ทริปสุดชิลที่เขตท่องเที่ยวธรรมชาติซีรายาที่เขตท่องเที่ยวธรรมชาติซีรายา
พลิกโฉมพื้นที่รกร้างให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว
เนื้อเรื่อง‧เฉินฉวินฟาง ภาพ‧จวงคุนหรู แปล‧ แสงชัย กิตติภูมิวงศ์
มิถุนายน 2023
00:00
บนผนังของบ้านเก่ามีการระบายสีและเขียนคำแนะนำการละเล่นเกม สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชม
隨著國際旅遊復甦,台灣也張開雙臂迎接旅人。這回,《光華》前進西拉雅國家風景區,探訪具永續概念的景點:舊軍事訓練場化身景觀綠建築;鄉村廢墟加上新意,成了有美感的大型遊戲場;荒廢檳榔園變身生態農場。看看他們如何把閒置空間變得好看又好玩。
หลังจากที่การท่องเที่ยวทั่วโลกฟื้นตัว ไต้หวันพร้อมอ้าแขนต้อนรับนักท่องเที่ยว
เช่นกัน “ไต้หวันพาโนรามา” ฉบับนี้ ขอนำชมเขตท่องเที่ยวธรรมชาติซีรายา (Siraya National Scenic Area - SNSA) สถานที่ท่องเที่ยวที่นำแนวคิดของการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาปรับใช้ เช่น สนามฝึกซ้อมทางทหารเก่าที่ได้รับการพัฒนาเป็นอาคารสีเขียว หมู่บ้านรกร้างถูกสร้างสรรค์ใหม่เป็นสนามเด็กเล่นขนาดใหญ่ที่สวยงาม สวนต้นหมากที่เสื่อมโทรมถูกเปลี่ยนโฉมกลายเป็นฟาร์มเชิงนิเวศ มาดูว่าพวกเขาพลิกโฉมสถานที่รกร้างแห่งนี้ ให้กลายเป็นสถานที่ที่มีความสวยงามและน่าเพลิดเพลินได้อย่างไร?
เขตท่องเที่ยวธรรมชาติซีรายา ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของไต้หวัน มีภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลาย เช่น น้ำพุร้อน พื้นที่แบดแลนด์หรือพื้นที่กันดาร และมีอ่างเก็บน้ำอีกหลายแห่งอยู่ในพื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางเป็นเขตท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของไต้หวัน ซีรายา เป็นชื่อชนเผ่าซีรายาซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันยังมีชุมชนชาวซีรายาหลายแห่งตั้งกระจัดกระจายอยู่ในเขตท่องเที่ยวดังกล่าว นับเป็นการเพิ่มสีสันด้านวัฒนธรรมที่ช่วยแต่งเติมให้สถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้มีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น
เมื่อมองออกไปจากตึกศูนย์บริการนักท่องเที่ยวกวนเถียน จะเห็นสระน้ำขนาดใหญ่เป็นมุมกว้าง มองเห็นทุ่งหญ้าและท้องฟ้าสีครามที่อยู่ไกลสุดสายตา ให้ความรู้สึกปลอดโปร่งโล่งสบาย
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวกวนเถียนทาสีกรอบหน้าต่างด้วยสีเหลืองสื่อถึงคลื่นรวงข้าวและแสงระยิบระยับบนผิวน้ำ สีแดงและสีกรมท่าสื่อถึงสีเสื้อผ้าของชาวซีรายา เสริมบรรยากาศให้มีชีวิตชีวาศูนย์บริการนักท่องเที่ยวกวนเถียนทาสีกรอบหน้าต่างด้วยสีเหลืองสื่อถึงคลื่นรวงข้าวและแสงระยิบระยับบนผิวน้ำ สีแดงและสีกรมท่าสื่อถึงสีเสื้อผ้าของชาวซีรายา เสริมบรรยากาศให้มีชีวิตชีวา
รู้จักชาวซีรายาโดยเริ่มต้นจากอาคารสีเขียว
