สร้างบ้านสร้างเมือง ด้วยไม้ไผ่
สถาปัตยกรรมไม้ไผ่ของชนพื้นเมืองไต้หวัน
เนื้อเรื่อง‧หลี่ อวี่ซิน ภาพ‧จวง คุนหยู แปล‧รุ่งรัตน์ แซ่หยาง
ธันวาคม 2024
ชนพื้นเมืองไต้หวันมีการนำ “ไผ่” มาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่การประกอบอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย กล่าวได้ว่า “ไผ่” มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชนพื้นเมืองไต้หวันอย่างแยกจากกันไม่ได้ โดยเฉพาะการนำไผ่มาใช้สร้างบ้านเรือน ที่ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาทางสถาปัตยกรรมของชนพื้นเมือง ที่สั่งสมมานานนับหลายร้อยปี แต่ยังแฝงไว้ด้วยจิตวิญญาณและวัฒนธรรมของชนเผ่า
“ttakuban” สถานที่จัดกิจกรรมของเยาวชน ตั้งตระหง่านบนลานสนามหญ้ากว้างภายในบริเวณอุทยานมรดกวัฒนธรรมเปยหนาน เสมือนกำลังมองลงไปยังผืนดินที่ชาวเผ่าพูยูม่า (Puyuma) เคยทำการเกษตรด้วยความเหนื่อยยาก คนเฒ่าคนแก่ของชนเผ่าที่มีร่างกายกำยำบึกบึน เพื่อบอกเล่าถึงยุคสมัยอันรุ่งเรืองของชาวเปยหนานในดินแดนฮัวตงให้ผู้คนได้รับรู้
“ttakuban” เป็นอาคารที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันในชุมชน และยังเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กผู้ชายด้วย ในช่วงชีวิตของการเติบโต พวกเราทุกคนจะต้องผ่านการมาศึกษาเล่าเรียนกันที่นี่ Ahung Masikadd (ชื่อจีนคือเจิ้งห้าวเสียง : 鄭浩祥) ผู้อาวุโสแห่งหมู่บ้านพูยูม่า ยืนอยู่ที่ด้านหน้าของตัวอาคารและเล่าให้พวกเราฟังถึงความหมายอันแสนพิเศษของอาคารยกสูงที่สร้างขึ้นจากไม้ไผ่ทั้งหมดหลังนี้ ซึ่งเขาและเยาวชนในหมู่บ้านร่วมกันสร้างขึ้นเมื่อหลายปีก่อน
รากฐานแห่งความแข็งแกร่งของเปยหนาน
เปยหนานเป็นชนเผ่าที่เข้มแข็งและเจริญรุ่งเรืองมาช้านาน ในยุคที่ชนชาติเปยหนานมีความรุ่งเรืองถึงขีดสุด อิทธิพลของพวกเขาได้แผ่ขยายขึ้นไปทางเหนือถึงฮัวเหลียนและอวี้หลี่ แผ่ขยายลงไปทางใต้ถึงผิงตงและเหิงชุน เคยมีงานวิจัยที่ชี้ให้ว่าโครงสร้างลำดับชั้นทางสังคมที่เข้มงวดของชนเผ่าเปยหนาน เป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความแข็งแกร่งของพวกเขา ซึ่งหลักความเคารพในบุคคลดังกล่าวได้ถูกสร้างขึ้นผ่านระบบการศึกษาใน ttakuban
Ahung Masikadd เล่าว่า เมื่อเด็กผู้ชายมีอายุ 12-13 ปี พวกเขาจะช่วยกันสร้าง ttakuban จากไม้ไผ่มากินอย (Phyllostachys makinoi) และไม้ไผ่สีสุก (Bambusa spinosa) ภายใต้การแนะนำจากผู้อาวุโสของหมู่บ้าน และอาศัยอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 4 ถึง 5 ปี เพื่อเรียนรู้วิธีการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น กฎเกณฑ์ และขนบธรรมเนียม ลำดับชั้นทางสังคม และทักษะการต่อสู้จากเด็กชายรุ่นพี่ซึ่งอายุมากกว่าและเข้าสู่ ttakuban ก่อนพวกเขา
คนภายนอกมักมองว่าสิ่งที่พวกเรา “สอน” นั้นแปลกหรือไม่สมเหตุสมผล Ahung Masikadd กล่าว แต่เขาเชื่อว่า “การฝึกอบรม” เช่นนี้เป็นส่วนสำคัญในการปรับเปลี่ยนเด็กชายชาว เปยหนานให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่
