ความอบอุ่นของการเคียงบ่าเคียงไหล่
รสชาติโบราณที่ซ่อนอยู่ ตามตรอกซอกซอย
เนื้อเรื่อง‧ซูลี่อิ่ง ภาพ‧หลินหมิ่นเซวียน แปล‧ธีระ หยาง
กุมภาพันธ์ 2025
_web.jpg?w=1080&mode=crop&format=webp&quality=80)
อาหารเลิศรส ร้านค้าเล็กๆ และการมีปฏิสัมพันธ์อันอบอุ่นกับผู้คน เป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้คนจากแดนไกล เดินทางมาเยือนที่นี่ (ภาพจาก ร้านนั่วฟูหมี่เกา)
ทัศนียภาพของเมืองกรุงที่อาคารบ้านพักและร้านค้าตั้งอยู่ผสมปนเปกัน ทำให้ตามตรอกซอกซอย มีคนเก่ง ๆ ซ่อนตัวอยู่ไม่น้อย หากเราเดินไปตามถนนในไต้หวันจะพบเจอกับความประหลาดใจที่ไม่คาดคิดได้เสมอ เจ้าของร้านเล็ก ๆ ซึ่งมีทัศนคติในการใช้ชีวิตแบบอิสระและมีความคิดสร้างสรรค์ สินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และการสื่อสารกับผู้คนที่อบอุ่นและจริงใจ พลังชีวิตอันเข้มแข็งของผู้คนในระดับรากหญ้าเหล่านี้ คือสิ่งที่ทำให้วิถีชีวิตท้องถิ่นของไต้หวันเต็มไปด้วยความน่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่ง
เนื่องจากร้านมีขนาดเล็ก จึงสามารถสร้างความเป็นเอกลักษณ์ และใส่ใจในรายละเอียดได้อย่างพิถีพิถัน และด้วยความที่ร้านมีขนาดเล็ก ทำให้ลูกค้ากับเจ้าของร้านสามารถพูดคุยกันได้อย่างใกล้ชิด ทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่นและมิตรภาพ ร้านเล็ก ๆ เหล่านี้ จึงเปรียบเสมือนหน้าต่าง สำหรับการทำความรู้จักไต้หวัน ที่เปี่ยมด้วยทิวทัศน์อันงดงาม
_web.jpg?w=1080&mode=crop&format=webp&quality=80)
รายละเอียดที่ถูกสั่งสมกลายเป็นความทรงจำอันงดงาม
เกาเจิ้นอวี้ (高振御) ผู้ก่อตั้งร้านกาแฟชื่อดังหลายแห่งในไทเป และถือเป็นบุคคลที่โดดเด่นในวงการกาแฟ ได้ปิดร้านในสวนวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ซงซาน (Songshan Cultural and Creative Park) เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก่อนจะนำแบรนด์ดังกล่าวมาเปิดร้านใหม่ในตรอกเล็ก ๆ ของย่านต้าเต้าเฉิง พร้อมตั้งชื่อร้านว่า “Tobacco Flowers 《Op.118.2》”
ด้วยประสบการณ์มากกว่า 20 ปี ในวงการร้านอาหารและเครื่องดื่มของไต้หวัน เกาเจิ้นอวี้ซึ่งมีประวัติอันน่าทึ่งในสายงานนี้ เคยมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง แต่หลังจากผ่านประสบการณ์มากมาย เขาก็กลับมายืนอยู่หน้าเคาน์เตอร์อีกครั้ง “ผมยังคงชอบความรู้สึกของการได้พูดคุยกับผู้คน” เกาฯ กล่าว
