รุ่นปิ่งของบ้านคุณ ใส่ไส้อะไร?
ผงถั่วลิสงใส่น้ำตาล ถั่วลิมา บะหมี่ผัดถั่วงอก
เนื้อเรื่อง‧ เจิงหลันสู ภาพ‧หลินเก๋อลี่ แปล‧ธีระ หยาง
กุมภาพันธ์ 2025
“ยามเห็นผักสดบนจานในฤดูใบไม้ผลิ พลันหวนนึกถึงดอกเหมยที่บานสะพรั่งในสองนครหลวง”
(บทกวีเรื่อง ลี่ชุน (立春 - วันแรกของฤดูใบไม้ผลิ) โดยตู้ฝู่ : 杜甫) – ราชวงศ์ถัง
“เปาะเปี๊ยะสด หรือ รุ่นปิ่ง เปรียบเสมือนพงศาวลีที่ไม่มีตัวหนังสือ บันทึกรหัสลับแห่งชีวิตของคุณไว้อย่างครบถ้วน ไม่จำเป็นต้องถามหมอดูว่า คุณคือใคร หรือมาจากไหน เพียงกัดเปาะเปี๊ยะสดคำเดียว ก็จะได้คำตอบทันที” เฉินจิ้งอี๋ (陳靜宜) นักเขียนหนังสือเกี่ยวกับอาหารไต้หวัน ได้บรรยายไว้ในหนังสือชื่อ “โอ้! รสชาติไต้หวัน ที่แท้ก็แบบนี้นี่เอง”
มีอะไรในรุ่นปิ่งบ้าง
1. ชั้นล่างสุด : ผงถั่วลิสงเป็นชั้นกั้นมิให้น้ำจากผักซึมลงไปได้
2. ไส้ที่ใช้ : เนื้อสัตว์ เต้าหู้แห้ง ไข่ฝอย แครอทฝอย กะหล่ำปลี
3. เครื่องเคียง : ขึ้นฉ่าย ผักชี กุยช่าย ต้นหอมซอย (ทั้งสีขาวและสีเขียว)
เชื่อหรือไม่! ในไต้หวัน เพียงแค่ถามว่าครอบครัวของคุณใส่อะไรในเปาะเปี๊ยะสด หรือ “รุ่นปิ่ง” (潤餅) ก็จะสามารถคาดเดาได้ว่า ครอบครัวของคุณมาจากภูมิภาคไหน ถ้าที่บ้านของคุณไม่รับประทานรุ่นปิ่ง อาจเดาได้ว่าคุณไม่น่าจะมีเชื้อสายฮกเกี้ยน (閩南人) แต่ชาวมาเลเซียและสิงคโปร์เชื้อสายจีน รวมถึงชาวฮ่องกงที่มาเที่ยวไต้หวัน จะสามารถร่วมวงพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ เพราะพวกเขาก็รับประทานรุ่นปิ่งเช่นกัน
ไช่เส้าเอิน (蔡紹恩) นักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์ที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไต้หวัน ตื่นแต่เช้าเพื่อเข้าคิวซื้อรุ่นปิ่งที่ร้านเปาะเปี๊ยะหลินเหลียงห้าว (林良號潤餅) ในตลาดหย่งเล่อของไทเป เพียงกัดคำแรกก็เอ่ยปากว่า “อร่อย!”