หากคุณต้องการทราบเรื่องราวของชนเผ่าซีรายา ควรเริ่มต้นที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวซีรายา ซึ่งตั้งอยู่ที่กวนเถียน (官田) นครไถหนาน อาคารสีเขียวหลังนี้ รูปทรงภายนอกออกแบบในบริบทของชนพื้นเมืองซีรายา ตกแต่งผนังอาคารด้วยลวดลายดอกไม้ 8 กลีบ ซึ่งพบมากในการปักลายครอสติชของชนเผ่าซีรายา รูปทรงโค้งของอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ถูกออกแบบโดยจำลองมาจากลักษณะของภาชนะที่ใช้ในพิธีเซ่นไหว้ ชาวซีรายาจะนำภาชนะรูปทรงต่าง ๆ เช่น ขวด ไห กระป๋อง เป็นต้น มาบรรจุน้ำหรือเหล้าเพื่อประกอบพิธีเซ่นไหว้บูชา Alid ซึ่งก็คือบรรพบุรุษตามความเชื่อ และเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าซีรายา
ภายในศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับวัฒนธรรมซีรายา แนะนำให้รู้จักกับประวัติศาสตร์ ความเชื่อ อาหารการกิน และขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ เป็นต้น และจัดแสดงวัตถุจำพวกเครื่องแต่งกาย และงานหัตถกรรมของชาวซีรายาด้วย
เขตท่องเที่ยวแห่งนี้ เดิมเป็นพื้นที่ฝึกรบภาคสนามที่ไม่ได้ใช้งาน ถูกทิ้งรกร้างมานานหลายปี พื้นที่ซึ่งเป็นเนินเขาได้ถูกรักษาไว้ตามสภาพเดิม ชั้น 3 มีหอสังเกตการณ์ที่สามารถมองเห็นได้ในมุมกว้างและไกล โดยมองเห็นลานกว้างได้ไกลจนสุดสายตา บนสนามหญ้าในเขตอุทยานมีตัวหนังสือ SIRAYA และมีประติมากรรมกวางซีกาประดับอยู่ เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าในอดีตที่ราบเจียหนาน (嘉南) เป็นพื้นที่ที่เคยมีฝูงกวางรวมตัวและอาศัยอยู่จำนวนมาก บริเวณนี้จึงเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวมักจะอดไม่ได้ที่จะถ่ายรูปเช็คอิน ด้านข้างมีทางเดินที่เชื่อมต่อไปยังพื้นที่กว้างใหญ่ที่มีต้นเลี่ยน เหลืองอินเดีย และต้นสนสแวมพ์ไซปรัส ฯลฯ ที่มีทัศนียภาพต่างกันในแต่ละฤดูกาล เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเดินเล่นและปิกนิก
จางลี่จวิน (張麗君)หัวหน้าแผนกสันทนาการของสำนักงานบริหารเขตท่องเที่ยวธรรมชาติซีรายา เล่าว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพวกเขาได้จัดทริปเดินป่าและขี่จักรยานบนเส้นทาง “Mountains to Sea National Greenway” และได้จัดทำแผนที่การปั่นจักรยานเส้นทาง “Lingbo Guantian” ซึ่งเหมาะกับการปั่นจักรยานสำหรับครอบครัว ระหว่างทางจะสามารถพบเห็นนกอีแจวเริงระบำอยู่ในไร่กระจับ พร้อมทำความเข้าใจกับเรื่องราว Yoichi Hatta ผู้บุกเบิกพัฒนาระบบชลประทานในที่ราบเจียหนาน(嘉南) นับเป็นการดื่มด่ำกับธรรมชาติควบคู่การเรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไปพร้อมกัน
หลินเจี้ยนรุ่ย (ซ้าย) และหลัวหวั่นฉือ (ขวา) ใช้ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมเปลี่ยนซากปรักหักพังในหมู่บ้านต้าฉี ให้กลายเป็นสถานที่เล่นเกมที่สนุกสนาน
ท่องสู่เกาะแห่งเกมในชนบท
หากขับรถประมาณ 10 นาทีจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวกวนเถียนก็จะมาถึงหมู่บ้านศิลปะต้าฉี (大崎村落創藝基地) ฐานมั่นการสร้างสรรค์ศิลปะ ซึ่งอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยศิลปะไถหนาน ที่นี่ดูเหมือนหมู่บ้านธรรมดา แต่เมื่อเดินไปที่ร้านค้า “อี้หนงเฮ่า (藝農號)” ซึ่งเป็นจุดติดต่อสอบถามในหมู่บ้าน นักท่องเที่ยวจะได้รับแผนที่เกม เพื่อเข้าสู่โลกแฟนตาซี “เกาะแห่งเกมในชนบท”
