ความผูกพันใกล้ชิด อดีตถึงปัจจุบัน
ระหว่าง “ไต้หวัน-ฟิลิปปินส์”
เนื้อเรื่อง‧เติ้งฮุ่ยฉุน ภาพ‧หลินเก๋อลี่ แปล‧ กฤษณัย ไสยประภาสน์
สิงหาคม 2024
Palacio del Gobernador , Casas Consistoriales และ Plaza Roma ถือเป็นอัตลักษณ์ของเมืองอาณานิคมสเปน ในภาพคือ Palacio del Gobernador และ Plaza Roma ที่อยู่ด้านหน้า
การที่โลกรู้จักไต้หวัน มีความเกี่ยวพันกับฟิลิปปินส์ไม่น้อย ในปี ค.ศ. 1571 ประเทศสเปนเข้ายึดครองหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ใช้กรุงมะนิลาเป็นศูนย์กลางในการค้าขาย และเริ่มต้นเส้นทางเดินเรือเพื่อการค้าผ่านไต้หวัน ทำให้ไต้หวันเริ่มปรากฏชื่อขึ้นมาบนเส้นทางเดินเรือของโลก
ฟิลิปปินส์ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่มากกว่า 7,000 เกาะ มีพื้นที่รวมประมาณ 320,000 ตร.กม. คิดเป็น 8.3 เท่าของไต้หวัน มีภาษาอังกฤษและภาษาตากาล็อกเป็นภาษาราชการ ประชากรเกินกว่า 80% นับถือศาสนาคริสต์ มีประชากรทั้งสิ้นกว่า 110 ล้านคน มีความได้เปรียบที่มีประชากรจำนวนมาก ประกอบกิจการด้านภาคบริการเป็นหลัก ขณะเดียวกันก็เป็นประเทศผู้ส่งออกแรงงานที่สำคัญของโลกด้วย คำบรรยายเหล่านี้ทำให้เรามีความรู้สึกได้ถึงความแตกต่างระหว่างไต้หวันกับฟิลิปปินส์อย่างเห็นได้ชัด แต่ไต้หวันกับฟิลิปปินส์ก็มีอะไรที่เชื่อมโยงกันอยู่ และมีส่วนที่เกี่ยวข้องกันมาตั้งแต่อดีตอันยาวนาน
Instrumuros ในกรุงมะนิลา ในภาษาสเปนหมายความว่า “เมืองในกำแพง”เต็มไปด้วยร่องรอยแห่งความเป็นอาณานิคมของสเปน
อาจจะได้รับอิทธิพลจากการเป็นอาณานิคมของยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทำให้สิ่งปลูกสร้างในกรุงมะนิลาเต็มไปด้วยสีสันของตะวันออกกับตะวันตก จนได้รับฉายาว่า “เมืองที่มีความเป็นยุโรปมากที่สุดในเอเชีย”
ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กัน จนโบกมือทักทายกันได้
เดือนมิถุนายนของปี ค.ศ. 2023 คุณโจวหมิงก้าน (周民淦) เพิ่งเดินทางไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำฟิลิปปินส์ บอกกับเราว่า ท่านเคยไปเยือนจังหวัดคากายันทางตอนเหนือสุดของเกาะลูซอน ผู้ว่าราชการจังหวัดคากายันบอกกับท่านว่า ชาวบ้านที่อยู่ทางชายฝั่งเหนือสุดของเกาะ สามารถรับฟังเพลงจากสถานีวิทยุที่ส่งมาจากทางภาคใต้ของไต้หวันได้ ชนพื้นเมืองที่นั่นจำนวนมากร้องเพลงยอดนิยมของไต้หวันได้ คุณโจวหมินก้านย้ำว่า “นอกจากจีนแล้ว ฟิลิปปินส์เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ไต้หวันมากที่สุด”
ความใกล้ชิดด้านภูมิศาสตร์ทำให้ไต้หวันกับฟิลิปปินส์เสมือนพี่น้องร่วมเป็นร่วมตายกัน นักวิชาการด้านการพยากรณ์อากาศบอกกับเราว่า ไต้ฝุ่นที่พัดเข้าไต้หวันในแต่ละปี ส่วนใหญ่จะถล่มฟิลิปปินส์ก่อน จากนั้นจึงค่อยเคลื่อนตัวมายังไต้หวัน ส่วนนักวิชาการด้านธรณีวิทยาก็จะบอกว่า เราตั้งอยู่บนแนวภูเขาไฟรอบมหาสมุทรแปซิฟิกเหมือนกัน ไต้หวันกับฟิลิปปินส์มีความเกี่ยวดองกัน ทั้งในแง่ของสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ โครงสร้างธรณีวิทยา ภูมิอากาศ และแผ่นดินไหว ทำให้ไต้หวันกับฟิลิปปินส์มีอะไรที่สามารถร่วมมือกันวิจัยศึกษาได้ตั้งแต่ “ภูเขา” จนถึง “ทะเล”