ไช่เส้าเอินเล่าว่า ที่สิงคโปร์ก็มีรุ่นปิ่งเช่นกัน ซึ่งพวกเขาเรียกมันว่า “Popiah” (薄餅) แต่เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ในสิงคโปร์นับถือศาสนาอิสลาม รุ่นปิ่งของพวกเขาจึงมักเป็นแบบ “มังสวิรัติ” ที่ไม่มีส่วนผสมของเนื้อหมูหรือปลาหยองเหมือนที่พบเห็นได้โดยทั่วไปในไต้หวัน

ถั่วลิสงบด

กะหล่ำปลี

เต้าหู้แห้ง

ไข่ฝอย

หมูแดง

หอมซอยและผักชีซอย
รุ่นปิ่ง : บันทึกเส้นทางแห่งการอพยพ
เฉินจิ้งอี๋ ผู้เคยสำรวจทั้งในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่าว่า การบริโภครุ่นปิ่ง สะท้อนให้เห็นถึงเส้นทางการอพยพของผู้คน และชื่อเรียกของมันก็เปลี่ยนไปตามภูมิภาค โดยในเมืองจางโจว (漳州) ของจีน และในหลายพื้นที่ของไต้หวัน เปาะเปี๊ยะสดจะถูกเรียกว่า “รุ่นปิ่ง” แต่ที่เกาะจินเหมินจะเรียกมันว่า “ซื่อปิ่ง” (拭餅) ส่วนเซียะเหมิน รวมถึงในมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งเป็นแหล่งที่มีชาวจีนอพยพไปพำนักอาศัยเป็นจำนวนมาก จะเรียกว่า “เปาะเปี๊ยะ ซึ่งออกเสียงเป็นภาษาจีนกลางว่า ปั๋วปิ่ง (薄餅) นั่นเอง” สำหรับในเมืองเฉวียนโจว (泉州) ของจีนแผ่นดินใหญ่ เปาะเปี๊ยะที่นั่นจะใส่ไส้หลากหลายชนิด ราวกับรับประทานบุฟเฟ่ต์ จึงถูกจัดให้เป็นอาหารจานหลักมากกว่าจะเป็นของว่าง และในอินโดนีเซีย เปาะเปี๊ยะที่เรียกว่า “lumpia” ยังได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโกให้เป็น “มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” อีกด้วย ซึ่งเราจะสามารถพบเห็นเปาะเปี๊ยะได้ตามสถานีรถไฟ หรือท้องถนนโดยทั่วไปในอินโดนีเซียด้วย
เฉินจิ้งอี๋ กล่าวเสริมว่า “ตามประวัติศาสตร์แล้ว อินโดนีเซียเคยตกเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ ทำให้เปาะเปี๊ยะแพร่หลายไปยังเนเธอร์แลนด์ และถูกเรียกว่า “Loempia” อีกทั้งยังกลายเป็นของว่างยอดนิยมในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งอาจเป็นจุดที่เปาะเปี๊ยะเดินทางไปยังตะวันตกที่ไกลที่สุดด้วย”
เฉินจิ้งอี๋ นักเขียนหนังสือเกี่ยวกับอาหาร ชักชวนให้ทุกคนมาร่วมกันสร้างสรรค์เอกลักษณ์ของครอบครัว
วัตถุดิบที่หลากหลายของรุ่นปิ่ง
เฉินจิ้งอี๋เล่าว่า หากคุณลองสังเกตดูในรุ่นปิ่งจะพบว่า “ทุกส่วนผสมมีความสำคัญในตัวเอง” พร้อมย้ำว่า แม้แต่การห่อเปาะเปี๊ยะก็ต้องมีตรรกะที่ดี เริ่มจากการโรยผงถั่วลิสงเป็นฐาน เพื่อป้องกันไม่ให้ความชื้นจากผัก ทำให้แผ่นแป้งเปียกแฉะ ส่วนประกอบหลัก ได้แก่ เนื้อสัตว์ เต้าหู้แห้ง ไข่ฝอยและแครอทซอย ส่วนผักอย่าง ขึ้นฉ่าย ผักชี กุยช่ายและต้นหอม (ทั้งต้นสีขาวและเขียวช่วยเพิ่มกลิ่นรสทำให้รสชาติสมบูรณ์)