ก่อนจะออกจาก ttakuban เยาวชนทุกคนต้องผ่านพิธีมังมังกายาอุ (mangamangayau) หรือที่รู้จักในชื่อของ “พิธีลิง” ซึ่งเป็นประเพณีการทดสอบความแข็งแกร่งของเด็กหนุ่มในชนเผ่า ที่จะจัดขึ้นช่วงปลายเดือนธันวาคมของทุกปี
ในคืนก่อนที่จะเริ่มพิธี บรรดาเด็กหนุ่มจะถือใบกล้วยหอมไว้ในมือ และเดินไปตามบ้านต่าง ๆ พร้อมกับตะโกนว่า “abakayta! abakayta!” (หมายถึง เติมถุงของฉันให้เต็ม) เพื่อเป็นการขับไล่วิญญาณชั่วร้ายให้ออกไป ในวันรุ่งขึ้น เด็กผู้ชายเหล่านั้นจะใช้หอกยาวที่ปรากฏในสัญลักษณ์ของหมู่บ้านแทงไปที่ลิงซึ่งพวกเขาใช้ชีวิตร่วมกันมาเกือบหกเดือนและถือว่ามันเป็นเพื่อน โดยหวังว่าพวกเขาจะมีความมุ่งมั่นเช่นเดียวกัน เมื่อต้องปกป้องบ้านและดินแดนของตนในสนามรบ (ในปัจจุบัน มีการใช้รูปปั้นลิงแทน)
Ahung Masikadd เน้นย้ำว่า “ต้องมีการจัดงาน พิธีมังมังกายาอุขึ้นก่อน จึงจะสามารถจัดพิธีอื่น ๆ ตามมาได้” ตัวอย่างเช่น Mangayaw เป็นการล่าสัตว์และลาดตระเวนในอาณาเขตของหมู่บ้านซึ่งกินเวลาราวสามถึงห้าวัน โดยผู้ชายทุกคนในหมู่บ้านจะเข้าร่วมในพิธีนี้ และเมื่อกลับมาแล้ว จะมีการจัดพิธีอีกครั้ง โดยคนหนุ่มสาวจะทำพิธี “เปิดประตู” เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ครอบครัวที่มีสมาชิกเสียชีวิตลงในปีนั้น
Ahung Masikadd อธิบายด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า “ttakuban” เป็นรากฐานของการฝึกทหาร เป็นเสาหลักที่ค้ำจุนชาติของเรา และเป็นแหล่งจิตวิญญาณที่สำคัญของพูยูม่า
Ahung Masikadd และลูกชาย (Benglay Masikadd) ของเขา ขณะกำลังสร้างอาคารไม้ไผ่ในโรงเรียนประถมศึกษาหนานหวัง เมืองไถตง
วิธีการดัดไม้ไผ่ให้โค้งงอ สาธิตโดย Ahung Masikadd
โครงสร้างไม้ไผ่ที่สื่อถึงสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรม
หากมองในแง่มุมของโครงสร้างสถาปัตยกรรม เมื่อเปรียบเทียบกับลักษณะโครงสร้างไม้ไผ่อื่น ๆ ในไต้หวัน สถาปนิกหลินหย่าอิน (林雅茵) มองว่า “โครงฐานหลัก (libattubattu)” ซึ่งเป็นส่วนของโครงสร้างรับน้ำหนักที่อยู่ตรงกลางฐานอาคาร และ “เสาค้ำหลัก (panubayun)” ซึ่งเป็นเสาค้ำแนวทแยงจากหลังคาสู่พื้นดิน ทอดตัวออกไปในทิศทางทั้งแปดด้านของตัวอาคาร เป็นคุณลักษณะเฉพาะตัวของ ttabukan
หลินหย่าอิน กล่าวว่า อาคารแห่งนี้สะท้อนถึงจิตวิญญาณและปรัชญาของกลุ่มชาติพันธุ์ เสาค้ำหลักมีลักษณะของการรวมศูนย์ให้มาอยู่ที่จุด ๆ เดียวเพื่อให้โครงสร้างมีความมั่นคง คล้ายกับคำว่า “panubayun” ที่สื่อถึง “ความสามัคคี”
หลินหย่าอินเสริมว่า “โครงสร้างของ ttakuban เป็นโครงสร้างที่มีน้ำหนักเบา ทนทานต่อแผ่นดินไหว แต่ไม่ต้านแรงลม” ttakuban จึงถูกออกแบบเพื่อเพิ่มความมั่นคงให้กับโครงสร้างด้วยการใส่ก้อนหินลงในโครงฐานหลัก “libattubattu” รูปกรวยซึ่งตั้งอยู่บนพื้นบริเวณใจกลางโครงสร้างเพื่อถ่วงน้ำหนักและลดจุดศูนย์กลางของแรงโน้มถ่วง มีงานวิจัยของนักวิชาการไต้หวันได้แสดงให้เห็นว่า “libattubattu” มีลักษณะการทำงานเช่นเดียวกับลูกตุ้มถ่วงน้ำหนักของตึกไทเป 101 ที่ทำหน้าที่ในการพยุงโครงสร้างและดูดซับแรงไหวเมื่อมีแรงลมหรือแผ่นดินไหว ทำให้นักวิชาการท่านหนึ่งถึงกับอุทานว่า “ชาวพื้นเมืองไต้หวันเป็นนักวิทยาศาสตร์โดยกำเนิด”