หมู่เกาะทวีปอเมริกาที่ตกหล่นอยู่ในเอเชียโดยไม่ได้ตั้งใจ
เส้นทางบินตรงจากเถาหยวนสู่มะนิลา ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง 20 นาทีเท่านั้น ก็จะถึงสนามบินนานาชาตินินอย อาควิโน่ กรุงมะนิลาได้รับอิทธิพลจากการเป็นอาณานิคมของยุโรปและสหรัฐอเมริกา สิ่งปลูกสร้างหลอมรวมอัตลักษณ์ของตะวันออกกับตะวันตกเข้าด้วยกัน จนได้รับสมญานามว่าเป็น “เมืองที่มีความเป็นยุโรปมากที่สุดในเอเชีย” ศูนย์การเงินและการค้า Makati มีสภาพเช่นเดียวกันกับย่านธุรกิจซิ่นอี้ในกรุงไทเปที่แออัดไปด้วยอาคารสำนักงาน และคลาคล่ำไปด้วยรถรา แต่มันก็มีบรรยากาศที่แตกต่างกับท้องถนนในกรุงไทเป ซึ่งเต็มไปด้วยบรรยากาศชิล ๆ ผ่อนคลายอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะท้องถนนในกรุงมะนิลากลับเต็มไปด้วยตำรวจรักษาความปลอดภัยที่มีอาวุธครบมือ เมื่อต้องการเข้าไปในอาคารสำนักงานหรือห้างสรรพสินค้า ก็จะต้องมีการตรวจค้นอย่างละเอียดเพื่อความปลอดภัย แถมด้วยมีสุนัขตำรวจคอยดมกลิ่นสัมภาระของผู้คนด้วย
ย่านเมืองเก่า Intramuros ที่มีชื่อเสียงกลางกรุงมะนิลา เต็มไปด้วยสีสันแห่งความเป็นอาณานิคมสเปน Kutang Santiago ที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงมะนิลา เป็นแลนด์มาร์กสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่ง ส่วนโบสถ์ในกรุงมะนิลา Palacio del Gobernador ตั้งอยู่ทางทิศใต้และ Casas Consistoriales ที่อยู่ทางตะวันออก ห้อมล้อม Plaza Roma เอาไว้ การวางผังเมืองแบบนี้ถือเป็นเอกลักษณ์แห่งการวางผังเมืองของอาณานิคมสเปน
ความผูกพันทางประวัติศาสตร์ เสมือนรู้จักกันมาก่อน
เราเดินทางไปสัมภาษณ์ขอความรู้จาก รศ. ดร. หลี่อวี้จง (李毓中) แห่งคณะประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิงหัว ท่านเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ประวัติศาสตร์ย่อฟิลิปปินส์” เมื่อนั่งลง ท่านก็เล่าแบบม้วนเดียวจบว่า “ไต้หวันค่อย ๆ เป็นที่รู้จักจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวฮกเกี้ยนกับชาวสเปน”
ในยุคแห่งการล่าอาณานิคม ชาวยุโรปมุ่งสู่ตะวันออกเพื่อทำการค้าทางทะเล ในปี ค.ศ. 1571 ชาวสเปนได้มาตั้งรกรากที่กรุงมะนิลา ตอนนั้นเป็นช่วงแห่งความรุ่งเรืองของราชวงศ์หมิง เศรษฐกิจดีเยี่ยม เงินเหรียญทองแดงที่ใช้ในการซื้อขายกันไม่เพียงพอต่อการค้าขาย ในห้วงเวลานั้น ชาวสเปนที่เดินทางไปยึดครองลาตินอเมริกาได้นำเอาทองคำขาวจากทวีปอเมริกาเข้ามาเพื่อใช้เป็นตัวกลางในการค้าขาย ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ชาวสเปนที่มาจากคาบสมุทรไอบิริกกับชาวฮกเกี้ยนเข้ากันได้ในทันที ต่างฝ่ายต่างมีความต้องการของตัวเองและทำการค้าขายกันที่มะนิลา จึงทำให้ชื่อของไต้หวันผุดขึ้นมาบนหน้าประวัติศาสตร์ อาจารย์หลี่อวี้จงเล่าให้ฟังถึงความเป็นมาในอดีต
