรื่อง “คัมภีร์แห่งเมืองทางตอนเหนือ” (Scrolls of a Northern City : 北城百畫帖) เป็นผลงานที่สร้างสรรค์โดยนักวาดการ์ตูนไต้หวันชื่อ Akru เขาได้ถ่ายทอดเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1930 ผ่านการ์ตูนเล่มดังกล่าว โดยมีฉากของย่านหรงติง ซึ่งเป็นย่านการค้าที่สำคัญ และได้รับการขนานนามว่า “กินซ่าไทเป” ที่มีเรื่องราวสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมบริกรหญิง หรือพนักงานต้อนรับหญิงที่ให้บริการในร้านคาเฟ่ในยุคนั้น รวมถึงการเปิดตัวของ “ห้างคิคุโมโตะ” ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของไต้หวันในปี ค.ศ. 1932 และการจัด “นิทรรศการไต้หวัน ครบรอบ 4 ทศวรรษแห่งการปกครองโดยญี่ปุ่น” ที่จัดขึ้นในปี ค.ศ. 1935

ห้างคิคุโมโตะ ถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า “สวรรค์เจ็ดชั้น” เป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของไต้หวัน (ภาพโดย เจิ้งเผยเจ๋อ)
เจ้าหญิงนิทราหลังผนังกระจก : ห้างสรรพสินค้าคิคุโมโตะ
ฉากของย่านหรงติงหรือซากาเอะในภาษาญี่ปุ่นที่ปรากฏอยู่ในมังงะ คือย่านการค้าบริเวณถนนเหิงหยาง ถนนเป่าชิ่ง ถนนซิ่วซาน ถนนป๋ออ้าย และถนนเหยียนผิงใต้ในปัจจุบัน และยังคงมีอาคารเก่าแก่บางส่วนที่สร้างขึ้นในสมัยนั้น ปรากฏให้เห็นตามเส้นทางของถนนเหล่านี้
สิ่งที่น่าเสียดายมากที่สุดในที่นี้คงจะเป็น อาคารของห้างสรรพสินค้าคิคุโมโตะที่มีความสูงถึงเจ็ดชั้น ในขณะนั้น จึงได้รับการขนานนามว่า “สวรรค์เจ็ดชั้น” ห้างแห่งนี้เป็นหนึ่งในอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่สร้างขึ้นในยุคแรก ๆ ของไต้หวัน โดยสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1932 และแม้ว่าจะผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหวมาหลายต่อหลายครั้ง แต่อาคารดังกล่าวยังสามารถตั้งตระหง่านอยู่อย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน อาคารเก่าแห่งนี้ยังได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ในปี ค.ศ. 2017 อีกด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการเปลี่ยนเจ้าของหลายครั้ง ตัวอาคารจึงถูกปรับปรุงและตบแต่งใหม่บ่อยครั้ง ทำให้รูปลักษณ์ของอาคารเดิม ถูกปิดทับด้วยผนังกระจกและวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่อย่างมิดชิด ด้วยเหตุนี้ กัวจ้าวลี่ (郭肇立) นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมจึงเรียกอาคารหลังนี้ว่า “เจ้าหญิงนิทราในโลงแก้ว”
ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และมรดกทางวัฒนธรรม หลิงจงขุย (凌宗魁) ได้ย้อนรอยประวัติศาสตร์ของห้างสรรพสินค้าให้เราฟัง เขาเล่าว่าจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นในช่วงของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต ทำให้สามารถผลิตสินค้าได้อย่างรวดเร็วและมีความหลากหลาย นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคของผู้คนอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะคนร่ำรวยที่เริ่มแสวงหาการบริโภคสิ่งใหม่ ๆ ประเทศต่าง ๆ จึงพากันจัดงานมหกรรมแสดงสินค้าขนาดใหญ่ เพื่อนำเสนอสินค้าที่แปลกใหม่และหลากหลายให้กับผู้บริโภคในขณะนั้น