เมื่อเดินตามแผนที่ไปตามเส้นทางที่คดเคี้ยวท่ามกลางบ้านเก่า จะพบว่าตรงหัวมุมมีพื้นที่เล่นเกมที่น่าสนุกสนานสำหรับเด็กซึ่งได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถัน เช่น เกม "ข้ามเกาะ 123 (跳島123)" เป็นการเล่นเกมเศรษฐีโดยการโยนถุงทรายเล็ก ๆ แข่งขันดูว่าใครจะไปถึงที่หมายก่อน “เครื่องยิงพุ่งข้าม(飛越投石器)” แข่งขันยิงลูกบอลให้ไกลที่สุด และ “เกมหุบเขาเจงก้า (山溝疊疊樂) หรือเกมตึกถล่ม เป็นการเล่นตัวต่อหลากสีขนาดใหญ่ เกมเหล่านี้เด็กและผู้ใหญ่สามารถเล่นร่วมกันได้อย่างสนุกสนาน นอกจากนี้ ยังมีการละเล่นอื่น ๆ เช่น ยิงหนังสติ๊ก โยนห่วง และพินบอล เครื่องเล่นเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำมาจากเศษวัสดุเหลือใช้จากการปรับปรุงโรงเรือนเก่า เช่น เครื่องขว้างหรือยิงก้อนหินที่สร้างจากท่อน้ำและท่อนไม้ และเป้าธนูทำจากหม้อนึ่งเก่าที่นำมาทาสีสดใสแขวนประดับบนผนังที่เต็มไปด้วยเถาวัลย์ ความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้เองที่ทำให้ต้าฉีกลายเป็นหมู่บ้านที่ไม่เหมือนใคร
ผู้ริเริ่มโครงการเกมสนุกสำหรับเด็กคือ หลินเจี้ยนรุ่ย (林建叡) และหลัวหวั่นฉือ (羅婉慈) เดิมทีพวกเขาเรียนสาขาสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปะไถหนาน และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนต้าฉีเมื่อยังเป็นนักศึกษา วิทยานิพนธ์ปริญญาโทของหลินเจี้ยนรุ่ย คือการปรับปรุงหอจงซัน(中山堂) ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในหมู่บ้าน เรือนไม้แห่งนี้ถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับรวมตัวในยุคญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน และได้รับการบูรณะมาเป็นห้องสมุดชุมชนโดยหลินเจี้ยนรุ่ย ปัจจุบันเรือนไม้ดังกล่าวถูกใช้เป็นห้องเรียนงานฝีมือด้วย
นักท่องเที่ยวสามารถเก็บรวบรวมวัสดุธรรมชาติในหมู่บ้าน เพื่อนำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องพินบอล ที่ผสมผสานกับทัศนียภาพของชนบท
กระเบื้องมุงหลังคาเก่าถูกนำมาประดิษฐ์เป็นที่รองแก้ว และแผ่นถาดรองกระถางไม้ประดับ เหมือนได้รับการชุบชีวิตใหม่
“อี้หนงเฮ่า” เป็นจุดติดต่อสอบถามในหมู่บ้านต้าฉี จำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและงานฝีมือ ยังมีน้ำแข็งไสผลไม้สดตามฤดูกาลให้รับประทานได้อีกด้วย
สุนทรียภาพใหม่ของซากปรักหักพัง