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ร้านของเขามีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ จนถึงขั้นเคยเปิดร้านที่มีพื้นที่เพียง 5 ตารางเมตร ชื่อว่า “อีสี / Alone Together” ซึ่งได้การขนานนามว่าเป็น “ร้านกาแฟที่เล็กที่สุดในไต้หวัน” พื้นที่เล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และเป็นโครงการทดลองนี้ ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวฮ่องกงจำนวนมาก ที่เดินทางมา “แสวงบุญ” เพื่อสัมผัสผลงานสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นในบริบทของเมืองที่มีพื้นที่จำกัด และมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เช่นเดียวกับฮ่องกง
ปัจจุบัน ร้าน Tobacco Flowers ยังคงมีขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่นัก นับ ๆ ดูแล้ว พื้นที่ภายในร้านมีขนาดเพียงประมาณ 26 ตารางเมตรเท่านั้น เกาเจิ้นอวี้ ซึ่งเป็นผู้ที่ใส่ใจกับทุกรายละเอียด ได้ออกแบบเมนูเครื่องดื่มในแบบเรียบง่าย แต่ตรงตามความต้องการของลูกค้า ส่วนจำนวนที่นั่ง การประดับและตกแต่งร้าน รวมถึงบรรยากาศของร้าน ต่างก็ผ่านการพิจารณาอย่างพิถีพิถัน เกาฯ เห็นว่า “ความทรงจำเกี่ยวกับรสชาติของคนเรา จะคงอยู่เพียงช่วงสั้น ๆ แต่สามารถอาศัยการสะสมรายละเอียดต่าง ๆ มาทำให้ลูกค้าเกิดความทรงจำที่ดี ซึ่งจะทำให้มันคงอยู่ได้ยาวนานมากขึ้น”
เกาเจิ้นอวี้ ซึ่งมีสายตาอันเฉียบคมในการเลือกใช้ของ จึงเลือกใช้แก้วที่เป็นผลงานของโยชิอากิ อิมามูระ ศิลปินเครื่องปั้นดินเผาจากโอกินาว่า โคมไฟตั้งโต๊ะสไตล์เรโทรของหยางคุนจิน (楊錕金) จากหิ่งห้อยสตูดิโอ (Firefly Studio) ที่ตั้งอยู่ในแถบย่านการค้าถนนหย่งคังของไทเป อีกทั้งยังมีโต๊ะเตี้ยสไตล์นอร์ดิก เก้าอี้โบราณจากคริสตจักร และติดแผ่นเสียงไว้เต็มกำแพง การเก็บรักษาร่องรอยของกาลเวลา รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ ที่เปี่ยมด้วยความอบอุ่นและสดใส ประกอบกับเสียงเพลงที่ดังแว่วออกมาจากลำโพงเก่าจากทศวรรษที่ 1960 เมื่อจับคู่กับกาแฟดำคั่วปานกลางอีกสักหนึ่งแก้วแล้ว ทำให้เกิดเป็นความงามในแบบย้อนยุค ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และทำให้เราสัมผัสได้ถึงบรรยากาศทางประวัติศาสตร์ของต้าเต้าเฉิง ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านกาแฟแห่งนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ท่ามกลางบรรยากาศที่ผ่อนคลายและสะดวกสบาย แขกเหรื่อในร้านจะนั่งบนม้านั่งเคียงข้างกัน และแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้รู้จักกัน แต่ก็สามารถเริ่มการสนทนาได้อย่างเป็นธรรมชาติ ความอบอุ่นอันแสนสบายนี้ คือเอกลักษณ์พิเศษของ “Tobacco Flowers” ที่ดึงดูดผู้คนให้กลับมาเยือนครั้งแล้วครั้งเล่า
_web.jpg?w=1080&mode=crop&format=webp&quality=80)