ในช่วงทศวรรษที่ 1930 ซึ่งเป็นช่วงที่ไต้หวันอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ด้วยการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ร้านค้าที่ขายสินค้านำเข้าจากต่างประเทศได้เริ่มเปิดให้บริการในหลายพื้นที่ทั่วไต้หวัน และเมื่อร้านค้าเหล่านั้นมีการขยายร้านจนมีพื้นที่และจำนวนเคาน์เตอร์สินค้าที่มากพอ ร้านเหล่านี้จะถูกเรียกว่าห้างสรรพสินค้า ซึ่งห้างสรรพสินค้าที่มีชื่อเสียงมากที่สุด 3 แห่งในขณะนั้น ได้แก่ ห้างคิคุโมโตะในไทเป ห้างฮายาชิในไถหนาน และห้างโยชิในเกาสง (ปัจจุบันอาคารถูกรื้อถอนแล้ว)
ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าของญี่ปุ่นส่วนใหญ่เริ่มต้นจากธุรกิจเสื้อผ้า เช่นเดียวกับการเติบโตของห้างสรรพสินค้าในไต้หวัน เออิจิ ชิเกตะ (Eiji Shigeta) พ่อค้าเสื้อผ้าญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมจากจังหวัดยามากูจิ ได้เปิดร้านค้า “คิคุโมโตะ” ในย่านต้าเต้าเฉิงของไทเป เขาได้ซื้ออาคารในย่านหรงติง หลังจากที่เขาประสบความสำเร็จจากธุรกิจเสื้อผ้า และเปิดห้างสรรพสินค้าคิคุโมโตะ ซึ่งเป็น “ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในไต้หวัน” ขึ้น
ห้างคิคุโมโตะได้รับการออกแบบโดยโชอิชิ ฟุรุกาวะ (Chouichi Furukawa) วิศวกรโยธาชาวญี่ปุ่น โดยในขณะนั้น เขาเป็นหัวหน้าฝ่ายสถาปัตยกรรมของบริษัทที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแห่งหนึ่งในไต้หวัน เนื่องจากไต้หวันมีสภาพอากาศที่มีแดดแรงและมีฝนตกหนัก อาคารดังกล่าวจึงถูกออกแบบให้มีทางเดินใต้ชายคา เพื่อให้สามารถหลบแดดและกันฝนได้ หลิงจงขุย ซึ่งเคยมีโอกาสเข้าไปเดินสำรวจภายในอาคารดังกล่าวได้เล่าให้ฟังว่า ที่บริเวณชั้นที่ 5-7 ของอาคาร ยังคงลักษณะของโครงสร้างเดิม ที่เป็นการลดระดับความสูงในลักษณะถอยชั้นอาคารเข้าไปทีละชั้น โดยเป็นการก่อสร้างตามกฎหมายการวางผังเมืองที่ประกาศใช้โดยนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1916 เพื่อให้แสงแดดสามารถส่องลงมายังถนนด้านล่างได้มากขึ้น ซึ่งช่วยลดความรู้สึกอึดอัดและถูกกดดันจากอาคารสูง
.jpg?w=1080&mode=crop&format=webp&quality=80)
แม้หลังจากสิ้นสุดยุคที่ไต้หวันถูกปกครองโดยญี่ปุ่น อาคารของคิคุโมโตะ ยังคงถูกใช้เป็นห้างสรรพสินค้าเรื่อยมา ในภาพเป็นภาพถ่ายในอดีตเมื่อปี ค.ศ. 1971 ซึ่งทางด้านซ้ายของภาพเป็นห้างสรรพสินค้า “หนานหยาง” ที่ตั้งอยู่บนสถานที่เดิมของห้างคิคุโมโตะในสมัยนั้น (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