ในปี ค.ศ. 2020 ได้มีการเปิดร้าน "อี้หนงเฮ่า” ที่ปรับปรุงจากโรงสีข้าวเก่าที่ถูกทิ้งร้างไว้ ที่นี่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและงานฝีมือด้วยแนวคิดร้านค้าคัดสรร “อี้หนงเฮ่า” เป็นจุดเริ่มต้นของการละเล่นเกาะแห่งเกม เมื่อนักท่องเที่ยวไปเก็บสะสมตราประทับยังจุดต่าง ๆ ในหมู่บ้านแล้ว สามารถนำกลับมาแลกรับไอศกรีมหรือน้ำแข็งไสผลไม้สดที่ทำโดยเกษตรกรในท้องถิ่นได้ หลินเจี้ยนรุ่ยบอกว่า หากมองจากหน้าต่างของ “อี้หนงเฮ่า” บางทีจะเห็นชาวบ้านกำลังใช้ถุงคลุมผลมะม่วง หรือเก็บเกี่ยวมะม่วง เป็นการชมวิถีชีวิตเรียบง่ายในชนบท ที่สร้างความประทับใจอย่างยิ่ง
การเดินเที่ยวรอบชุมชนจะได้เห็นซากเรือนเก่าที่มีเรื่องราวน่าสนใจ เช่น คานที่รื้อมาจากบ้านเก่าที่จมอยู่ในอ่างเก็บน้ำ ถูกนำมาก่อสร้างร่วมกับผนังซีเมนต์ที่แทรกด้วยไม้ไผ่สาน เป็นบ้านโบราณที่สะท้อนประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านต้าฉี การปรับปรุงอาคารและบ้านเก่านั้น พวกเขาไม่ได้มุ่งหวังที่จะฟื้นฟูให้บ้านเก่าเหล่านี้กลับสู่สภาพเดิม แต่ต้องการปรับเปลี่ยนให้เป็นสถานที่สำหรับการเล่นเกม เช่น บ้านเก่าที่มีหลังคาทรุดพัง ไม่มีการมุงหลังคาใหม่ แต่ดัดแปลงโดยติดตั้งกระดานลื่น เป็นการชุบชีวิตใหม่ให้กับซากปรักหักพัง พวกเขามักจะออกค้นหาข้าวของต่าง ๆ ที่หลงเหลืออยู่ในบ้านเก่าเหล่านี้เพราะเห็นคุณค่าของเก่า และนำมาใช้ในการประดับตกแต่งร้าน “อี้หนงเฮ่า” เช่น จักรเย็บผ้า วิทยุ แม้แต่แผ่นกระเบื้องหลังคาสีแดง หลัวหวั่นฉือก็ได้นำมาใช้ประโยชน์ในชั้นเรียน DIY โดยนำมาประดิษฐ์เป็นที่รองแก้วและถาดรองกระถางไม้ประดับ นับเป็นการสืบทอดคุณค่าสิ่งของให้ยืนยาวขึ้น
ทั้งหลินเจี้ยนลุ่ยและหลัวหวั่นฉือมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากร ทั้งคู่มีความคิดที่จะจัดงานเทศกาลศิลปะในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ หลินเจี้ยนรุ่ยมองว่าเทศกาลศิลปะนานาชาติเซโตะอุชิที่ญี่ปุ่น เป็นงานแสดงศิลปะที่จัดแสดงตามเกาะต่าง ๆ ในทะเลเซโตะ ขณะที่อ่างเก็บน้ำอูซันโถวที่อยู่ในละแวกใกล้กับหมู่บ้านต้าฉี ก็มีทั้งภูเขา แม่น้ำ และเกาะเล็ก ๆ อยู่ในบริเวณอ่างเก็บน้ำ มีภูมิทัศน์สวยงามและยังได้รับการสนับสนุนทางศิลปะจากมหาวิทยาลัยศิลปะไถหนาน เกาะเล็กในอ่างเก็บน้ำสามารถทำเป็นศูนย์เรียนรู้การทำงานศิลปะ หรือจัดให้มีการล่องเรือเพื่อชมวิวรอบ ๆ กล่าวได้ว่า กิจกรรมต่าง ๆ ที่นึกขึ้นได้สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้ทั้งสิ้น ต้าฉีมีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นสถานที่สำหรับจัดงานเทศกาลศิลปะ เสน่ห์ของต้าฉีไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบชลประทาน วัฒนธรรมชนบท และความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะนับว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่าในการมาเยี่ยมเยือน
กบ Taiwan treefrog
ใน Dream River Explore Farm มี “ต้นไม้ที่กรนได้” แนบหูฟังจะได้ยินเสียงโครกครากของน้ำไหลผ่านท่อลำเลียงของต้นไม้ เป็นเสียงแห่งความสุขของชีวิต
ตัวอักษร SIRAYA และประติมากรรมกวางซีกา ตั้งอยู่บนทุ่งหญ้าในศูนย์บริการนักท่องเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวซีรายาที่เขตกวนเถียน เป็นจุดเช็คอินที่พลาดไม่ได้ในการถ่ายรูป