การออกแบบโครงสร้างในลักษณะดังกล่าวทำให้ตัวอาคารไม้ไผ่ที่ดูบอบบาง ยังคงตั้งตระหง่านอยู่อย่างมั่นคง แม้จะเคยเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นเนพาร์ตักซึ่งมีความเร็วลมมากกว่า 200 กม./ชม. ในปี ค.ศ. 2006 หลินหย่าอินกล่าวพร้อมกับหัวเราะว่า “นั่นเป็นเพราะว่าบรรพบุรุษของพวกเรามีความเข้าใจในเรื่องวัสดุธรรมชาติมากกว่าเราเสียอีก”
เธอตัดพ้อว่า หลังจากที่มีการใช้คอนกรีตเสริมเหล็กเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ความรู้เกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างจากธรรมชาติค่อย ๆ สูญหายไป ทำให้การถ่ายทอดเทคนิคการก่อสร้างแบบดั้งเดิมของไต้หวันขาดช่วง “เราเป็นชาวไต้หวัน ดังนั้น สิ่งที่พวกเราต้องเรียนรู้คือภูมิปัญญาทางสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และงานหัตถกรรมแบบดั้งเดิมของไต้หวัน”
วิธีการก่อสร้างแบบดั้งเดิมส่วนใหญ่เป็นการถ่ายทอดจากปรมาจารย์สู่ลูกศิษย์ แทบไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบอาคารหรือวิธีการก่อสร้างจึงแตกต่างกันตามความเข้าใจและมุมมองของนายช่างที่มีต่อตัวอาคาร “ฉันใช้เวลา 20 กว่าปีในการเรียนรู้จากช่างฝีมือผู้สูงอายุหลายต่อหลายคน เมื่อช่างฝีมือเหล่านี้จากโลกนี้ไปทีละคน ความรู้ต่าง ๆ ที่พวกเขาสั่งสมมาหลายชั่วอายุคนก็สูญหายไปพร้อม ๆ กันด้วย”
หลินหย่าอินและ Ahung Masikadd ร่วมกันเปิดสอนหลักสูตรการก่อสร้างด้วยไม้ไผ่ที่มูลนิธิการศึกษาลี่เหริน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดวิธีการก่อสร้าง ttakuban ผ่านการเรียนการสอนที่เป็นระบบให้แก่คนที่สนใจจากทุกสาขาอาชีพ นอกจากนี้ พวกเขายังจัดทำเป็นบันทึกร่วมกันด้วย
ในหนังสือ Puyuma Ttakuban : Traditional Bamboo Construction in Taiwan’s Puyuma Village ซึ่งยังไม่ได้ตีพิมพ์ เป็นหนังสือที่เขียนโดยอ้างอิงจากคำบอกเล่าของ Ahung Masikadd เป็นหลัก เขาได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของ ttakuban ความสำคัญทางวัฒนธรรม เอกลักษณ์ของตัวอาคาร ขั้นตอนและวิธีการสร้าง รวมถึงข้อควรระวังอย่างละเอียด โดยใช้การอธิบายร่วมกับการแสดงภาพประกอบ
หลินหย่าอิน กล่าวว่า “ถ้าฉันไม่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ความรู้ทั้งหมดก็จะสูญหายพร้อมกับการจากไปของคนรุ่นนี้”
ความพยายามของ Ahung Masikadd ที่จะฟื้นฟูวัฒนธรรมของชุมชนพูยูม่า นำไปสู่การสร้าง ttakuban และลวดลายสัญลักษณ์ของชนเผ่าทาสีขาวดำบนชายคาของอาคารที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย
ในระหว่างการฝึกสร้าง ttakuban หลินหย่าอินกำหนดให้ผู้เรียนจะต้องเรียกชื่อส่วนประกอบต่าง ๆ เป็นภาษาชนพื้นเมือง (ภาพโดย หยางเสี่ยวหง และ ไช่จั่วหลิน จากมูลนิธิการศึกษาลี่เหริน)
Ahung Masikadd สอนเทคนิคการก่อสร้างด้วยไม้ไผ่โดยใช้รูปภาพง่าย ๆ แม้ว่าเขาจะไม่เคยเรียนการเขียนแบบก่อสร้างมาก่อน
