ขี่จักรยาน ท่องไปในไทจง
กูรูนำทาง เสน่ห์แห่งการขี่ที่หลากหลาย
เนื้อเรื่อง‧หลิวถิงจวิน ภาพ‧จวงคุนหรู แปล‧ธีระ หยาง
ตุลาคม 2024
ในครั้งนี้ เราจะขี่จักรยานผ่านนครไทจงในภาคกลางของไต้หวัน เพื่อสัมผัสประสบการณ์และวัฒนธรรมการขี่จักรยานแบบใหม่กัน
จากช้าเป็นเร็ว กระตุ้นจิตวิญญาณแห่งการผจญภัย
หลังจากที่ขี่จักรยานแบบสบาย ๆ มาระยะหนึ่ง ตามเส้นทางจักรยานสีเขียวถันหย่าเสิน พร้อมดื่มด่ำไปกับแสงแดดยามเช้าและกลิ่นหอมของต้นประดู่ส้ม เราขี่จักรยานไปตามแม่น้ำต้าหลี่ซี มุ่งหน้าไปยังเขตอุทยานท่องเที่ยวต้าเคิง ก่อนถึงทางเข้าของเส้นทางเดินเขาต้าเคิงหมายเลข 2 จะมองเห็นป้ายบอกทาง ให้ไปตามทางก็จะพบกับสวนสาธารณะจักรยานตงตง (Dondon Bike Park) อันลึกลับของไทจง ซึ่งมีภูมิประเทศที่เป็นเนินเขาเหมาะสำหรับการฝึกซ้อมและแข่งขันจักรยานเสือภูเขาเป็นอย่างมาก ที่นี่เราได้พบกับหลิวหงอี (劉宏一) ผู้ก่อตั้งศูนย์ฝึกจักรยานวิบาก กำลังฝึก “การปั๊ม” ซึ่งเป็นเทคนิคพิเศษที่ใช้สำหรับการขี่จักรยานข้ามเนิน หลิวหงอี ได้เปลี่ยนจากขี่จักรยานเสือหมอบมาเป็นจักรยานเสือภูเขาในปี ค.ศ. 2019 ก่อนจะเปิดโรงเรียนเพื่อสอนให้เด็ก ๆ รักการขี่จักรยานเช่นกัน
“วัฒนธรรมจักรยานมีชีวิตชีวาและทรงพลังเป็นอย่างมาก ขอเพียงหาวิธีในการส่งเสริม ซึ่งผมขอเรียกสิ่งนี้ว่า การสร้างความประทับใจอย่างเข้มข้น” หลิวหงอีกล่าว ไม่ว่าจะเป็นจักรยานประเภทใด หากมีกลุ่มคนที่ชื่นชอบเป็นจำนวนมาก ก็จะมีโอกาสมารวมตัวกันจนกลายเป็นวัฒนธรรม หลิวหงอีได้นำเอาความรู้มาปรับปรุงวัฒนธรรมการขี่จักรยานให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งจะดึงดูดผู้คนให้มาเข้าร่วมมากขึ้นตามไปด้วย
“แถวภูเขาต้าตู้ซานของไทจง ยังมีสถานที่เหมาะสำหรับการขี่จักรยานเสือภูเขา ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก แต่ชาวต่างชาติคุ้นเคยกับที่นี่เป็นอย่างดี และยังชอบไปด้วย”
เส้นทางจักรยานถันหย่าเสินเปี่ยมไปด้วยบรรยากาศอันเขียวชอุ่ม สายลมที่พัดผ่านก็อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมของต้นไม้และดอกไม้
ทางเลือกกับชีวิตที่เปี่ยมด้วยอิสรภาพ
หลังลงจากภูเขา เราได้ขี่เข้าไปในตัวเมืองและพบกับเจียงซินจิ้ง (江心靜) ศิลปินอิสระ เพื่อสำรวจใจกลางนคร ไทจงด้วยจักรยานจากมุมมองด้านศิลปวัฒนธรรม
“เส้นทางจักรยานส่วนตัวเชิงศิลปะ” ของเจียงซินจิ้ง มีจุดเริ่มต้นจากพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ไต้หวัน ผ่านไปทางหมู่บ้านเซิ่นจี้ซินชุน ห้าง Eslite สาขาฉินเหม่ย พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ตลอดทางได้ลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยจนถึงเฉ่าอู้เต้า (草悟道) เจียงซินจิ้งกล่าวว่า “แถบนี้เหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับการท่องเที่ยวแบบไม่เร่งรีบ เราจะได้เห็นอาคารทรงฝรั่งที่สร้างขึ้นในยุคที่ทหารอเมริกันยังประจำการในไต้หวัน ถูกดัดแปลงมาเป็นร้านค้าเล็ก ๆ เพียงจอดจักรยานไว้หน้าร้าน เราเดินเข้าไปเหมือนกับเป็นแขกมาเยี่ยมเยือน”