ชาวจีนที่ออกทะเลไปค้าขายเริ่มเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือ จากฝูเจี้ยนเดินเรือไปยังมะนิลา เดือนธันวาคม–มกราคมของทุกปี จะมีเรือจีนจำนวนมากจากฝูเจี้ยน เดินเรือแล่นผ่านช่องแคบไต้หวันและเผิงหูไปยังชายฝั่งภาคใต้ของไต้หวัน แล้วแล่นลงใต้ผ่านช่องแคบบาชิไปยังเกาะลูซอนของฟิลิปปินส์ อาศัยกระแสน้ำคุโรชิโอะเลียบชายฝั่งตะวันออกขึ้นไปทางทิศเหนือ แล้วข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังเขตอาณานิคมในทวีปอเมริกาใต้ รศ. ดร. หลี่อวี้จงชี้ว่า ในยุคที่เรือกลไฟยังไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมา ต้องเดินเรือให้ตรงตามฤดูกาลและตรงตามกระแสน้ำในทะเล ดังนั้น พ่อค้าเหล่านี้จึงต้องคำนวณเวลาให้พอเหมาะ จึงจะเริ่มออกเดินเรือได้ ในขณะที่ไต้หวันเป็นจุดแวะพักสำคัญเพื่อเพิ่มเติมเสบียงอาหาร
นิคมอุตสาหกรรมอ่าวซูบิก
ประวัติศาสตร์ในต่างแดนอันยาวนาน
ประชากรของฟิลิปปินส์ประกอบด้วยชาวจีนในสัดส่วนค่อนข้างสูงมาก เป็นร่องรอยและชะตาชีวิตแห่งประวัติศาสตร์ของการอพยพไปต่างประเทศของชาวจีน “พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ชาวจีนในฟิลิปปินส์”(Bahay Tsinoy, Museum of Chinese in Philippine Life)ที่ตั้งอยู่ใน Instrumuros กลางกรุงมะนิลา เป็นส่วนหนึ่งในการบรรยายถึงประวัติศาสตร์แห่งการอพยพของชาวจีนได้เป็นอย่างดี
หลังจากที่สเปนยึดหมู่เกาะฟิลิปปินส์ได้แล้ว ก็เริ่มมีชาวจีนจำนวนมากอพยพมาตั้งรกรากที่ฟิลิปปินส์ ส่วนใหญ่มาจากจางโจวและฉวนโจวในมณฑลฝูเจี้ยน ริมชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน ในพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงงานศิลปหัตถกรรมของชาวจีนที่จารึกไว้บนสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ในกรุงมะนิลา เมื่อเราไปเยี่ยมชมประตูไม้ของ St Augustine's Abbey ซึ่งเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงมะนิลา จะเห็นได้ว่ามีการแกะสลักเป็นรูปเมฆ คล้ายมังกรม้วนอยู่บนบานประตู และยังมีสิงโตหินตั้งอยู่หน้าประตูทางเข้าของ St Augustine's Abbey สะท้อนถึงอิทธิพลของชาวจีนได้อย่างเด่นชัด
วัฒนธรรมของชาวจีนยังปักรากฝังลึกลงไปในชีวิตประจำวันของคนที่นี่ด้วย อย่างอุปกรณ์ที่ใช้ในครัวจำนวนมาก อาหารแปรรูป ก็ยังมีชื่อเรียกที่เป็นภาษาฮกเกี้ยนด้วย เช่น bithay (米篩), siyanse (煎匙), bihon (米粉), lumpiya (潤餅), batsoy (肉碎) เป็นต้น
คุณไช่เซิงหลิน ผู้จัดการบริหารบริษัทฮัดสันจำกัด เห็นว่า พนักงานชาวฟิลิปปินส์มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี แต่ความสามารถเฉพาะทางยังต้องอาศัยการฝึกอบรมจากนายจ้าง
ชาวฟิลิปปินส์ในไต้หวัน
ความผูกพันแห่งประวัติศาสตร์ยังคงดำรงต่อไป เพราะไต้หวันกับฟิลิปปินส์มีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ทำให้มีการไปมาหาสู่กันอย่างคึกคักยิ่งขึ้น