พลิกโฉมสวนหมากเป็นฟาร์มเชิงนิเวศ
Dream River Explore Farm (築夢森居)ตั้งอยู่ในตำบลจงผู่ (中埔) เมืองเจียอี้ เป็นสวนหมากที่เสื่อมโทรม เนื่องจากการใช้สารกำจัดวัชพืชในอดีต จนเหลือต้นหมากบางส่วนและพืชที่แห้งตาย หลังจาก หลิวเฉาเหวย (劉朝維) และ ทังอี๋ฟง (湯怡楓) สองสามีภรรยาช่วยกันฟื้นฟูดูแลกว่า 10 ปี ปัจจุบันฟาร์มแห่งนี้มีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์และมีฝูงผีเสื้อโบยบินท่ามกลางธรรมชาติ
“ดูสิ หนอนผีเสื้อถุงทองตัวนี้กำลังจะกลายเป็นดักแด้ ดูราวกับว่ามันกำลังมัดตัวเองด้วยเชือก” พวกเราเดินตามคุณหลิวซึ่งเป็นผู้นำชมธรรมชาติในฟาร์ม เขาจับผีเสื้อหนอนใบรักธรรมดาตัวหนึ่งแนะนำให้ดูเขี้ยวงอโค้งที่ใช้งับเกี่ยวเพื่อดูดน้ำหวานดอกไม้ ผ่านไปครู่หนึ่งเขาจับหนอนผีเสื้อหางตุ้มจุดชมพู ให้พวกเราลองดมกลิ่นเหม็นของหนามที่อยู่บนตัวซึ่งมีประโยชน์ในการข่มขู่ศัตรู มองด้วยตารู้สึกว่าหนามบนตัวหนอนแหลมคม แต่ที่จริงเป็นเนื้อที่อ่อนนิ่ม หลิวเฉาเหวยบอกว่า แรงจูงใจในการสร้างสถานที่ให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมแห่งนี้คือ "ต้องการโน้มน้าวผู้คนให้สนใจนิเวศวิทยา เมื่อพวกเขาเข้าใจสิ่งแวดล้อม ก็จะมีความคิดในการปกป้องผืนแผ่นดินที่งดงามนี้”
ด้วยแนวคิดของการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อม ทั้งคู่ปลูกพืชผัก พืชที่เป็นแหล่งน้ำหวาน มะกรูด พันงูเขียว Kusukusu eupatorium เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีต้นยูคาลิปตัสสีรุ้งในสวน ซึ่งหลิวเฉาเหว่ยพูดเชิงหยอกว่า "ต้นไม้ที่กรนได้" ต้นไม้ชนิดนี้เติบโตเร็ว เปลือกไม้จะหลุดร่อนไปเรื่อย ๆ และจะมีสีสันเพิ่มมากขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี คุณหลิวมักจะเชิญชวนให้ผู้คนเข้าไปใกล้กับลำต้นของต้นไม้และสงบนิ่งตั้งใจฟัง จะได้ยินเสียงน้ำถูกส่งผ่านท่อลำเลียงของต้นมีเสียงโครกครากคล้ายเสียงกรน
หลิวเฉาเหวยกระตุ้นให้ผู้คนใกล้ชิดภูเขาและสายน้ำ สร้างฟาร์มเชิงนิเวศแห่งนี้ขึ้นเพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านป่าไม้ เขาพาผู้คนลุยลำธาร ปีนต้นไม้ ในช่วงฤดูร้อน จัดให้มีกิจกรรมล่องแก่งที่ลำธารหยุนสุ่ย (4l) สำหรับผู้ที่ว่ายน้ำไม่เป็นก็สามารถสนุกสนานกับการเล่นน้ำในแม่น้ำได้ หลิวเฉาเหวยสร้างเตาอบพิซซ่าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้นักท่องเที่ยวทำพิซซ่าด้วยวัตถุดิบในท้องถิ่น โดยสามารถเก็บผัก และนวดแป้งด้วยตัวเอง แม้แต่เด็ก ๆ ที่มีนิสัยเลือกกิน ก็ยังกินผักที่ตนเองไม่ชอบจนหมดเกลี้ยง คุณหลิวบอกว่าที่มาของชื่อ Dream River Explore Farm “เป็นการสานฝันวัยเด็กที่อยากใช้ชีวิตในป่า” เขาและภรรยาจัดกิจกรรมอย่างพิถีพิถัน พัฒนาสวนหมากที่รกร้างให้กลายเป็นแดนสวรรค์ในธรรมชาติ สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ให้สามารถเที่ยวชมได้อย่างมีความสุข