การขี่จักรยานทำให้ร่างกายของเจียงซินจิ้งได้สะสมความทรงจำไว้เป็นจำนวนมาก และเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานศิลปะ “สำหรับฉันแล้ว จักรยานถือเป็นตัวแทนของ “อิสรภาพ” สามารถควบคุมความเร็วได้ ไปที่ไหนก็ได้ พาตัวเองให้พ้นไปจากความกดดันของปัจจุบันได้ และเพลิดเพลินกับการพักผ่อนในแบบที่ไม่ต้องวางแผนใด ๆ”
เส้นทางจักรยานส่วนตัวเชิงศิลปะของเจียงซินจิ้ง ศิลปินคนดัง รวมถึงตึกทรงฝรั่งที่เคยเป็นบ้านพักเก่าของทหารอเมริกัน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นร้านค้าเล็ก ๆ มากมาย
สำรวจวัฒนธรรมจักรยาน
ได้ยินมาว่า คนที่ทำงานในแถบอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคกลางมีความเคยชินแบบหนึ่ง คือ มักจะใช้เวลาช่วงเช้าตรู่ที่อากาศดีเย็นสบาย ไปขี่จักรยานออกกำลังกายกันที่ “เนินกระรอก (松鼠坡)” ซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณอุทยานฯ และเป็นเส้นทางขี่จักรยานที่มีความท้าทาย ก่อนจะกลับบ้านอาบน้ำแล้วค่อยไปทำงาน จะทำให้รู้สึกมีพลังงานมากขึ้น การขี่จักรยานช่วงเช้าตรู่ ค่อย ๆ กลายมาเป็นวัฒนธรรมใหม่ของการขี่จักรยานในไทจง เพราะมันไม่ใช่แค่การออกกำลังกายหรือเป็นงานอดิเรกในแต่ละวัน หากแต่ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนไปในตัวด้วย
6 โมงเช้าของวันต่อมา พวกเราเริ่มวอร์มอัพที่จุดเริ่มต้นของเนินกระรอก เราได้พบกับหวังอี๋เหวิน (王怡雯) ไบค์เกอร์สาวที่มาพร้อมกับอุปกรณ์การขี่จักรยานแบบครบชุด ที่จะพาเราไปสัมผัสกับประสบการณ์ในการขี่จักรยานบนเส้นทางสายนี้ ถนนของเนินกระรอกราบเรียบ ความยากของเนินและโค้งอยู่ในระดับปานกลาง เส้นทางก็ราบรื่นดี หลังจากขี่กับเธอมาได้สักพักก็รู้สึกได้ถึงความสนุกและสดชื่นจริง ๆ
จากนั้น เราไปเยือนพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมจักรยาน ซึ่งตั้งอยู่ด้านข้างของสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของบริษัท Giant Group พานจี้ (潘冀) สถาปนิกผู้ออกแบบชี้ว่า “เพื่อให้ภายในพิพิธภัณฑ์มีเนื้อที่สำหรับจัดแสดงมากที่สุด จึงใช้โครงสร้างเปลือกบาง พร้อมทั้งออกแบบให้มีหลังคาเป็นรูปโลโก้ของ Giant” การออกแบบสภาพแวดล้อมที่ให้ความรู้สึกลื่นไหลเป็นแรงบันดาลใจที่มาจากวัฒนธรรมจักรยาน ซึ่งเป็นความรู้สึกทางจิตวิญญาณที่อิสระ ไหลลื่น และยืดหยุ่น พานจี้กล่าวว่า “แม้แต่การใช้สีภายนอก ก็เลือกใช้สีเงินที่สว่างเป็นพิเศษ ทำให้ส่วนโค้งที่โครงสร้างของอาคารมีลักษณะคล้ายสายน้ำ ซึ่งสามารถสะท้อนแสงอาทิตย์ในเวลาที่ต่างกัน และยังแสดงให้เห็นถึงความว่องไวของจักรยานอีกด้วย”
ในพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมจักรยานมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ตั้งแต่วิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของฟังก์ชันในการทำงานต่าง ๆ เทคโนโลยีของงานฝีมือ หลักการของเครื่องจักรกล พัฒนาการของวัสดุ ไปจนถึงจักรยานที่มีศิลปะ องค์ประกอบต่าง ๆ ของจักรยานที่ถูกนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ฯ ได้เปลี่ยนแปลงความเข้าใจของผู้คนที่มีต่อวัฒนธรรมจักรยานไปอย่างสิ้นเชิง
“หากขับรถก็จะเร็วเกินไป แต่ถ้าเดินก็จะช้าเกินไป ความเร็วของจักรยานจะอยู่ระหว่างสองอย่างนี้ ขับรถต้องพึ่งพาเครื่องยนต์ การเดินก็ต้องใช้เท้า แต่การขี่จักรยานต้องใช้ทั้งร่างกายและสมองมาทำงานร่วมกัน” วังเจียเฮ่า (汪家灝) กล่าว “เมื่อคนส่วนใหญ่มีความเข้าใจร่วมกันและมีพฤติกรรมซ้ำ ๆ ในแบบเดียวกัน วัฒนธรรมก็จะก่อตัวขึ้นตามธรรมชาติ การขี่จักรยานก็เช่นเดียวกัน ทุกคนได้รับความสนุกสนานในการขี่จักรยานในรูปแบบต่าง ๆ และรู้สึกมีความสุขในการขี่ ทำให้เกิดเป็นการตั้งกลุ่มผู้ขี่จักรยานที่แตกต่างกัน ซึ่งต่อมากลายเป็นวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว”
สวนสาธารณะจักรยานตงตงซึ่งซ่อนตัวอยู่ในซอยชิงสุ่ยเซี่ยงบริเวณภูเขา ต้าเคิงซาน เป็นเส้นทางมีความชันและถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี เหมาะสำหรับการฝึกซ้อมของเหล่าผู้รักการขี่จักรยานเสือภูเขาเป็นอย่างมาก
สาเหตุที่ทำให้รักการขี่จักรยาน
Michael Vincent Manalo ศิลปินชาวฟิลิปปินส์ คือผู้สร้างสรรค์จักรยานศิลปะที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ หลังจากที่เขาใช้ชีวิตในยุโรปมาหลายประเทศ สุดท้ายได้เลือกมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในนครไทจง “ไต้หวันเป็นดินแดนที่ดีที่สุด ผมจึงตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ที่นี่” Michael สามารถพูดภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่ว “ผมเคยไปทั้งไทเปและเกาสง แต่รู้สึกว่าชีวิตของแต่ละคนยุ่งวุ่นวายเป็นอย่างมาก แต่ไทจงไม่เหมือนกัน มันอยู่ในระดับพอดี ๆ ผมชอบเส้นทางขี่จักรยานของที่นี่เป็นพิเศษ จึงตัดสินใจมาอยู่ที่นี่”
Michael รักการขี่จักรยานมาตั้งแต่เด็ก ๆ แม้ในขณะที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศซึ่งกว้างใหญ่และต้องเดินทางไกล ๆ ก็ยังคงใช้จักรยานในการเดินทางไปทำงาน เขาบอกว่า เมื่อเท้าเหยียบไปบนบันไดจักรยาน ก็จะลืมความกังวลต่าง ๆ ไปในทันที “ผมค้นพบว่าคนไต้หวันทำให้การขี่จักรยานเป็นเรื่องที่สนุกมากขึ้นด้วยเส้นทางอันหลากหลาย ที่ไทจงถ้าขี่ไปทางเหนือขึ้นไปบนเนินเขาก็ยังเห็นทะเล อีกทั้งยังจะได้พบกับเหล่าไบค์เกอร์ผู้เปี่ยมด้วยไมตรีจิตมากมายและยังมีการตั้งกลุ่มไลน์ สำหรับผมแล้วถือว่าได้ค้นพบความหมายใหม่ของจักรยานเลยทีเดียว”
Michael ผู้ซึ่งใช้ศิลปะมาทำให้วัฒนธรรมจักรยานมีความสมบูรณ์มากขึ้น ได้ใช้จักรยานในการสำรวจไทจง พร้อมทั้งแบ่งปันเส้นทางที่เขาชื่นชอบเป็นส่วนตัวให้กับเรา “ทางเหนือของภูเขาต้าตู้ซาน มีร้านอาหารชื่อ Black Forest ตั้งอยู่ แถวนั้นมีทางขี่จักรยานเล็ก ๆ มากมาย ผมชอบไปค้นหาเส้นทางใหม่ ๆ คนไทจงจำนวนมากเคยไปกินอาหารพร้อมชมวิวทะเลที่ร้านนี้ แต่คนที่ขี่จักรยานไปตามเส้นทางแถวนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างชาติเหมือนผม”