การตกแต่งร้าน Tobacco Flower เป็นไปอย่างพิถีพิถัน และมีความเป็นมา เนื่องจากแบรนด์นี้เป็นตัวแทนของไต้หวัน ที่เดินทางไปทำการแลกเปลี่ยนกับเหล่า ผู้ประกอบการร้านกาแฟที่โอกินาว่า ทำให้เกาเจิ้นอวี้ ซึ่งยึดมั่นในมิตรภาพระหว่างไต้หวัน-ญี่ปุ่น เลือกใช้แก้วที่เป็นผลงานของศิลปินเครื่องปั้นดินเผาชาวโอกินาว่า และมีการจัดแสดงกับจำหน่ายผลงานหัตถศิลป์พื้นบ้านของโอกินาว่าในร้านด้วย
เมื่อดอกไม้บาน ผีเสื้อก็จะมาเยือน
ไถหนาน ได้รับการยกย่องจากเยี่ยสือเทา (葉石濤) นักวรรณกรรมอาวุโสชาวไต้หวันว่าเป็น “สถานที่ที่เหมาะสำหรับผู้คนที่จะฝัน ทำงาน ตกหลุมรัก แต่งงาน และใช้ชีวิตแบบสบาย ๆ” ไถหนานมีชื่อเสียงมากที่สุดในด้านมรดกทางวัฒนธรรม ที่สั่งสมมาจากประวัติศาสตร์อันยาวนาน รวมถึงจิตวิญญาณที่เปี่ยมด้วยความสงบและเยือกเย็น
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เก่าแก่นับศตวรรษ หรือร้านของคนรุ่นใหม่ “ทัศนคติ” ในการที่จะทำอะไรสักอย่างและไม่ทำอะไรสักอย่าง ถือเป็นคุณลักษณะสำคัญที่คนทุกรุ่นมีร่วมกัน ร้านขายซุปเนื้อที่เปิดเฉพาะช่วงเช้าตรู่ ร้านกาแฟที่เปิด 8 หรือ 9 โมงเช้า แต่ปิดเวลา 6 โมงเย็น... ฯลฯ ไม่ใช่ว่าทางร้านไม่สามารถจะทำรายได้เพิ่มขึ้น แต่มันคือการรู้จักความพอเพียง และเห็นคุณค่าของคุณภาพชีวิตมากกว่า สิ่งเหล่านี้อาจเป็นอะไรที่ไม่ธรรมดาในที่อื่น แต่เป็นโมเดลธุรกิจที่ได้รับความนิยมในไถหนาน ซึ่งเน้นย้ำถึงความเป็นเอกลักษณ์ของเมืองนี้ หากคุณต้องการอธิบายไถหนานด้วยประโยคที่ง่ายที่สุด ก็คงจะต้องเป็นประโยคที่ว่า “เมื่อดอกไม้บาน ผีเสื้อก็จะมาเยือน”
_web.jpg?w=1080&mode=crop&format=webp&quality=80)
_web.jpg?w=1080&mode=crop&format=webp&quality=80)
ทิวทัศน์ที่เคยเห็นในอดีต กลายเป็นกิจวัตร ประจำวันในปัจจุบัน
“แทนที่จะทำงานหนัก ชาวไถหนานกลับสอนผมว่า พอเพียงก็เพียงพอ” เจี่ยนหมงอิน (簡盟殷) เจ้าของร้าน “สือผิง” (33 ตารางเมตร) ยืนกล่าวอยู่หน้าร้านของตัวเอง
ไม่น่าเชื่อว่า เดิมทีชายหนุ่มผมยาวซึ่งมีรอยสักบนแขนผู้นี้เป็นชาวไทเป และมีอาชีพเป็นนายหน้าขายบ้านมานานกว่าสิบปี เขาเดินทางมาที่ไถหนานครั้งแรก เมื่ออายุ 38 ปี ก่อนจะมีวาสนาที่ทำให้ “ต้องมาที่นี่มากกว่า 20 ครั้งในหนึ่งปี”
เขากล้าที่จะเช่าบ้านหลังเก่าที่ถูกทิ้งร้าง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับที่พักของเขาระหว่างเดินทางมาเยือนไถหนาน และเริ่มแผนการย้ายถิ่นฐานของเขา สองปีต่อมา ร้านสือผิงซึ่งจำหน่ายเฉพาะชามข้าวญี่ปุ่น ที่ตั้งอยู่ในซอย 158 ของถนนจงอี้ ตอนที่ 2 ก็ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ
เหตุผลที่ตั้งชื่อร้านว่า “สือผิง” ก็เพราะบ้านเก่าแก่หลังนี้ มีพื้นที่ 10 ผิง หรือ 33 ตารางเมตรพอดี โดยมีเพดานที่ถูกยกสูง ที่นี่เคยเป็นโรงงานยางของธุรกิจครอบครัว ซึ่งถูกทิ้งให้รกร้างมาเกือบ 40 ปี