คุณโจวหมินก้านเล่าให้ฟังอีกว่า “มีแรงงานฟิลิปปินส์ในไต้หวันมากถึง 1.5 แสนคน นอกจากทำงานเป็นผู้อนุบาลและผู้ช่วยงานบ้านในครัวเรือนแล้ว ส่วนใหญ่ทำงานในโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ พวกเขามีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไต้หวัน” ส่วนย่าน “ลิตเติลมะนิลา” บนถนนจงซาน ตอนที่ 3 ในกรุงไทเป จะเป็นจุดนัดพบของบรรดาแรงงานฟิลิปปินส์ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ โบสถ์ St. Christopher's Church จัดพิธีมิสซาเป็นภาษาอังกฤษและภาษาตากาล็อก เป็นศูนย์รวมความศรัทธาของชาวฟิลิปปินส์ในไต้หวัน และยังมีร้านขายสรรพสินค้าที่ชื่อว่า “จินว่านว่าน” เป็นร้านค้าที่ทำให้ชาวฟิลิปปินส์มีความรู้สึกเสมือนได้กลับ “บ้าน” เพราะเป็นแหล่งขายสินค้าในชีวิตประจำวันทุกอย่าง
ซินจู๋ก็เป็นอีกเมืองหนึ่งที่เป็นฐานสำคัญของแรงงานฟิลิปปินส์ นิตยสาร “ไต้หวันพาโนรามา” เคยรายงานเกี่ยวกับนายมาริโอ (Mario Subeldia) แรงงานฟิลิปปินส์รายแรกที่สอบ ได้รับใบอนุญาตศิลปินเปิดหมวกในไต้หวัน และเป็นผู้ริเริ่มจัดการประกวดนางงามของแรงงานฟิลิปปินส์ในไต้หวัน ฟังการแบ่งปันประสบการณ์จาก หลี่เยว่เซวียน (Asuka Lee) ผู้สื่อข่าวอิสระว่า การประกวดนางงามเป็นกิจกรรมระดับประชาชนของชาวฟิลิปปินส์ เนื่องจากมีแรงงานฟิลิปปินส์ทำงานอยู่ในซินจู๋จำนวนมาก ทำให้ที่นี่กลายเป็นเมืองที่มีการจัดการประกวดประเภทต่าง ๆ ของแรงงานฟิลิปปินส์
นิคมอุตสาหกรรมอ่าวซูบิกเคยเป็นฐานทัพเรือเก่าของสหรัฐฯ เป็นท่าเรือน้ำลึก ทำให้มีข้อได้เปรียบในการขนส่งทางทะเล
นักธุรกิจไต้หวันมุ่งสู่ใต้
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไต้หวันกับฟิลิปปินส์มีความแน่นแฟ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ คุณโจวหมินก้าน บอกว่า ไต้หวันเป็นคู่ค้าอันดับ 8 ของฟิลิปปินส์ ไต้หวันเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับ 8 ของฟิลิปปินส์ และเป็นตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสินค้าอันดับ 8 ของฟิลิปปินส์ด้วย
ในยุคทศวรรษที่ 1990 นักธุรกิจไต้หวันจำนวนหนึ่งได้ตอบรับนโยบายมุ่งใต้ของรัฐบาลไปลงทุนในฟิลิปปินส์ คุณไช่เซิงหลิน (蔡昇霖) ผู้จัดการบริหารบริษัท Hudson ปัจจุบันทำงานในบริษัทไต้หวัน เล่าให้ฟังว่า เถ้าแก่ของเขาไปเปิดโรงงานที่เวียดนามในปี ค.ศ. 2012 และเพื่อกระจายความเสี่ยงจึงไปเปิดสายการผลิตที่ฟิลิปปินส์ด้วย ในปี ค.ศ. 2019
โดยบริษัทเลือกลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอ่าวซูบิกของฟิลิปปินส์ ไช่เซิงหลินบอกว่า “นิคมอุตสาหกรรมอ่าวซูบิกเป็นฐานทัพเรือเก่าของสหรัฐอเมริกา เป็นท่าเรือน้ำลึก มีความสะดวกในการเข้าออกสินค้า และทั้งนิคมเป็นเขตปลอดภาษี ทำให้การนำเข้าวัตถุดิบเพื่อแปรรูป ไม่จำเป็นต้องไปเดินเรื่องเกี่ยวกับภาษีศุลกากรให้วุ่นวาย จึงถือเป็นข้อได้เปรียบของบริษัทเรา”
คุณจางเจ๋อเจีย (張哲嘉) ลงทุนในฟิลิปปินส์นานกว่า 11 ปีแล้ว ตอนแรกไปเรียนภาษาอังกฤษที่ฟิลิปปินส์ หลังจากนั้นจึงบุกเบิกธุรกิจของตนในฟิลิปปินส์ จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว เขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักธุรกิจไต้หวันแห่งอ่าวซูบิก ทำให้ต้องวิ่งไปวิ่งมา เพื่อต้อนรับคณะต่าง ๆ ที่มาเยือน โดยหวังที่จะสร้างช่องทางในการเชื่อมต่อระหว่างไต้หวันกับฟิลิปปินส์
หลี่อวี้จง กล่าวว่า “ไต้หวันค่อย ๆ เป็นที่รู้จักจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่าง
ชาวฮกเกี้ยนกับชาวสเปน”
เชื่อมต่ออีกครั้ง ประวัติศาสตร์ที่ถูกหลงลืมไว้ในห้องสมุด
ไต้หวันกับฟิลิปปินส์ยังมีความผูกพันอีกช่วงหนึ่ง ที่ถูกเก็บซ่อนไว้ในพจนานุกรม
ในปี ค.ศ. 2017 คุณหลี่อวี้จง รวบรวมทีมนักวิชาการภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเจี่ยงจิงกั๋ว ดำเนินโครงการสำรวจข้อมูลประวัติศาสตร์ที่สเปนได้เก็บรักษาไว้ ซึ่งได้พบเอกสารลายมือของชาวจีนในฟิลิปปินส์จากแฟ้มข้อมูลในมหาวิทยาลัย University of Santo Tomas ในกรุงมะนิลา โดยในสารบัญได้ระบุไว้ว่า “คุณค่าไม่สูง” (Vale muy poco) คำนี้ได้จุดประกายความอยากรู้อยากเห็นของเขา ทำไมพนักงานธรรมดา ๆ คนหนึ่งจึงสนใจที่จะศึกษาคุณค่าของข้อมูลบางอย่าง เมื่อเขาพลิกดูเท่านั้นแหละ ถึงกับตะลึง เพราะเป็นภาษาทางการที่เป็นภาษาสเปนและภาษาฮกเกี้ยนเปรียบเทียบกัน เขาจึงเปรียบเทียบความหมายในภาษาฮกเกี้ยน คำว่า “จีหลงตั้นสุ่ย” มีความหมายเป็นภาษาสเปนว่า “เกาะเฮอร์โมซา” (Tierra de Isla Hermosa ado estan los españoles) โดยใช้ภาษาสเปนที่เป็นประโยคปัจจุบัน หลี่อวี้จงใช้หลักฐานนี้สันนิษฐานถึงยุคที่เขียนข้อมูลประวัติศาสตร์ดังกล่าวว่า เป็นยุคที่สเปนยึดครองภาคเหนือของไต้หวัน (ค.ศ. 1626-1642)
ทีมวิจัยจึงเริ่มทำการวิจัย ศึกษาและรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ นานหลายปี จนตีพิมพ์ออกมาเป็น “ชุดหนังสือประวัติศาสตร์ฮกเกี้ยน-สเปน” เป็นเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ทางภาษาระหว่างภาษาสเปนกับภาษาฮกเกี้ยน ฉบับแรกสุดที่ยังหลงเหลืออยู่ในตอนนี้
ประวัติศาสตร์ปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาษาฮกเกี้ยนกับภาษาสเปนดังกล่าว ทำให้ทีมงานวิจัยค้นคว้าของคุณหลี่อวี้จงได้รับคำยกย่องจากสำนักพระราชวังของประเทศสเปน ข้อมูลประวัติศาสตร์ที่พบนี้ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญของการศึกษาภาษาระหว่างกัน และปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวสเปนกับชาวฮกเกี้ยนในยุคแห่งการค้นพบเมื่อ 400 กว่าปีก่อน แคปซูลแห่งกาลเวลาในยุคแห่งการสำรวจทางทะเลดังกล่าว เปิดหน้าประวัติศาสตร์ที่ถูกปิดตายจนฝุ่นเขรอะออกมา ยังคงมีหลักฐานการเชื่อมต่อระหว่างไต้หวันกับฟิลิปปินส์อีกมากมาย รอเพียงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น
คุณโจวหมิงก้านบอกว่า ไต้หวันเป็นคู่ค้าอันดับ 8 ของฟิลิปปินส์ ไต้หวันเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับ 8 ของฟิลิปปินส์ และเป็นตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสินค้าอันดับ 8 ของฟิลิปปินส์ด้วย