เฉินจิ้งอี๋ยังอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างส่วนผสมของเปาะเปี๊ยะกับถิ่นกำเนิดของผู้คน เช่น หากเปาะเปี๊ยะมีถั่วลิมาอยู่ ก็อาจบอกได้ว่าครอบครัวของคุณมาจากเมืองไถหนาน นอกจากนี้ ยังพบว่าชาวไถหนานบางบ้านนิยมใส่เนื้อปู กุ้ง และไข่ปลากระบอกเป็นไส้เปาะเปี๊ยะด้วย
ในทางกลับกัน ในพื้นที่เกษตรกรรม เช่น พื้นที่ราบเจียหนาน มักจะใส่หมี่เหลือง หรือ บะหมี่ผัดถั่วงอกเข้าไปในเปาะเปี๊ยะ แต่ในไถหนานจะไม่ใส่บะหมี่เหล่านี้
หยางไฉเซิง (楊才生) เถ้าแก่รุ่นที่ 3 ของร้านเปาะเปี๊ยะหยางชิงหัว (楊清華潤餅) ในนครไทจง เล่าว่า เขาเคยเห็นลูกค้าจากเมืองเจียอี้ซื้อบะหมี่ผัดจากร้านอื่นมาเติมในรุ่นปิ่ง ที่เพิ่งซื้อจากร้านของเขา โดยบอกว่า “กินรุ่นปิ่งต้องใส่บะหมี่ผัด ถึงจะครบรส”
รุ่นปิ่งของร้านหลินเหลียงห้าว ใส่กะหล่ำปลีผัดผงกะหรี่ และถั่วงอกในปริมาณมาก
ไทเป
ร้านเปาะเปี๊ยะหลินเหลียงห้าว กะหล่ำปลีผัดผงกะหรี่
ร้านหลินเหลียงห้าว (林良號) ตั้งอยู่ในตลาดหย่งเล่อซึ่งอยู่ในย่านต้าเต้าเฉิง กลางกรุงไทเป เริ่มขายเปาะเปี๊ยะและแผ่นเปาะเปี๊ยะมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930 หลินลี่อวี้ (林麗玉) ลูกสาวของหลินเหลียงซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง เล่าว่า “ในสมัยก่อนต้องลงแรงมากกว่าเดี๋ยวนี้ เราจะต้มน้ำสต๊อกกุ้งก่อน แล้วใช้น้ำสต๊อกนี้มาผัดกะหล่ำปลี จากนั้นใส่ผงกะหรี่เพื่อเพิ่มรสชาติ ในเปาะเปี๊ยะยังใส่ปลาตาเดียวแห้ง พร้อมราดซอสไห่ซาน (海山醬) อีกด้วย” ในอดีต ย่านต้าเต้าเฉิงเป็นย่านการค้าสำคัญ ที่มีร้านค้าอยู่มากมาย ทำให้กะหล่ำปลีที่ผัดกับผงกะหรี่ซึ่งเป็นสินค้านำเข้า กลายเป็นจุดเด่นที่ไม่เหมือนใครของร้านเปาะเปี๊ยะหลินเหลียงห้าวแห่งนี้
หลินลี่อวี้ มีประสบการณ์ทำแผ่นเปาะเปี๊ยะมากว่า 60 ปี ซึ่งแผ่นเปาะเปี๊ยะที่เธอทำมีความหนาสม่ำเสมอ ยืดหยุ่นดี ไม่ขาดง่าย มีอยู่ครั้งหนึ่ง ทางร้านเคยเน้นขายเฉพาะแผ่นเปาะเปี๊ยะ เพื่อตอบสนองความต้องการของร้านอาหารและงานจัดเลี้ยง ในบางวันจึงสามารถขายแผ่นเปาะเปี๊ยะได้มากถึง 200 ชั่งไต้หวัน (1 ชั่งไต้หวันเท่ากับ 600 กรัม)
เมื่อ 6 ปีก่อน ฟางจื่อหาว (方梓豪) ลูกชายรุ่นที่สาม กลับมาช่วยสืบทอดกิจการของครอบครัว พร้อมนำเปาะเปี๊ยะกลับมาขายอีกครั้ง โดยไส้เปาะเปี๊ยะของเขามีส่วนผสมหลากหลาย เช่น หมูแดง ไข่ฝอย ปลาฝอย เต้าหู้แห้ง ถั่วงอก และเพิ่มรสชาติด้วย ไชโป๊วแห้ง ผงสาหร่าย และผงถั่วลิสง ฟางจื่อหาว กล่าวว่า “นี่คือการรักษาประเพณีที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น”

ด้วยประสบการณ์ยาวนานเกือบ 60 ปี บวกกับความชำนาญในการทำรุ่นปิ่ง ทำให้แผ่นเปาะเปี๊ยะของหลินลี่อวี้ มีความเหนียวนุ่มและไม่แตกง่าย
ไทจง