แม้ว่าพื้นที่จะมีขนาดเล็ก แต่ก็สามารถเรียกได้อย่างเต็มปากว่า “เล็กพริกขี้หนู” พื้นที่ของร้านถูกแบ่งเป็นสองชั้นด้วยชั้นลอย โดยที่ชั้น 2 เป็นส่วนของอ่างล่างจาน โซนปรุงอาหาร และตู้แช่เย็น บริเวณส่วนชั้นล่างมีเคาน์เตอร์สำหรับวางเขียง และโซนที่นั่งซึ่งมีเพียง 10 ที่นั่ง
ในพื้นที่ที่แคบจน “แค่หันตัวก็ชนกันแล้ว” และเคยทำให้เชฟที่มาสมัครงานถึงกับตกใจ “ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า พื้นที่เล็กขนาดนี้ สามารถทำอาหารเซตเต็มได้”
บรรยากาศที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และอาหารที่ปรุงขึ้นอย่างพิถีพิถัน ทำให้ร้าน “สือผิง” มีชื่อเสียงในหมู่นักท่องเที่ยวอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 4 ปีหลังเปิดกิจการ แต่เจี่ยนหมงอิน เจ้าของร้าน ไม่ต้องการให้สือผิงเป็นร้านที่ลูกค้ามาเพียงครั้งเดียว เขายึดมั่นในแนวคิดที่จะให้บริการคนในท้องที่ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุและเด็กที่อาศัยอยู่ในย่านใกล้เคียง วิศวกรที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมหนานเคอ หรือแม้แต่เถ้าแก่ของร้านเก่าแก่ เช่น ร้านแป้งทอดเหลียนเต๋อถัง (連得堂煎餅) และร้านขายผ้าใบเหอเฉิง (合成帆布行) ต่างก็เป็นลูกค้าประจำของร้าน
เถ้าแก่เจี่ยนฯ ซึ่งชื่นชอบการพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า ได้รับแรงบันดาลใจจากเจ้าของร้านเก่าแก่ในพื้นที่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยึดมั่นในหลักการและความใจกว้างของชาวไถหนาน ชีวิตของเขาจึงไม่รีบเร่ง หรือมุ่งหวังเพียงผลกำไรอีกต่อไป จากการซึมซับแนวคิดเหล่านี้ ทำให้เขาไม่เพียงมีความสุขกับการแบ่งปันกับลูกค้า แต่ยังให้ความสำคัญกับช่วงเวลาส่วนตัว ที่ใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวในชีวิตประจำวันด้วย
“สิ่งที่ผมดีใจที่สุดคือ ทิวทัศน์ที่เคยอยู่ในสายตาผมเมื่อวันวาน ตอนนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผมแล้ว” เขากล่าวด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมไปด้วยความสุข ขณะยืนอยู่หน้าร้าน ความรู้สึกพึงพอใจที่แสดงออกมานั้น เกินกว่าจะบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้
_web.jpg?w=1080&mode=crop&format=webp&quality=80)
พื้นที่ 10 ผิง (ประมาณ 33 ตรม.) ในซากปรักหักพังรกร้าง ที่กลายมาเป็นร้านสือผิง คือจุดเริ่มต้นในการเดินทางไปสู่แดนใต้ เพื่อไล่ล่าตามความฝันของเจี่ยนหมงอิน

แม้ว่าเมนูของร้านสือผิงจะมีข้าวราด ซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมเป็นหลัก แต่ทางร้านใส่ใจกับทุกรายละเอียด เช่น ในการหุงข้าว พ่อครัวจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการหุงแบบเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามสภาพอากาศและความชื้นของแต่ละวัน