ความคิดสร้างสรรค์ที่สรรสร้างได้ :OR HOUSE (ซินโจวอู)
ไม่นานมานี้ มีการนำภาพถ่ายในอดีตของห้างคิคุโมโตะ ซึ่งเป็นภาพที่พิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ มาติดไว้ที่บริเวณด้านหน้าของตัวอาคาร ซึ่งเป็นผนังกระจกขนาดใหญ่ พร้อมข่าวลือว่าจะมีการปรับปรุงครั้งใหญ่ เพื่อให้อาคารหลังนี้กลับมามีชีวิตชีวาและคืนสู่ช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์เช่นในอดีต เสน่ห์และความงดงามของอาคารเก่าแก่ นับว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่าต่อการรอคอยเป็นอย่างยิ่ง และ “OR HOUSE หรือซินโจวอู” ซึ่งตั้งอยู่ในเขตจิ้วเฉิงย่านเมืองเก่าของซินจู๋ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ภายหลังจากที่กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในปี ค.ศ. 2023
ซินโจวอู ถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า “OR HOUSE” พื้นที่แห่งนี้ เดิมเคยเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในซินจู๋ ซึ่งเปิดให้บริการในปี ค.ศ. 1934 เจ้าของคนแรกคือ ไต้อู๋ซือ (戴吳獅) เป็นนักธุรกิจชื่อดังที่เริ่มต้นจากการขายสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่ตลาดตงเหมิน
ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้เป็นของทีม “OR HOUSE” ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีส่วนร่วมในการผลักดันแนวคิดในการบริหารจัดการ ในรูปแบบของ “พิพิธภัณฑ์ศิลปะแบบกระจายตัว” ในเมืองซินจู๋มาเป็นเวลานาน
เสิ่นถิงหรู (沈婷茹) ผู้จัดการของ OR HOUSE เล่าให้ฟังถึงความพยายามที่จะรักษาเสน่ห์ทางประวัติศาสตร์ที่งดงามในอดีตของอาคารเก่าไว้ให้ได้มากที่สุด โดยเริ่มจากการพูดคุยกับบรรดาอดีตเจ้าของอาคารในช่วงเวลาต่าง ๆ จากนั้นจึงได้เชิญบริษัท “X-Basic Planning” ทำการศึกษาและบูรณะซ่อมแซมตัวอาคาร พร้อมทั้งเชิญทีม “II Design” และ “Mizuiro Design” ร่วมกันออกแบบพื้นที่ภายในอาคาร การผสมผสานโลกใบเก่าให้เข้ากับการสร้างสิ่งใหม่บนพื้นที่เก่า จึงเป็นการถอดแบบความสวยงามในอดีต ที่ถูกปรับให้เข้ากับบริบทความทันสมัยได้อย่างสมดุลและกลมกลืน
พวกเราเดินออกไปด้านนอกอาคารพร้อมกับเสิ่นถิงหรู การปรับปรุงด้านหน้าของตัวอาคารความสูงสี่ชั้นหลังนี้ มุ่งเน้นที่การบูรณะซ่อมแซม “ให้กลับคืนสู่ลักษณะเดิมอย่างสมบูรณ์มากที่สุด” ผนังตึกที่ปูด้วยกระเบื้องลายอิฐ ซึ่งเป็นลวดลายที่ได้รับความนิยมในไต้หวัน หลังจากปี ค.ศ. 1920 เป็นต้นมา ได้รับการขัดทำความสะอาดอย่างพิถีพิถัน จนปรากฏสีเหลืองนวลของกระเบื้อง และให้ความรู้สึกอบอุ่นเป็นพิเศษ ที่บริเวณชั้นสองและสามของอาคาร ตบแต่งด้วยกรอบหน้าต่างทรงเหลี่ยมและวงกลม รวมถึงเสาไฟและราวกั้นที่ระเบียง สะท้อนถึงสไตล์การตบแต่งแบบ “Art Deco” ด้วยเอกลักษณ์ของการใช้เส้นตรงและเส้นโค้งที่เรียบง่าย ให้ความรู้สึกถึงกลิ่นอายของอดีตที่คงความทันสมัย โดยรวมแล้ว ทำให้มองเห็นถึง “ความคิดสร้างสรรค์ที่มีคุณค่าของคนในยุคเก่า” เสิ่นถิงหรูกล่าว