ร้านเปาะเปี๊ยะหยางชิงหัว จากสาหร่ายไส้ไก่สู่สาหร่ายโนริ
หยางชิงหัว (楊清華) อดีตนายตำรวจ เริ่มขายเปาะเปี๊ยะในปี ค.ศ. 1964 เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ในช่วงแรก เปาะเปี๊ยะของเขาใช้สาหร่ายไส้ไก่ เป็นส่วนผสมหลัก ร่วมกับไชโป๊ว เต้าหู้แห้งผัด และผงถั่วลิสงเป็นไส้ปูพื้น หยางไฉเซิง (楊才生) ผู้สืบทอดรุ่นที่สามเล่าว่า เดิมทีสาหร่ายไส้ไก่จะมีรสหวานตามธรรมชาติ แต่ต่อมาหาซื้อไม่ได้แล้ว ทางร้านจึงหันไปใช้ผงสาหร่ายโนริที่นำเข้าจากญี่ปุ่นแทน
กิจการที่สืบทอดมานานกว่า 60 ปีนี้ ยังคงดำเนินงานแบบครอบครัว โดยมีพี่ชายทำแผ่นเปาะเปี๊ยะ และน้องชายเป็นคนห่อเปาะเปี๊ยะ โดยเริ่มงานกันตั้งแต่หกโมงเช้าด้วยการนวดแป้ง และทำแผ่นเปาะเปี๊ยะ จนกว่าจะขายหมด

รุ่นปิ่งของหยางชิงหัว สามารถเลือกรสวาซาบิได้ด้วย
หยางไฉเซิงย้ำว่า นอกจากการเปลี่ยนมาใช้ผงสาหร่ายโนริแล้ว รสชาติดั้งเดิมของเปาะเปี๊ยะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้ลูกค้าทั้งที่รับประทานมาตั้งแต่เด็ก และผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ยังคงมีโอกาสได้ลิ้มลองรสชาติที่คุ้นเคยเหมือนเมื่อวันวาน
ไถหนาน
จินเต๋อเปาะเปี๊ยะ : ถั่วลิมาและกุ้ง
จินเต๋อเปาะเปี๊ยะเป็นร้านเปาะเปี๊ยะเก่าแก่ในตลาดหย่งเล่อ เมืองไถหนาน ที่เปิดดำเนินการมากว่า 70 ปี แม็กซ์ (Max) นักท่องเที่ยวชาวเยอรมันที่มาเยือนไต้หวันเป็นเวลา 1 เดือน เมื่อเห็นมีลูกค้าเข้าคิวยาวเหยียด จึงตัดสินใจลองซื้อมาชิมดูและกล่าวว่า “ที่เยอรมนีก็มีเปาะเปี๊ยะแบบสปริงโรล และซัมเมอร์โรล แต่เปาะเปี๊ยะของจินเต๋อ เป็นเปาะเปี๊ยะที่ใหญ่ที่สุดที่ผมเคยกินมา ใส่ผักไว้ในไส้เยอะมาก รสชาติก็ดีมาก”
ไส้เปาะเปี๊ยะของจินเต๋อ มีความหลากหลายและโดดเด่น เริ่มด้วยการทาน้ำกระเทียมบดบนแผ่นแป้ง ตามด้วยการโรยผงถั่วลิสงผสมน้ำตาล จากนั้นใส่กะหล่ำปลีที่ผัดกับมันหมูและน้ำ เนื้อแก้มหมูที่ตุ๋นด้วยซีอิ๊ว เต้าหู้แห้ง ไข่ฝอย และที่พิเศษที่สุดคือ ถั่วลิมาลวกและกุ้ง
หลี่จินเต๋อ (李金得) ผู้ก่อตั้งร้าน เริ่มขายเปาะเปี๊ยะในปี ค.ศ. 1954 บริเวณใต้ต้นหางนกยูงฝรั่งบนถนนหย่งเล่อ (ปัจจุบันคือถนนหมินจู่) โดยใช้ชื่อร้านง่าย ๆ ว่า ชุนปิ่ง (春餅) หรือ “เปาะเปี๊ยะ” ต่อมาในฤดูร้อน เขายังขายชาชงเย็นและน้ำรากบัว แต่หลังจากที่หลี่จินเต๋อ ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนต้องพักรักษาตัว หลี่กั๋วหมิง (李國銘) ลูกชายคนโตซึ่งทำงานที่บริษัทต่อเรือ จึงกลับมาสืบทอดกิจการ
ในยุคของหลี่กั๋วหมิง ได้ปรับเปลี่ยนการทำแป้งเปาะเปี๊ยะ โดยใช้แป้งแผ่นกลมแบบทำด้วยมือ 1 แผ่น และแป้งแผ่นสี่เหลี่ยมที่ทำจากเครื่องจักร 2 แผ่น เมื่อม้วนแล้วจะมีลักษณะเหมือนปีกสองข้าง และนำไปทอดด้วยน้ำมันน้อย ๆ บนกระทะให้กรอบเพิ่มกลิ่นหอม
หลี่อี๋อิ่ง (李宜穎) ทายาทรุ่นที่สามกล่าวว่า “ถั่วลิมากับผักชีเป็นวัตถุดิบที่ความคิดเห็นของลูกค้า จะแบ่งเป็นสองขั้วแบบสุดโต่ง” เดิมที คุณปู่จะใช้ถั่วลิมาเฉพาะช่วงที่มีผลผลิตตามฤดูกาล แต่คุณพ่อชื่นชอบรสสัมผัสที่เหมือนมันฝรั่งของถั่วลิมา จึงทำให้มันกลายเป็นส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้ ลูกค้ายังสามารถจ่ายเพิ่ม 10 เหรียญไต้หวัน เพื่อให้ใส่ถั่วลิมาเพิ่มได้ด้วย

ไส้เปาะเปี๊ยะของจินเต๋อ มีทั้งกุ้งสดและถั่วลิมาให้ได้ลิ้มลอง
ปัจจุบัน หลี่อี๋อิ่ง และน้องสาว หลี่อี้หาน (李奕函) ได้สานต่อกิจการ โดยเพิ่มบริการขายเปาะเปี๊ยะสำเร็จรูปแช่แข็งแบบส่งตรงถึงบ้าน และเน้นการปรับแต่งรสชาติตามความต้องการของลูกค้า เช่นเดียวกับการสั่งชานมไข่มุก ลูกค้าประจำมักจะใช้คำสั่งยอดนิยม เช่น หมูไม่ติดมัน หวานครึ่งหนึ่ง ไม่ใส่ผักชี เพิ่มน้ำตาล หรือไม่ใส่กระเทียมแต่เพิ่มถั่วลิมา นอกจากนี้ ยังมีเปาะเปี๊ยะหวาน ซึ่งใส่แค่ผงถั่วลิสงกับน้ำตาล สำหรับผู้ที่ชื่นชอบความหวานแบบเรียบง่ายด้วย
อยู่กับภูเขาก็ใช้วัตถุดิบจากภูเขา อยู่ใกล้ทะเลก็ใช้วัตถุดิบจากทะเล
การย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชน และความแตกต่างของทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ ทำให้รุ่นปิ่งถูกพัฒนาขึ้นในรูปแบบที่หลากหลาย เฉินจิ้งอี๋ชี้ว่า รุ่นปิ่งของไต้หวันที่โรยผงสาหร่ายทะเล น่าจะมีต้นกำเนิดมาจากสาหร่ายหู่ไถของเซี่ยเหมิน โดยไต้หวันเองก็ยังได้รับอิทธิพลจากยุคที่ถูกญี่ปุ่นปกครอง ทำให้ผู้คนยอมรับสาหร่ายทะเลได้ง่ายขึ้น
ในบางพื้นที่ รุ่นปิ่งมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน เฉินจิ้งอี๋กล่าวว่า รุ่นปิ่งของเฉวียนโจว มีส่วนประกอบครึ่งหนึ่งเป็นแครอท ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่บ่งบอกถึงความเป็นรุ่นปิ่งแบบเฉวียนโจว ส่วนในเซี่ยเหมินจะเพิ่มถั่วลันเตาเพื่อเพิ่มความกรอบ และในแบบดั้งเดิมจะใช้กรรไกรตัดเป็นเส้นบาง ๆ โดยในปัจจุบัน ยังมีการเพิ่มหอยนางรมชุบแป้งทอดอีกด้วย
สำหรับคนฝูโจว นิยมใช้เนื้อหมักแดง (紅糟肉) เป็นส่วนประกอบหลัก ใส่ถั่วงอกในปริมาณมาก ทำให้ถั่วงอกกลายเป็นส่วนสำคัญของรุ่นปิ่งสำหรับคนที่นี่
รุ่นปิ่งไต้หวันใส่ไข่ฝอยเพื่อลดความฝาดของผักที่อยู่ในไส้ เฉินจิ้งอี๋ ได้ตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับอาหารมาเลเซียเล่มที่สองในปีนี้ มีชื่อว่า “ฉันเรียกว่าบะหมี่ฮกเกี้ยน แต่คุณเรียกว่าบะหมี่กุ้ง” ได้กล่าวว่า คนเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในมะละกาของมาเลเซีย จะใส่เศษมันหมูทอดในรุ่นปิ่งเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน
“สิ่งที่ฉันคิดว่าแปลกที่สุดคือ ถ้วยทองเนียงยา ที่เคยเห็นในปีนัง” นักเขียนท้องถิ่นชาวมาเลเซีย หลินจินเฉิง เห็นว่า นี่คือพัฒนาการที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของ “เปาะเปี๊ยะ”
นอกจากนี้ เฉินจิ้งอี๋ยังกล่าวถึงความโดดเด่นของรุ่นปิ่งอินโดนีเซีย ที่มีถาดเครื่องเคียงวางอยู่ด้วย เช่น ซอสหวานจัด พริกขี้หนู หอมแดงและกระเทียมบด โดยเฉพาะชาวชวากลางที่ชอบรสหวาน จะใส่ซอสหวานในปริมาณมาก
ร้านเปาะเปี๊ยะจินเต๋อของไถหนาน เน้นการห่อเปาะเปี๊ยะตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งสามารถบอกเพิ่มหรือลดปริมาณน้ำตาลหรือเครื่องเทศได้

Max (ขวา) หนุ่มเยอรมันบอกว่า “เปาะเปี๊ยะของร้านเปาะเปี๊ยะจินเต๋อ เป็นเปาะเปี๊ยะที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยกินมา”
อาหารที่กินร่วมกันทั้งครอบครัว
ความหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการกินรุ่นปิ่งคือ การที่ครอบครัวมารวมตัวกัน เพื่อช่วยกันเตรียมวัตถุดิบและห่อรุ่นปิ่งด้วยกัน เด็ก ๆ จะมีหน้าที่พับแป้งรุ่นปิ่งที่เพิ่งซื้อมาและยังอุ่น ๆ ให้เป็นรูปพัดสองทบ
เฉินจิ้งอี๋อดไม่ได้ที่จะกล่าวอย่างเสียดายว่า ทุกวันนี้หลายครอบครัวเลิกห่อรุ่นปิ่งกินกันแล้ว เพราะไม่มีใครมาช่วยกันทำ จนทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับการรวมตัวในครอบครัวหายไป และยังสูญเสียความผูกพันกับอาหารชนิดนี้ด้วย สำหรับคนรุ่นใหม่ รุ่นปิ่งไต้หวันดูคล้ายกับเบอริโต้ของเม็กซิโก บางคนที่เพิ่งกินรุ่นปิ่งครั้งแรก ก็จะเอาแผ่นแป้งรุ่นปิ่งวางเหมือนจาน แล้วใส่ผักลงไปด้านบน โดยไม่รู้วิธีห่อ
“เราควรสืบสานประเพณีการห่อรุ่นปิ่งนี้ไปยังคนรุ่นต่อไป” เธอย้ำและเล่าอีกว่า มีผู้อ่านคนหนึ่งบอกเธอว่า คนฮากกาไม่มีธรรมเนียมกินรุ่นปิ่ง แต่ก็อาจกลายเป็นรุ่นบุกเบิกแห่งการกินรุ่นปิ่งได้ พร้อมกับออกแบบรุ่นปิ่งเอง เช่น ผู้อ่านคนนี้ใส่ขนมกรอบยี่ห้อนกยูง ซึ่งให้รสเค็มหอมและความกรอบคล้ายกับข้าวเกรียบกุ้งบด ที่ใช้ทำรุ่นปิ่งในแถบอีโปห์ ประเทศมาเลเซีย ทำให้ได้รสเค็มหอมและความกรอบของกุ้ง
ดังที่เฉินจิ้งอี๋กล่าวไว้ว่า “รุ่นปิ่ง เปรียบเสมือนพงศาวลีที่ไม่มีตัวหนังสือ” เราสามารถใช้รุ่นปิ่งเป็นสื่อกลางในการสร้างเอกลักษณ์ของครอบครัว ลองมาห่อรุ่นปิ่งกันเถอะ! มาร่วมกันห่ออาหาร ที่สะท้อนภาพของวัฒนธรรมท้องถิ่น และห่อสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คนไปด้วยกัน
เปาะเปี๊ยะของร้านเปาะเปี๊ยะจินเต๋อ ราวกับมีปีกสองข้าง หากนำไปทอดบนกระทะด้วยน้ำมันน้อยๆ ก็จะได้กลิ่นไหม้ที่หอมเพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่ง