รื้อฟื้นรสชาติโบราณจากวันวาน
ในไถหนาน เมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องอาหารท้องถิ่น มีของกินหลายชนิดที่สืบทอดกันมานานกว่าร้อยปี เช่น เต้าฮวย ขนมถ้วย และบะหมี่ตั้นจ๋าย ซึ่งเริ่มต้นจากหาบเร่ และการเดินเร่ขายไปตามถนน ร้านขายข้าวบ๊ะจ่าง "นั่วฟูหมี่เกา" (糯夫米糕) ก็เช่นกัน ผู้ก่อตั้งคือหลิวอวี่เฉียว เริ่มต้นจากการปั่นจักรยานคันเก่าๆ ของคุณปู่ พร้อมหาบใส่ถังข้าวบ๊ะจ่างสองใบ เริ่มต้นธุรกิจเล็ก ๆ จากแผงลอยริมถนน หลังจาก “ร่อนเร่” ไปตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ เป็นเวลา 3-4 ปี จนชื่อเสียงเริ่มเป็นที่รู้จัก ทำให้เขามักตั้งแผงเพียงไม่ถึงชั่วโมง แต่เหมือนเป็น “นักเป่าขลุ่ยวิเศษ” ที่ร่ายมนตร์ดึงดูดผู้คน จนต้องมาเข้าแถวต่อคิวซื้อของยาวเหยียดตามหลังเขาอยู่เสมอ
เจี่ยนหมงอิน ซึ่งย้ายจากต่างถิ่นมายังไถหนาน รู้สึกประทับใจเป็นพิเศษ “ผมเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองในวัยกลางคน แต่เจ้าของร้านในไถหนานหลายคนอายุน้อยมาก ส่วนใหญ่ก็แค่ 20-30 ปีเท่านั้น” เช่นเดียวกับหลิวอวี่เฉียว (劉雨樵) เจ้าของร้าน “นั่วฟูหมี่เกา” ซึ่งหลังจากจบมหาวิทยาลัย เขาก็เริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวทันที โดยใช้รสชาติจากสูตรดั้งเดิมของครอบครัวที่เขาภาคภูมิใจ เป็นแกนหลักในการก่อตั้งแบรนด์ร้านอาหารท้องถิ่น
สำหรับหลิวอวี่เฉียวแล้ว การทำอะไรแบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติมาก ด้วยความที่ครอบครัวเป็นเจ้าของโรงเรียนอนุบาล ทำให้เขาชอบติดตามอาม่าที่ทำงานในครัวมาตั้งแต่เด็ก ๆ และมีโอกาสได้สัมผัสกับวัตถุดิบต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดความสนใจในเรื่องการทำอาหาร ซึ่งถูกปลูกฝังตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อย้ายออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเองในช่วงมหาวิทยาลัย ความรักในการทำอาหาร ก็ยิ่งพัฒนาไม่หยุดยั้ง หลังเลิกเรียนหรือทำงานพิเศษ ความบันเทิงที่เขาชื่นชอบที่สุด คือการดูรายการทำอาหาร และลงมือทดลองทำในครัวด้วยตัวเอง
เขามีความใฝ่ฝันอยากทำงานในธุรกิจร้านอาหาร หลังเรียนจบมาโดยตลอด ก่อนจะได้รับแรงบันดาลใจจากคำถามของเพื่อนคนหนึ่งที่ถามว่า “อาหารที่อยู่ในความทรงจำ ที่ประทับใจที่สุดของคุณคืออะไร?” ภาพข้าวบ๊ะจ่างที่อาม่าทำในวัยเด็กจึงผุดขึ้นมาในใจ และสิ่งนั้นได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งธุรกิจของเขา