เมื่อก้าวเข้าไปภายในอาคาร จะเห็นการออกแบบพื้นที่ด้านใน ที่สอดรับกับลักษณะของอาคารด้านนอกอย่างลงตัว โดยพื้นที่แต่ละชั้นของอาคาร ได้รับการออกแบบอย่างเป็นอิสระต่อกัน เน้นการตบแต่งโดยใช้รูปทรงเรขาคณิตที่เข้ากันได้ดีกับหน้าต่างทรงเหลี่ยมและวงกลมเป็นพื้นฐาน เช่น เคาน์เตอร์บาร์ที่ชั้น 1 ด้านหน้าออกแบบเป็นทรงโค้ง ขณะที่ด้านในเป็นทรงเหลี่ยม ผนังสีเทาที่สร้างขึ้นใหม่บริเวณชั้น 2 ของอาคาร ถูกเจาะเป็นวงกลมขนาดใหญ่ เพื่อให้มองเห็นผนังอิฐเก่าซึ่งเป็นของเดิม และที่บริเวณชั้น 3 ยังคงรักษาโครงสร้างเดิมของอาคารที่เป็นหลังคาทรงโค้ง พร้อมกับบ่อน้ำทรงครึ่งวงกลม ที่ตั้งอยู่บริเวณระเบียงกลางแจ้ง
เมื่อขึ้นไปถึงชั้นดาดฟ้า เราจินตนาการย้อนกลับไปยังช่วงเวลาที่ซินโจวอู เคยสูงโดดเด่นเหนือหลังคาบ้านชั้นเดียวที่ตั้งอยู่ในละแวกนั้น จากด้านบนนี้ สามารถมองเห็นท่าเรือหนานเหลียวที่อยู่ไกลออกไปได้ชัดเจน เสิ่นถิงหรูกล่าวว่า บรรดาลูกหลานของตระกูลไต้ ที่ได้กลับมาเยือนอาคารเก่าหลังนี้ในภายหลังเล่าให้ฟังว่า สมัยที่พวกเขายังเด็กมักจะเล่นชิงช้าอยู่ข้างบ่อน้ำทรงครึ่งวงกลม ซึ่งเลี้ยงปลาเอาไว้บ่อย ๆ และยังเคยจัดงานเลี้ยงเต้นรำ และขายบัตรที่บริเวณชั้นดาดฟ้าด้วย ในตอนนั้น มีคนเข้าร่วมมากถึงสองร้อยกว่าคน ในช่วงนั้นครอบครัวคนไต้หวันที่มีฐานะดี ต่างก็เคยใช้ชีวิตที่โก้เก๋และหรูหราเช่นนี้
.jpg?w=1080&mode=crop&format=webp&quality=80)
ไม่นานมานี้ บนผนังกระจกของอาคารคิคุโมโตะได้มีการติดภาพถ่ายเก่าขนาดใหญ่ที่พิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ เป็นการประกาศว่าอาคารเก่าหลังนี้ กำลังจะได้รับการฟื้นฟูให้กลับมามีความรุ่งเรืองเช่นในอดีตอีกครั้ง
ให้โลกได้รู้จักไถหนาน : ห้างฮายาชิ
ห้างสรรพสินค้าฮายาชิ เปิดกิจการครั้งแรกในปี ค.ศ. 1934 ตั้งอยู่ในย่านม่อหวงติง ซึ่งเป็นย่านที่มีความคึกคักมากที่สุดของตัวเมืองไถหนานในยุคนั้น เนื่องจากเป็นอาคารสูงเพียงไม่กี่แห่ง ห้างฮายาชิจึงถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า “ห้างห้าชั้น” ตามความสูงของตัวอาคาร และนับเป็นห้างที่มีชื่อเสียงโด่งดังเทียบเท่ากับห้างคิคุโมโตะในไทเป โดยเป็นห้างสรรพสินค้าเพียงสองแห่งในไต้หวันที่มีลิฟต์ให้บริการ หลังจากภาวะสงคราม และไต้หวันเข้าสู่การสิ้นสุดการปกครองโดยญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นทยอยเดินทางออกจากไต้หวัน ห้างฮายาชิได้ประกาศปิดกิจการ รัฐบาลในขณะนั้นได้เข้าครอบครองอาคารและพื้นที่ดังกล่าว เพื่อใช้เป็นที่ทำการของหน่วยงานราชการและหอพักของทหารอากาศ ก่อนถูกทิ้งร้างและไม่ได้ใช้ประโยชน์มาเป็นเวลานานหลายสิบปี กระทั่งในปี ค.ศ. 1998 อาคารดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานของไถหนาน จึงได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ ต่อมา Koche Fashion ซึ่งเป็นบริษัทท้องถิ่นในไถหนาน ได้เข้าบริหารห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ และเปิดให้บริการใหม่อีกครั้งในชื่อ “ห้างฮายาชิ” ในปี ค.ศ. 2014
ปัจจุบัน ห้างฮายาชิ ถือเป็นห้างสรรพสินค้าที่ “เก่าแก่ที่สุด” และมีขนาด “เล็กที่สุด” ในไต้หวัน ห้างฮายาชิมีการดำเนินงานที่แตกต่างออกไปจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งบริหารจัดการโดยกลุ่มธุรกิจ โดยเก็บรักษาตัวลิฟต์ดั้งเดิม ซึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัยในยุคนั้นเอาไว้ ทั้งตัวเข็มชี้บอกชั้นแบบโบราณและช่องหน้าต่างระบายอากาศในลิฟต์ นอกจากนี้ ยังอนุรักษ์สิ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่อยู่ในตัวอาคารไว้ด้วย เช่น ศาลเจ้าชินโตญี่ปุ่น ที่ตั้งอยู่บนดาดฟ้าของตัวอาคาร และประตูเหล็กม้วนที่ต้องใช้มือหมุนในการเปิดปิด เป็นต้น
สิ่งที่แตกต่างจากในอดีตคือ ห้างฮายาชิในยุคนั้นจำหน่ายสินค้าแปลกใหม่และล้ำสมัยจากต่างประเทศโดยเฉพาะ แต่ห้างฮายาชิในปัจจุบัน กลับมาในรูปแบบของศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมของเมืองไถหนาน อาทิ การตกแต่งที่ชั้น 3 ด้วยผ้าไหมซาตินลายดอกไม้จากร้าน “Ming Lin Lace” ซึ่งเป็นร้านเก่าแก่ของไถหนาน และยังมีการจัดแสดงสินค้าที่มีเอกลักษณ์ของไถหนานจำนวนมาก เช่น กระเป๋าสายรุ้งที่มีบริบทของไต้หวันอย่างเต็มเปี่ยม กระเป๋าผ้าแคนวาสพิมพ์ลายไข่ปลา และรองเท้าแตะสีขาวน้ำเงิน ผลิตโดยร้านผ้าท้องถิ่น “จิ่นหยวนซิง” ที่มีอายุเก่าแก่กว่าร้อยปี ล้วนแต่เป็นสินค้าที่มีความหลากหลายและครบครัน
ห้างฮายาชินับว่าเป็นสถานที่สำหรับเปิดหูเปิดตาไปสู่โลกสมัยใหม่ให้กับคนไถหนานในยุคนั้น ขณะที่การกลับมาเปิดให้บริการใหม่ของห้างแห่งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทั่วโลกได้เห็นไถหนานในรูปแบบใหม่ ไช่เหว่ยหรง (蔡緯蓉) หัวหน้าแผนกสื่อสารการตลาดของห้างสรรพสินค้า กล่าวกับเราว่า นี่ก็เป็นเหตุผลที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จะต้องไม่พลาดการมาเที่ยวห้างฮายาชิ เมื่อได้มาเยือนที่ไถหนาน
.jpg?w=1080&mode=crop&format=webp&quality=80)
เสิ่นถิงหรู ผู้จัดการของ OR HOUSE
สถานที่สำหรับบันทึกความทรงจำของคนไถหนาน
ห้างสรรพสินค้าเปรียบเสมือนสถานที่บันทึกความทรงจำที่สำคัญ ในการใช้ชีวิตของผู้คนที่ก้าวเข้าสู่สังคมการบริโภคสมัยใหม่ หากย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1930 ห้างสรรพสินค้าในไต้หวัน มักจะตั้งอยู่ในย่านที่คึกคักที่สุดในเวลานั้น ถ้าเป็นอาคารที่ตั้งอยู่บริเวณสี่แยก ก็มักจะมีการออกแบบด้านหน้าอาคารให้ดูโดดเด่นเตะตา และตกแต่งตู้โชว์กระจกให้มีสีสันสวยงาม เพื่อดึงดูดความสนใจและกระตุ้นความอยากซื้อสินค้าอยู่เสมอ เมื่อเดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้า นอกจากการซื้อสินค้าแล้ว ผู้คนที่มาเที่ยวห้างมักจะขึ้นลิฟต์ไปยังชั้นดาดฟ้า เพื่อชมวิวทิวทัศน์ของเมืองโดยรอบ หรือไม่ก็เพื่อมาทานอาหารที่ร้านอาหาร ซึ่งอยู่ที่ชั้นสูง ๆ ของห้าง รูปแบบการใช้ชีวิตและการซื้อสินค้าของผู้คน ยังคงมีลักษณะเช่นนี้ในปัจจุบัน