ความใกล้ชิดที่เริ่มห่างไกลระหว่างชนเผ่ากับไม้ไผ่
“สำหรับชนพื้นเมืองเผ่าอตายัล ไม้ไผ่เป็นวัสดุในชีวิตประจำวันที่อยู่ใกล้ตัวมากที่สุดสำหรับนำมาใช้สร้างบ้าน” ซ่านซื่อเซวียน (單世瑄) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ในภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหมิงฉวน (Ming Chuan University, MCU) เล่าให้ฟังถึงอีกวัฒนธรรมหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับไม้ไผ่อย่างใกล้ชิด ซึ่งก็คือชนเผ่าอตายัล
สภาพภูมิศาสตร์และภูมิอากาศของไต้หวันที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของต้นไผ่ ทำให้พบเห็นไผ่ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลายตั้งแต่ที่ราบไปจนถึงภูเขาสูง ด้วยเหตุนี้ ไม้ไผ่จึงกลายเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายสำหรับชนพื้นเมืองของไต้หวัน คำว่า “ruma” ในภาษาอตายัล หมายถึง ไผ่มากินอย ซึ่งในวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม ผู้ชายชาวอตายัลจะต้องสานไม้ไผ่มากินอยเป็น ในขณะที่ผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้เรียนรู้วิธีการจักสาน ปัจจุบันอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัว โครงไม้ที่ใช้ในการทำเกษตร และโครงไม้ไผ่ที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงหอยนางรมที่ใช้ในไต้หวัน รวมถึงดาบไม้ที่ทำจากไม้ไผ่และส่งออกไปยังญี่ปุ่น ล้วนมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมไผ่มากินอยของชาวอตายัล
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความสัมพันธ์ระหว่างไม้ไผ่และวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองไต้หวัน รวมทั้งวัฒนธรรมของชนเผ่าอตายัลก็เริ่มคลุมเครือ “ทุกวันนี้ อาคารที่อยู่ในหมู่บ้านไม่ว่าจะของชนเผ่าไหนก็ดูเหมือนกับอาคารอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบ” เขาถอนหายใจพร้อมกล่าวว่า การขยายตัวของเมืองไปสู่ชุมชนชนบททำให้อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กกลายเป็นภูมิทัศน์ส่วนใหญ่ของไต้หวัน ชนเผ่าต่าง ๆ สูญเสียดีเอ็นเอทางวัฒนธรรมของตนไปเช่นเดียวกับการเสื่อมถอยของอุตสาหกรรมไม้ไผ่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ซ่าน เปิดการเรียนการสอนในรายวิชา “สถาปัตยกรรมบนภูเขาสูง” ที่มหาวิทยาลัยหมิงฉวน และนำนักศึกษาเดินทางไปสำรวจยังหมู่บ้านชนเผ่าอตายัลในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วภาคเหนือของไต้หวัน ซึ่งเป็นการเดินตามรอยเท้าของนายหลินเค่อเซี่ยว (林克孝) อดีตประธานบริษัท Taishin Financial Holdings ที่ได้มีการสำรวจประวัติศาสตร์ของชนเผ่าอตายัล การเดินทางไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อต้องการช่วยนำวัฒนธรรมที่สูญหายไปฟื้นคืนกลับมา