เมนูของร้านนั่วฟูหมี่เกาเป็นแบบเรียบง่าย โดยเน้นที่ข้าวบ๊ะจ่างทั้งแบบนึ่งและแบบผัด ซึ่งใช้วัตถุดิบและขั้นตอนการปรุงที่คล้ายคลึงกัน ทั้งสองเมนูใช้ข้าวเหนียวเมล็ดยาวที่ปลูกในเขตโฮ่วปี้ ของนครไถหนาน ซึ่งผ่านการเก็บรักษานานกว่า 8 เดือน เพื่อให้ได้ข้าวเหนียวที่เป็นเมล็ดสวย จากนั้นก็นำมาคลุกเคล้ากับน้ำมันงาดำที่ผลิตในแถบซีกั่ง ซึ่งให้กลิ่นหอมอ่อน ๆ ตามธรรมชาติ เพิ่มเติมด้วยกุ้งแห้ง เห็ดหอมแห้ง และเนื้อหมู โดยส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มรสชาติ คือ น้ำตาลกรวด หลิวอวี่เฉียวอธิบายว่า “ข้าวบ๊ะจ่างของเรา จะใส่น้ำตาลกรวดเสมอ เพราะข้าวเหนียวทำให้ท้องอืดง่าย และน้ำมันงาอาจทำให้ร้อนใน การเติมน้ำตาลกรวดเล็กน้อย ช่วยลดอาการร้อนใน และบรรเทาอาการท้องอืดได้ นี่คือภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อนที่ส่งต่อกันมา”
ราวกับเทพเจ้าคุ้มครอง เมื่อปีที่แล้ว นั่วฟูหมี่เกา ได้เปลี่ยนจากรถเข็นขายของแบบเคลื่อนที่ มาเป็นร้านอาหารเล็ก ๆ ซึ่งตั้งอยู่ข้างศาลเจ้า “ปาจี๋จิ้งเซี่ยไท่จื่อไคจีคุนซากง” ภายในอาคารเก่าซึ่งเป็นของศาลเจ้า เขาได้ปรับปรุงพื้นที่ขนาด 10 ผิงที่มีสองชั้นให้ดูใหม่ กำแพงหินขัดสีแดงอิฐ ตู้ไม้ที่กรุด้วยตาข่ายสีเขียว ถังเก็บข้าวขนาดใหญ่ที่แขวนอยู่บนชั้นหนึ่ง รวมถึงชามข้าวเซรามิกแบบโบราณยี่ห้อต้าถง ทุกองค์ประกอบล้วนทำให้ผู้คนรู้สึกถึงกลิ่นอายของความเก่าแก่เมื่อวันวาน
โดยในจำนวนนี้ สิ่งที่ทำให้ผู้คนหลงใหลมากที่สุด คือ บริเวณที่นั่งตรงบาร์ที่มีเพียง 4 ที่นั่งและหันหน้าไปทางจุดทำอาหาร เมื่อแขกนั่งเคียงบ่าเคียงไหล่ และเพลิดเพลินกับของว่างรสชาติโบราณแบบเรียบง่ายที่โต๊ะยาว และเริ่มพูดคุยเรื่องสัพเพเหระกับเถ้าแก่ ทำให้เราเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่า ความมีน้ำใจอันอบอุ่นของผู้คน ประเพณีพื้นบ้านที่เรียบง่ายแต่สง่างาม แม้แต่เหตุผลที่ว่า ทำไมนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก เดินทางมาไต้หวันจากแดนไกล ล้วนเกิดขึ้นในพื้นที่เล็ก ๆ แห่งนี้ โดยการแลกเปลี่ยนบทสนทนากันเล็ก ๆ น้อย ๆ สองสามเรื่องเท่านั้น
_web.jpg?w=1080&mode=crop&format=webp&quality=80)
หลิวอวี่เฉียว ค้นพบแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจจากประสบการณ์ในชีวิตส่วนตัวของเขา ที่กลายมาเป็น Story ของแบรนด์อาหารว่างของเขา
_web.jpg?w=1080&mode=crop&format=webp&quality=80)
ร้านเล็ก ๆ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว กลายเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เหล่านักท่องเที่ยวยอม เดินทางจากแดนไกลเพื่อมาเยือนที่นี่
_web.jpg?w=1080&mode=crop&format=webp&quality=80)