จากถนนเซี่ยงซั่งลู่ ตอนที่ 5 (向上路五段) ผ่านประตูเหล็กเข้าไป จะพบกับป่าที่มีต้นไม้หนาแน่น มีเส้นทางตัดกันไปมา ซึ่งทางจักรยานสายนี้จะไม่ปรากฏบน Google Map คนไต้หวันส่วนใหญ่ไม่รู้จัก แต่กลับเป็นคนต่างชาติที่นิยมมาขี่จักรยานที่นี่ หรือแม้แต่ชาวต่างชาติบางคนที่ชื่นชอบที่นี่มาก ๆ จะรวบรวมสมัครพรรคพวกมาทำการปูถนนดินกันเอง เพื่อเพิ่มความสนุกในการขี่จักรยาน จนทำให้เส้นทางสายนี้ได้รับฉายาว่า “เส้นทางในป่าของชาวต่างชาติ”
อย่างไรก็ดี ชาวต่างชาติเหล่านี้ได้แขวนป้ายชื่อเส้นทางนี้เอาไว้ที่จุดเริ่มต้นว่า “Jungle Bunny” ซึ่งสื่อความหมายว่า การขี่จักรยานไปตามเส้นทางสายนี้ ให้ความรู้สึกเหมือนกับกระต่ายที่กระโดดอยู่ในป่า
การออกแบบสภาพแวดล้อมและอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของบริษัท Giant Group มีเส้นสายที่ไหลลื่นราวกับเป็นแม่น้ำสีเงิน
เรามาแข่งกันไหม !
ที่ Jungle Bunny มีนักขี่จักรยานมือดีอยู่เป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ Mike Dutton ผู้ซึ่งมีส่วนร่วมในการปูเส้นทางสายนี้และเส้นทางสำหรับการแข่งขันจักรยานวิบากประจำปี Super 8 MTB Festival “ผมมาแถวนี้บ่อย ๆ เพื่อตรวจดูการบำรุงรักษาสภาพของทาง” เส้นทางการแข่งขัน Super 8 กับเส้นทางสายนี้อยู่กันคนละฟากของ ภูเขาต้าตู้ซาน ทำให้มีธรรมชาติที่ไม่เหมือนกัน โดยเส้นทางสายนี้จะมีต้นไม้มากกว่า แต่เส้นทาง Super 8 เป็นเนินดินที่หันหน้าไปยังทางด่วนและมีพุ่มไม้กระจัดกระจายอยู่เป็นระยะ ดังนั้นจึงต้องใช้ความพยายามมากกว่าในการบำรุงรักษา
เมื่อขี่ไปจนถึงสุดทางของถนนเซี่ยงซั่งลู่ ตอนที่ 5 แล้วเลี้ยวเข้าไปยังทางหลวงสายย่อย หมายเลข จง 60-1 ก็จะพบกับสวนสาธารณะรูปวงกลมที่มีชื่อว่า สวนสาธารณะอนุสรณ์เฮิงเต๋อ (亨德) ทางลงเนินที่อยู่หลังโค้งซึ่งเป็นเส้นทางสายเล็ก ๆ คือจุดเริ่มต้นของเส้นทางแข่งขัน Super 8 “ในช่วงระหว่างการแข่งขัน เมื่อผ่านการขออนุญาตใช้งาน ที่นี่ คือเส้นทางสำหรับการแข่งขัน” เฉินต้าจวิน (陳大軍) ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มจัดการแข่งขัน Super 8 กล่าว “เนื่องจากเป็นที่ดินของรัฐบาล เพราะฉะนั้นในช่วงปกติ จะเปิดให้ใช้งานได้ ไม่ว่าใครก็สามารถมาขี่จักรยานฝึกซ้อมที่นี่ได้ จึงเป็นอะไรที่สนุกมาก”
เส้นทางแข่งขันของ Super 8 จะอยู่ที่ภูเขาต้าตู้ซานในฟากที่ทางค่อนข้างชัน ดินมีความเหนียวสูง ดังนั้น จึงสามารถใช้แรงงานคนในการทำถนนให้มีความโค้งหรือความลาดชันได้ตามความต้องการ ส่งผลให้สามารถเพิ่มความเร้าใจในการขับขี่ได้มากขึ้น