อาจารย์ซ่านและนักศึกษาได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ โดยใช้ไม้ไผ่มากินอยที่ชาวอตายัลรู้จักดีในการสร้างอาคารไม้ไผ่หลายแห่ง อาทิ โครงการ Atayal Hunting Trail Cultural Gallery ในหมู่บ้านหนานอ้าว เมืองอี๋หลาน ในปี ค.ศ. 2011 ศูนย์อนุรักษ์และจัดแสดงนิทรรศการสำหรับไก่ฟ้าสวินโฮว์ (Lophura swinhoii) ในหมู่บ้านปี๋หย่าไว่ เขตฟู่ซิง นครเถาหยวน ในปี ค.ศ. 2013 โครงการแผนการก่อสร้าง Melihang ในหมู่บ้านเซี่ยงปี๋ บริเวณแม่น้ำต้าอัน เมืองเหมียวลี่ ในปี ค.ศ. 2017 มุมอ่านหนังสือในโรงเรียนประถมศึกษา Kuihui นครเถาหยวน ในปี ค.ศ. 2019 และโครงการร่วมสร้างสรรค์การก่อสร้างด้วยไม้ไผ่ในหมู่บ้านขาผู่ของนครเถาหยวนในปี ค.ศ. 2020
หลินหย่าอินและ Ahung Masikadd เปิดหลักสูตรการก่อสร้างด้วยไม้ไผ่แบบพูยูม่าในมูลนิธิการศึกษาลี่เหริน ดึงดูดผู้สนใจเข้าร่วมเรียนจำนวนมาก (ภาพโดย อู๋เจียโหย่ว จากมูลนิธิการศึกษาลี่เหริน)
Ahung Masikadd ค่อย ๆ ฟื้นฟูวัฒนธรรมชนเผ่าพูยูม่าในบ้านเกิดของเขา โดยเริ่มจากหลังคาบ้าน ที่เป็นสัญลักษณ์ของคำว่า “บ้าน”
ฐานไม้ไผ่ที่ใช้สำหรับค้ำยันส่วนล่างของ ttakuban ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่ตัวอาคาร แต่ยังทำหน้าที่ในการป้องกันด้วย (ภาพโดย หยางเสี่ยวหง และไช่จั่วหลิน จากมูลนิธิการศึกษาลี่เหริน)
ส่งคืนบ้านเกิดให้ชนพื้นเมือง
“แนวคิดของเรา คือ การส่งเสริมความเป็นท้องถิ่นและการบริหารจัดการด้วยตนเอง โดยทำงานร่วมกับหมู่บ้านในการออกแบบอาคารและการก่อสร้างชุมชน” อาจารย์ซ่านเน้นย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นโครงการใดก็ตาม เช่น การสร้างลานกิจกรรมขนาดเล็ก ถนนสักเส้น หรือแม้แต่ประตูทางเข้า เขาและนักศึกษาของเขาหวังว่าสถาปัตยกรรมจะช่วยสร้างโอกาสให้หมู่บ้านได้ฟื้นฟูวัฒนธรรมของตนกลับคืนมา
รูปแบบดังกล่าวมีความสำคัญทางการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่เข้าร่วมด้วยเช่นกัน อาจารย์ซ่านเล่าว่า นักศึกษาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและรับฟังเรื่องราวของชนเผ่าจากผู้อาวุโสในหมู่บ้าน และได้เข้าไปในป่าไผ่เพื่อตัดไม้ไผ่ด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการตัดไม้ไผ่ “นับเป็นประสบการณ์ที่ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาณ” กิจกรรมลักษณะนี้ช่วยส่งเสริมให้นักศึกษายุคใหม่ที่มักจะมีโทรศัพท์มือถืออยู่ข้างกายตลอดเวลา ได้เริ่มที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในชุมชนอย่างจริงจัง
อิทธิพลจากวิถีชีวิตความเป็นอยู่ พิธีกรรม ความเชื่อและวัฒนธรรมต่าง ๆ ได้ทำให้ความหมายของ “พื้นที่” มีความสำคัญและกลายเป็น “บ้าน” อาจารย์ซ่านซื่อเซวียนกล่าวต่อว่า “สิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่คือการคืนพื้นที่นั้นให้แก่ผู้คน เพื่อให้พวกเขารู้สึกถึงความสุขสงบทั้งกายและใจ รวมทั้งความผูกพันที่มีต่อวัฒนธรรม ในยามที่ได้กลับมายังชุมชนหมู่บ้าน” โครงสร้างไม้ไผ่เหล่านี้จึงไม่ใช่แค่สิ่งก่อสร้างเท่านั้น แต่หมายถึงบ้านเกิดของพวกเขา และเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองที่สืบทอดกันมาหลายศตวรรษ