แม้ว่าความทรงจำบางส่วนจะขาดหายไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นหลังสงคราม แต่กลับสามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนว่า เหตุใดห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการก้าวเข้าสู่สังคมบริโภคนิยมสมัยใหม่ของไต้หวัน จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้คงอยู่ต่อไป ไม่เพียงแต่เทคนิคการก่อสร้างและรูปแบบอาคาร ที่เป็นเอกลักษณ์ในยุคนั้นเท่านั้น เพราะที่นี่ยังเป็นสถานที่สำคัญสำหรับการใช้ชีวิตของผู้คน ทั้งการชอปปิ้ง พักผ่อน และพบปะสังสรรค์ ดังที่ หลินจงขุย ผู้ที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงของห้างคิคุโมโตะมาโดยตลอด ได้กล่าวไว้ว่า “โอกาสในการสร้างห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่มีอยู่มากมาย แต่โอกาสในการอนุรักษ์ห้างเก่าแก่ที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์ กลับมีเพียงน้อยนิด ณ ตอนนี้เรามีห้างเก่าแก่ที่หลงเหลืออยู่เพียงแค่ 3 แห่งเท่านั้น และห้างคิคุโมโตะเองยังเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกอีกด้วย ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความหมายอย่างมาก ใช่หรือไม่” เหตุผลที่ทำให้สถานที่เหล่านี้มีคุณค่าต่อการอนุรักษ์ ก็เพราะความสามารถในการเก็บรักษาและปกป้องความทรงจำของทุกคน ที่เคยใช้ชีวิตและมีส่วนร่วมกับสถานที่เหล่านี้
.jpg?w=1080&mode=crop&format=webp&quality=80)
OR HOUSE เน้นการบูรณะฟื้นฟู เพื่อให้อาคารมีรูปลักษณ์กลับมาเหมือนในอดีต กรอบหน้าต่างทรงเหลี่ยมและวงกลม เสาโคมไฟ และราวกั้นที่ระเบียง ล้วนเป็นการออกแบบด้วยดีไซน์ดั้งเดิมในอดีต
.jpg?w=1080&mode=crop&format=webp&quality=80)
OR HOUSE ออกแบบประตูหน้าให้มีลักษณะการเดินเข้าออก โดยให้เดินเข้าทางประตูขวาและออกทางประตูซ้าย ให้ความรู้สึกที่ทันสมัยและแปลกใหม่
.jpg?w=1080&mode=crop&format=webp&quality=80)
ห้างฮายาชิมุ่งมั่นที่จะผสมผสานความเก่ากับใหม่เข้าด้วยกัน ภายในห้าง ยังคงมองเห็นสภาพพื้นที่เป็นของเดิม (มุมซ้ายล่างของภาพ) ที่ออกแบบให้เชื่อมต่อเข้ากับลักษณะของพื้นที่ปูใหม่ได้อย่างลงตัว
.jpg?w=1080&mode=crop&format=webp&quality=80)
ห้างฮายาชิที่กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง เปรียบเสมือนเป็นสถานที่เก็บรักษาความทรงจำของคนในพื้นที่ (ภาพจากบริษัท Koche Fashion/ห้างฮายาชิ)
-new.jpg?w=1080&mode=crop&format=webp&quality=80)