“การแข่งขันเป็นเพียงแค่สิ่งที่ช่วยกระตุ้นวัฒนธรรมการขี่จักรยานเสือภูเขามีความสนุกมากขึ้น และทำให้รู้สึกภาคภูมิใจ แต่เป้าหมายสูงสุดก็ยังคงอยู่ที่สามารถสร้างความสุขในการขี่จักรยานได้ ก็เพียงพอแล้ว” เฉินต้าจวินเห็นว่า การส่งเสริมวัฒนธรรมจักรยานช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนจำนวนมาก “การท้าทายตัวเองไม่เกี่ยวอะไรกับอายุ” ตู้ม่ายเกา (杜邁高) รวมถึงเหล่าไบค์เกอร์ทั้งหลาย ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ขอเพียงขาทั้งสองข้างยังขยับได้ “ก็จะขี่ไปเรื่อย ๆ”
เมื่อเดินเข้าไปสู่พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมจักรยาน เราจะได้เริ่มต้นการเดินทางสำรวจจักรยานไปทั่วโลกผ่านแง่มุมทางประวัติศาสตร์ เทคนิค และอื่น ๆ อีกมากมาย
Michael Vincent Manalo ศิลปินผู้ชื่นชอบจักรยาน บอกเล่าเรื่องราวของผู้คนผ่านงานศิลปะเกี่ยวกับจักรยาน
จากเร็วเป็นช้า ความเร็วขึ้นอยู่กับขาทั้งสองข้าง
จากนั้น เราขี่จักรยานไปตามถนนไต้หวันบูเลอวาร์ด ตอนที่ 6 เมื่อเจอคลองระบายน้ำลู่เหลียวแล้ว ก็ขี่ขึ้นเหนือไปตามลำคลอง เราไปถึงพื้นที่ชุ่มน้ำเกาเหม่ยในช่วงเย็น บริเวณชายฝั่งของที่นี่มีกังหันลมขนาดยักษ์สำหรับผลิตไฟฟ้าตั้งอยู่ 13 ต้น ทิวทัศน์อันงดงามระดับโลกของที่นี่ได้รับการยกย่องจากสื่อมวลนานาชาติว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ซึ่ง “ต้องไปเยือนสักครั้งในชีวิต” เราได้ขี่จักรยานขึ้นไปบน “เส้นทางจักรยานบนแนวตลิ่งเกาเหม่ย” เพื่อดื่มด่ำไปกับทิวทัศน์ของระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำภายใต้แสงอาทิตย์อัสดง
ในช่วงท้าย เราได้จอดรถจักรยานไว้ที่ด้านหน้าของประตูทางเข้า “ทางเดินกวนซี่” (ชมอาทิตย์อัสดง) ซึ่งทอดยาวลงไปในทะเล แล้วเดินรับลมทะเลไปตามทางเดินสายนี้ แสงระเรื่อจากพระอาทิตย์ที่ค่อย ๆ ลาลับฟ้ากับลมทะเลที่พัดแรง ทำให้ระลอกคลื่นของน้ำทะเลที่อยู่ใต้ทางเดิน มองดูแล้วราวกับเป็นเกล็ดปลาหลากสีสันที่เคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ
จากการที่ประสิทธิภาพและประเภทของจักรยานมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงค่อย ๆ ก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ ๆ และวัฒนธรรมนี้ก็ได้แทรกซึมเข้าสู่ชีวิตประจำวันและรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน การขี่จักรยานในแบบต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน ทำให้บางคนได้มีโอกาสสำรวจตัวเอง บางคนได้รู้จักเพื่อน บางคนได้ครุ่นคำนึงถึงชีวิต บางคนได้ค้นพบอิสรภาพ ซึ่งทุกคนต่างก็ได้รับบางสิ่งบางอย่างตามที่แต่ละคนค้นหา
หากขาทั้งสองข้างยังขยับได้ ก็จะขี่ไปเรื่อย ๆ นี่คือจิตวิญญาณของนักขี่จักรยานเสือภูเขา
เส้นทางแข่งขันจักรยาน Super 8 เต็มไปด้วยความท้าทาย 100% ซึ่งเหล่าคนรักจักรยานเสือภูเขาต้องไปพิชิตเส้นทางนี้ให้ได้
บรรยากาศของน้ำขึ้นในพื้นที่ชุ่มน้ำเกาเหม่ยยามอาทิตย์อัสดงน่าหลงใหลยิ่งนัก เมื่อนำมาเปรียบกับช่วงกลางวันแล้ว แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง